ทำ `ดี `แล้วส่งต่อด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ทฤษฎีที่แสนจะเบสิกและเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกผ่านหนัง Pay It Forward (2000) เรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่งที่ได้รับโจทย์โลกสวยในคลาสเรียนวิชาสังคม คือ ให้ไปคิดวิธีที่จะเปลี่ยนแปลงโลกนี้ดีขึ้น
Pay It Forward จึงเกิดขึ้นด้วยวิธีคิดง่ายๆ คือ เมื่อเราได้รับความช่วยเหลือจากคนอื่นแล้ว ก็แค่ "ส่งต่อ" ความช่วยเหลือไปยังคนอื่นที่ต้องการ และเมื่อต่างก็ส่งต่อกันไปเรื่อยๆ ก็เท่ากับเรื่องดีๆ ที่เกิดกับผู้คนมากขึ้นเป็นทวีคูณ
จากไอเดียที่ถูกเปรียบไว้ในหนังว่า เป็นความคิดแบบโลกสวย หรือ "ยูโทเปีย" เมื่อผ่านมาเกือบ 20 ปี ถ้าหันมองไปรอบๆ เราก็มักได้เห็นโครงการ กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมายจากไอเดียทำนองนี้ โดยเฉพาะเมื่อโลกเชื่อมผู้คนเข้าใกล้กันมากกว่าเก่า ทำให้เราสามารถร่วมมือกันข้ามซีกโลกเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกันได้ผ่านเทคโนโลยี เราติดแฮชแท็กถ้อยความสำคัญเพื่อ เรียกร้องบางสิ่งได้อย่างพร้อมเพรียง เราโอนเงินแค่ปลายนิ้วเพื่อระดมทุนสร้าง สิ่งหนึ่งที่เป็นประโยชน์แก่สังคมได้ หรือแค่คลิกเดียวที่กด "ตอบรับ" ก็เท่ากับการให้คำสัญญาว่า จะไปร่วมลงแรงสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยกำลังความสามารถที่มี
แนวคิดส่งต่อความดีจึงทวีพลัง มากขึ้นได้ก็เพราะเทคโนโลยีนี่เอง อย่างที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยมูลนิธิฟอร์เวิร์ด ร่วมกับ สสส. คือ แอพพลิเคชั่น FORWARD ที่เปิดตัวพร้อม 5 โครงการนำร่องจากคนดังที่ลุกขึ้นชวนทุกคนมาร่วมส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับสังคม โดยพวกเขามาพร้อมเมสเสจที่ว่า ความดีไม่ใช่แค่คิดแต่คือการ "ลงมือทำ"
5 โครงการนำร่องที่เปิดตัวพร้อมแอพฯ นี้ เริ่มต้นจาก โครงการ Let's be heroes โดย "หมอเจี๊ยบ" ลลนา ก้องธรนินทร์ และคุณหมออีกหลายคน ที่มาจับมือกันออกลงพื้นที่ไปเปิดฟรี คลินิกตามถิ่นทุรกันดาร
ถ้าติดตามข่าวสารบันเทิง ชื่อของหมอเจี๊ยบ เริ่มต้นเป็นที่รู้จักก็เพราะเธอมีตำแหน่งเป็นนางสาวไทย แต่เหตุผลที่สังคมได้มารู้กันตอนหลังก็คือ จุดเริ่มต้นของการลงประกวดนางสาวไทยก็เพราะเธอหวังจะให้ "ชื่อเสียง" เป็นบันไดพาเธอไปสู่การทำกิจกรรมเพื่อสังคมได้ง่ายและอิมแพ็คมากขึ้น โดยเฉพาะกับความฝันที่คิดไว้ตั้งแต่เรียนว่า อยากเปิดฟรีคลินิก เพื่อรักษาผู้ป่วยในถิ่นทุรกันดาร
