ทำไม…? เราถึงอ้วน

เรื่องโดย : พัชรี บอนคำ team content www.thaihealth.or.th


ที่มา : คู่มือส่งเสริมการพัฒนาทักษะชีวิต สำหรับเด็กและเยาวชน เรื่อง Food & Fit สร้างชีวิตให้ Strong


ทำไม...? เราถึงอ้วน thaihealth


แฟ้มภาพ


                การที่คนเราอ้วนขึ้นนั้นมีสาเหตุมากมาย ตั้งแต่ความผิดปกติบางอย่างทางพันธุกรรม การออกกำลังกายไปจนถึงการกินอยู่ ซึ่งสิ่งที่เราสามารถควบคุมสาเหตุของความอ้วนได้ดีที่สุด นั่นคือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงต่อความอ้วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่มีพลังงานสูง และการไม่ออกกำลังกาย


                วันนี้เว็บไซต์ สสส. จึงนำข้อมูลมาแบ่งปันว่าจะทำอย่างไร เราถึงจะห่างไกล “ความอ้วน” มาฝากกันค่ะ


สมดุลพลังงาน


ความอ้วน เกิดจากความไม่สมดุลของพลังงานในร่างกายที่เกิดจากการกิน หากเรากินอาหาร ซึ่งคือทางเข้าของพลังงานสู่ร่างกายเราเท่าๆ กับการใช้พลังงานออกไปจากร่างกาย เช่น การออกกำลังกาย น้ำหนักและรูปร่าง เราจะคงที่ไม่อ้วนขึ้นไม่ผอมลง


แต่หากเรากินมาก ร่างกายก็จะได้รับพลังงานมามาก บวกกับออกกำลังกายน้อยหรือขยับน้อย จะทำให้มีพลังงานเหลือสะสมอยู่มาก ซึ่งพลังงานเหล่านั้นก็จะเปลี่ยนไปเป็นน้ำหนักที่มากขึ้นของเรานั่นเอง


ในทางกลับกัน หากกินให้น้อยรับพลังงานมาน้อยๆ และขยับให้มากขึ้น สมดุลของพลังงานจะเป็นลบ น้ำหนักของเราก็จะลดลงไปได้


ความสำคัญของสมดุลนี้คือพลังงาน ไม่ใช่เรื่องของปริมาณเท่านั้น เพราะอาหารบางอย่างถึงแม้จะมีปริมาณน้อย แต่ก็แอบมีพลังงานที่สูงได้ ซึ่งตรงนี้นี่เองที่จะทำให้คนที่บริโภคเข้าไปอ้วนง่ายขึ้น


ทำไม...? เราถึงอ้วน thaihealth


ขนาดของปัญหาภาวะอ้วนและอ้วนลงพุง


– ปัญหาเรื่องความอ้วน ทั้งอ้วน และอ้วนลงพุง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ไม่เพียงแต่ในไทยเท่านั้น ปัจจุบันเป็นปัญหาระดับประเทศและระดับโลกที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน


– จากข้อมูลการสำรวจประชากรในประเทศไทยปี พ.ศ. 2552  พบว่า ภาคกลางมีสัดส่วนของคนที่อ้วนมากที่สุด โดยเฉพาะใน กทม. (44.6%)


– จากข้อมูลการสำรวจในภาคส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ประชากรไทยมีภาวะอ้วนเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศมาเลเซียเท่านั้น


พลังงานเท่าไร…? ไม่อ้วนลงพุง


อาหารมีความจำเป็นต่อร่างกายและมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของมนุษย์ หากขาดสารอาหารจะส่งผลให้ร่างกายไม่มีเรี่ยวแรง ไม่มีพลังงานหรือสารอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ และอาจจะทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด แต่ในทางตรงกันข้ามหากเรารับประทานอาการมากเกินไปก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน ดังนั้นเราจึงควรเลือกทานอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย


ปริมาณของอาหารที่คนไทยควรรับประทานใน 1 วัน


– เด็กอายุ 6-13 ปี / ผู้หญิงวัยทำงานอายุ 25-60 ปี / ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรได้รับพลังงาน 1,600 กิโลแคลอรี่ ต่อวัน


– วัยรุ่นอายุ 14-25 ปี / ผู้ชายวัยทำงานอายุ 25-60 ปี ควรได้รับพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี่ ต่อวัน


– เกษตรกร / นักกีฬา / ผู้ใช้แรงงาน ควรได้รับพลังงาน 2,400 กิโลแคลอรี่ ต่อวัน


แม้ว่าโรคอ้วนจะเป็นโรคที่อันตรายและเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย แต่เราสามารถป้องกัน และลดความเสี่ยงของการเกิดได้ เพียงแค่รับประทานอาหารที่ถูกต้อง มีคุณประโยชน์ ให้ตรงกับความต้องการของร่างกายใน 1 วัน กินให้ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ง่ายๆ เพียงแค่นี้คุณก็จะมีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่ถูกความอ้วนคุกคามอีกต่อไป


               


               


 

Shares:
QR Code :
QR Code