ทำไมต้องมี พรบ.คุมน้ำเมา

เพราะเหล้าเป็นพิษภัยต่อ คน ครอบครัว และสังคมไทยมากมาย

ทำไมต้องมี พรบ.คุมน้ำเมา 

 

          น้ำเมา ทำร้ายสังคมไทยขนาดไหน??

 

          คงไม่เป็นที่สงสัยว่าเหล้า และน้ำเมาทุกชนิด เป็นพิษภัยต่อ คน ครอบครัว และสังคมไทยมากมาย แต่ทำร้ายขนาดไหนก็ขอบอกเล่าให้ชัดขึ้นสักหน่อย เผื่อผู้ที่ไม่ได้ติดตามสถานการณ์อาจคาดไม่ถึงว่า น้ำเมาทำร้ายคน และสังคมไทยได้มากถึงขนาดนี้

 

          ทางเศรษฐกิจ ค่าน้ำเมาซึ่งคนจ่ายเงินส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคที่ยากจน มีมูลค่าปีละเกือบ 2 แสนล้านบาท เลิกเมาปีเดียวพอที่จะสร้างสนามบินที่ดีกว่าสุวรรณภูมิได้สบาย จึงไม่น่าสงสัยว่าทำไมพ่อค้าน้ำเมา จึงรวยติดอันดับโลกพร้อมๆ กับทำให้ผู้บริโภคที่ดื่มน้ำเมา “จน เครียด กินเหล้า ยิ่งจน ยิ่งเครียด…” อยู่ในวัฏจักรอุบาทนี้มากขึ้นๆ

 

          ทางสังคม ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า ถ้ามีสมาชิกเป็นนักดื่ม (งานวิจัยของมูลนิธิเพื่อนหญิง และรพ.รามาธิบดี) เยาวชนกลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่จำนวนเพิ่มขึ้นๆ อย่างน่าเป็นห่วง ขณะที่อายุเริ่มดื่มต่ำลงๆ และเกือบครึ่งหนึ่งของเยาวชนที่ไปอยู่ในคุกเด็ก (สถานพินิจและคุ้มครองเด็กมีงานวิจัย) เพราะดื่มน้ำเมาก่อนทำผิด และทำรุนแรงกว่าเด็กที่ไม่ดื่มเยาวชน ท้อง แท้ง ติดเอดส์ มากขึ้นๆ ก็มีน้ำเมาเป็นเหตุสำคัญ

 

          ทางวัฒนธรรม ที่พวกค้าน้ำเมาชอบอ้างว่าการดื่มเป็นวัฒนธรรมไทย ที่จริงคนไทยในอดีตไม่ดื่มมาก (มีบันทึกของชาวต่างชาติที่อยู่เมืองไทยในอดีต) แต่มาเริ่มดื่มมาก เพราะน้ำเมาเป็นการค้า โดยเฉพาะช่วงหลังเป็นการค้าเสรี และมีการโฆษณา ทำให้ “ลานวัฒนธรรม” กลายเป็น “ลานเหล้า ลานเบียร์” ทำลายทั้งวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว (ดีๆ) ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น จนแทบไม่เหลือแล้ว ไม่เว้นแม้แต่ในวัดวาอาราม ซึ่งควรเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แต่กลายเป็นที่ดื่มทุกเทศกาล งานบุญหลายเป็นงานบาป

 

          ไม่ต้องพูดถึง น้ำเมาเป็นสาเหตุของกว่า 60 โรค (องค์การอนามัยโลก รายงาน) ตาย พิการนับพัน นับหมื่นคนต่อปี จากอุบัติเหตุที่นับศพกันทุกเทศกาลจนชาชิน อันมีเหตุจากน้ำเมาเป็นหลัก ฯลฯ

 

          สังคมไทยทำไมเพิ่งตื่น??