Let's be heroes จึงเกิดขึ้นก็เพราะเธอเชื่อว่า ทุกคนก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ถ้าร่วมมือกัน ลงมือ ลงแรง หรือลงเงิน ตามแต่ความสะดวกใจ และสบายกระเป๋าสตางค์
ในงานเปิดตัว แม้หมอเจี๊ยบติดภารกิจด่วน แต่ก็ส่ง 4 คุณหมอสาวขาลุย ที่เคยร่วมงานลงพื้นที่กันมาแล้ว และตอบตกลงโดยไม่ต้องคิดเมื่อรู้ว่า Let's be heroes เตรียมตัวที่จะทำในเฟสถัดไปคือ การลงพื้นที่ไปรักษาโรคเฉพาะทางให้กับผู้ขาดแคลน เพราะทราบกันดีอยู่แล้วถึงปัญหาใหญ่ในวงการสาธารณสุขก็คือ หมอขาดแคลน โดยบางโรงพยาบาลมีหมอคนเดียวแต่ต้องดูแลคนทั้งอำเภอ ฉะนั้นหมอที่รักษาโรคเฉพาะทางยิ่งไม่ต้องถามหา เพราะจะมีประจำอยู่แค่ในโรงพยาบาลใหญ่เท่านั้น
ขณะที่ฝั่งผู้ป่วยที่ยากจนและขาดแคลนก็ไม่สามารถเดินทางไกลเพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องได้ มันจึงเป็นภาระจำยอมทั้งฝั่งคุณหมอและคนไข้ ที่ต้องรักษากันอย่างดีที่สุดที่จะทำได้
กลุ่มคุณหมอปักหมุดที่แรก คือ โรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เขตรอยต่อชายแดน ทำให้มีกลุ่มชาติพันธุ์เดินเท้ามารักษาที่นี่เป็นจำนวนมาก หลายคนเดินกันเป็นวัน และมีจำนวนหนึ่งที่มาไม่ถึงโรงพยาบาลก็ต้องเสียชีวิตเสียก่อน ขณะที่จำนวนแพทย์และพยาบาลมีไม่เพียงพอ ทั้งยังขาดงบประมาณ และยารักษาโรครวมถึงขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง ความคิดที่จะแท็กทีมชวนแพทย์เฉพาะทาง อย่างเช่นโรคผิวหนัง โรคหัวใจ ไปตรวจรักษาให้กับชาวบ้านจึงเกิดขึ้น แถมยังมีสัตวแพทย์สาวหนึ่งคนร่วมขบวนไปด้วยเพราะความจริงที่เกิดขึ้นคือ นอกจากหมอจะมีน้อยในพื้นที่ห่างไกลสัตวแพทย์ก็เช่นกัน มันจึงไม่ใช่เรื่องตลกที่บางที ชาวบ้านก็อุ้มหมาอุ้มแมวมาหาหมอ ที่โรงพยาบาลคน
นอกจากนี้ทีมคุณหมอยังมีแผนที่จะเดินสายไปสอนการทำ CPR ด้วยสองมือ เพื่อรักษาชีวิตผู้ที่หัวใจหยุดเต้น และการสอนการใช้เครื่อง AED เครื่องกระตุ้นการทำงานของหัวใจโดยใช้ไฟฟ้า โดยนำทีมแพทย์ลงสอนในพื้นที่ต่างๆ ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง
แม้กิจกรรมดังกล่าวจะมีแรงกายและแรงใจของเหล่าคุณหมอและทีมงานที่พร้อมออกไปสร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคม แต่ก็ยังขาดเงินทุนทั้งสำหรับการเดินทาง และจัดหาอุปกรณ์โดยเฉพาะเพื่อสอนทำ CPR และใช้เครื่อง AED ที่มีราคาสูงทีมคุณหมอจึงขอระดมทุนโดยตั้งเป้ายอดเงินที่ 2 แสนบาท
และจำคุณครูคนนี้กันได้ไหม… ครูข้างถนนที่เก็บขยะขายเพื่อนำเงินเอามาสอนหนังสือให้กับเด็กในสลัม เขาคือ "ครูเชาว์" เชาวลิต สาดสมัย ที่มาพร้อมความคิดการตั้ง "โครงการศูนย์สร้างโอกาสเด็ก"
แม้ "ร่างกาย" ไม่สมบูรณ์อย่าง คนอื่นๆ รวมถึง "สมอง" ที่ทางการแพทย์ระบุว่า บกพร่องทางสติปัญญา แต่ทั้งหมดก็ไม่สามารถหยุดยั้งชายคนนี้ได้ เขาต้องต่อสู้หลายต่อหลายครั้งกว่าจะได้รับโอกาสในระดับอุดมศึกษา ถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ก็ไม่ท้อ กระทั่งในที่สุดก็ได้รับโอกาสเข้าเรียนและจบเป็นบัณฑิตได้ในที่สุด
"ผมเกิดมาเพื่อรับใช้ในสิ่งที่สังคมทำไม่ได้ แต่ผมทำได้" ประโยคสั้นๆ แต่สั่นสะเทือนในหัวใจใครหลายคนที่ครูพูดถึงสิ่งที่เขากำลังทำอยู่ในวันนี้ ที่ไม่ได้ไขว่คว้าโอกาสหาความสำเร็จเพื่อหาตัวเองหลุดออกจากวังวนเท่านั้น เขายังพยายามยื่นมือไปฉุดเด็กคนอื่นๆ ที่เคยถูกทิ้งหรือถูกหลงลืมไปอย่างเขาให้ลุกขึ้นยืนได้ด้วย วันนี้นอกจากครูเชาว์จะเป็นครู
อาสาประจำศูนย์สร้างโอกาสเด็กสะพานพระราม 8 ของกรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่เด็กที่ขาดโอกาสแล้ว สิ่งที่ครูเชาว์พยายามทำก็คือ ให้เด็กๆ รวมถึงชุมชนลุกขึ้นยืนได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่แบมือขออยู่ร่ำไป เขาจึงก่อตั้ง "ร้านศูนย์บาท" ที่จำหน่ายข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ถุงเท้า รองเท้า เครื่องเขียน สบู่ ยาสีฟัน ฯลฯ โดยไม่ต้องเสียเงินสักบาท เพียงแค่นำขยะมาแลกก็ได้ของจำเป็นเหล่านั้นกลับไปใช้แล้ว
สำหรับโครงการที่เอาเข้ามาขอระดมกำลังในแอพฯ นี้ ก็คือการจัด "กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาความคิด" แก่เด็กๆ และครอบตัวในชุมชนใกล้เคียงสะพานพระราม 8 โดยการทำกิจกรรมสันทนาการเพื่อ สร้างความสุข รอยยิ้ม และการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ในชุมชน ที่ขาดโอกาส ในวันที่ 2 มิถุนายน 2561 ณ ศูนย์สร้างโอกาสเด็กพระราม 8
นอกจากเป้าหมายยอดเงินที่ 8 หมื่นบาทเพื่อจัดกิจกรรมดังกล่าวรวมถึงสมทบทุนโครงการของครูเชาว์แล้ว เขายังเชิญชวนผู้เชี่ยวชาญรวมถึงผู้มีจิตอาสามาร่วมกิจกรรมเพื่อต่อยอดความรู้ให้เด็กได้มีพัฒนาการแห่งการเรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้นด้วย
จากโครงการเพื่อเด็ก ก็มาถึงโครงการเพื่อ สว. ทั้งหลายกับ โครงการ for Oldy โดย อรนุช เลิศกุลดิลก ที่จะทำให้ผู้สูงอายุได้กลับมาภูมิใจในคุณค่าของตัวเองอีกครั้ง และยังเป็นโครงการพัฒนาผู้สูงอายุในด้านต่างๆ ให้มีการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพ ทั้งร้านคุณตาคุณยาย ที่มีอุปกรณ์ที่ผู้สูงอายุจำเป็นต้องใช้ จำหน่าย และให้เช่าในราคาย่อมเยา กองทุนอุ่นใจ ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้สูงอายุเริ่มสะสมเงินในวันที่ต้องจากโลกนี้ ไปเพียงเดือนละยี่สิบบาท และ อาสาสมัคร เพื่อผู้สูงอายุที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆที่ทางโครงการจัดทำขึ้น ทั้งหมดนี้เพื่อให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน โดยเธอตั้งเป้าเงินทุนไว้ที่ 3 แสนบาทสำหรับการจัดซื้อเตียงนอน การจัดกิจกรมอบรมภายในชุมชน ค่าเดินทางในการลงเยี่ยมผู้สูงอายุในพื้นที่
ขณะที่กิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจด้วยเสียงเพลงอย่าง The Prison Project โดย "บอม" สุทธิศักดิ์ สินเจริญ ที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ต้องขังเพื่อให้มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนแปลงชีวิต ไปในทางที่ดีขึ้น โดยทุกวันนี้เขาและพี่น้อง (เบิ้ล และบอย) รวมถึงเพื่อนศิลปิน ได้เข้าไปจัดกิจกรรมดนตรีในเรือนจำต่างๆ เป็นประจำทุกเดือนเพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจในการเป็นคนดีของสังคมในวันที่พ้นโทษออกมา
สุดท้าย คือ โครงการ Wonder view โดยกลุ่มจิตอาสาคนรุ่นใหม่ ร่วมถึงนักร้องหนุ่ม "นนท์" ธนนท์ จำเริญ จากจุดเริ่มต้นที่พบว่าเด็กไทยมีความผิดปกติในด้านการพัฒนาการที่มากขึ้นทุกวัน ส่งผลให้การเรียนของเด็กๆ ที่ทางหน่วยงานสำรวจพบว่า มีเกณฑ์ต่ำกว่ามาตรฐานเป็นอย่างมาก
และเมื่อดูอย่างละเอียดจึงพบว่า ในเด็กกลุ่มนั้นมีความผิดปกติในด้านการมองเห็น จึงทำให้การสังเกตสิ่งรอบตัว การเรียนรู้ที่ต้องใช้สายตาในการช่วยจดจำ เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ โครงการ Wonder view จึงจัดหาแว่นตาและสมทบเงินจากผู้ที่ต้องการช่วยเหลือเพื่อส่งต่อไปยังน้องๆในอำเภอพบพระ
ในครั้งแรกได้แว่นตาจำนวน 62 อัน และเงินสมทบจำนวน 97,140 บาท และต่อมายังได้รับความอนุเคราะห์จากโรงพยาบาลพบพระที่มอบแว่นให้น้องจำนวน 120 อัน ซึ่งในครั้งต่อไปที่จะเกิดขึ้นนี้ทางโครงการต้องการจัดหาแว่น รวมถึงบุคคลากรเพื่อลงพื้นที่ตรวจสายตา เพื่อรักษาและมอบแว่นตาให้ครอบคลุมในหลายๆ พื้นที่ที่เด็กๆ มีปัญหาเดียวกัน
"มากกว่าแว่นอันนึง มันคืออนาคตของเด็กคนหนึ่งที่จะใช้ชีวิตต่อไปได้ เราอาจจะยื่นแว่นหนึ่งอันให้กับคนที่จะเป็นหมอในอนาคตก็ได้ อย่างตัวผมเองก็ใส่แว่น แล้วแว่นสายตาอันแรกที่ผมใส่ ก็ได้ฟรีจากโรงเรียนนี่แหละ" นนท์กล่าว
มากกว่าแว่นอันนึง มันคืออนาคตของเด็กคนหนึ่ง ที่จะใช้ชีวิตต่อไปได้