 

          ที่น่าแปลกมากคือ สังคมไทย ปล่อยให้ปัญหาน้ำเมาโตขึ้นๆ อย่างไม่มีการหยุดยั้ง เพิ่งมาเริ่มทำกันอย่างพอเป็นเรื่องเป็นราว ก็เมื่อเริ่มรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2546 และทำต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้

 

          สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะเป็นผู้เปลี่ยนประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของสังคมไทยที่จะประกาศให้โลกรู้ว่า ต่อไปสังคมไทยจะไม่ปล่อยให้น้ำเมาทำร้ายคนไทย เยาวชน และสังคมไทยอย่างเสรีต่อไปได้อีก เพราะน้ำเมา ไม่ใช่สินค้าธรรมดาแต่เป็นสารเสพติด และมีโทษมหันต์ เมื่อเทียบกับบุหรี่มีโทษมากกว่าหลายด้านกว่า ทั้งเฉียบพลัน และรุนแรงกว่าบุหรี่ ซึ่งมีกฎหมายควบคุม มีข้อห้ามหลายอย่างเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และผู้ไม่บริโภค เช่นห้ามโฆษณามานานแล้ว แต่น้ำเมาไม่มีอะไรควบคุมกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน (พรบ.สุรา) ไม่มีเจตนาคุ้มครองคนไทย และสังคมไทย แต่เพื่อหารายได้(เก็บภาษี) จากน้ำเมาเข้ารัฐ

 

          ภาคประชาชน ภาคราชการตื่นแล้ว ภาคนิติบัญญัติ??

 

          การขับเคลื่อนนโยบายน้ำเมาทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยการประสาน 3 พลังทั้ง

 

          ภาควิชาการ มีศูนย์วิจัยปัญหาสุรา และเครือข่ายนักวิจัยทั่วประเทศ ได้รวบรวมงานวิจัยที่มีคุณภาพทั้งใน และต่างประเทศอย่างรอบด้าน ยืนยันว่า พรบ.คุมน้ำเมาเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างยิ่งในการควบคุมน้ำเมา ตัวชี้วัดที่ชัดเจน(จากประสบการณ์ของการรณรงค์เรื่องบุหรี่) คือ มาตรการอะไรธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่อต้านมาก แสดงว่ามาตรการนั้นได้ผลดี(จะทำให้เขาขายได้น้อยลงจึงไม่ยอม)

 

          ภาคราชการ คณะกรรมการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (คบอช.) กระทรวงสาธารณสุข ทำงานต่อเนื่อง ในการร่าง พรบ.คุมน้ำเมา และฟังความเห็นจากประชาชนทุกภาคมาแล้วต่างเห็นความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้

 

          ภาคประชาชน นั้นแสดงพลังที่ชัดเจน โดยได้ร่วมกันจัด “โครงการวิ่งต้านเหล้า ทำความดี ปีมหามงคล” วิ่งจาก 4 ภาค รวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนพรบ.นี้ได้ประมาณ 13ล้านแล้ว และจะเพิ่มมากขึ้นอีกเรื่อยๆ นับเป็นการลงนามสนับสนุนที่มากที่สุดที่เคยมีในสังคมไทย และสังคมโลก

 

          ขณะนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในสายตาขององค์การระดับสากล ที่เฝ้ามองอย่างชื่นชมในการเป็นผู้นำโลกด้านการควบคุมน้ำเมา จะเห็นได้ว่ามีหนังสือถึงประธานสนช.ชื่นชมการร่างพรบ.ฉบับนี้จาก Mr.Derek Rutherford Chairman of Global Alcohol Policy Alliance ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่ผลักดันนโยบายควบคุมน้ำเมาระดับโลกที่มีพลังที่สุด และ ธนาคารโลก ก็ยืนยันว่ายิ่งควบคุม บุหรี่ เหล้า ได้ดีมากเท่าใดยิ่งส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศมากเท่านั้น

 

          พรบ.ฉบับนี้ยังควบคุมน้ำเมาได้ไม่สมบูรณ์ สนช.ช่วยได้

 

          หลายมาตรการถูกตัดไปในกระบวนการร่างกฎหมาย เช่น การห้ามขายใกล้สถานการศึกษา (เครือข่ายมหาวิทยาลัยกำลังเสนอขอเพิ่มเติม) เป็นต้น

 

          และบางมาตรการภาคประชาชนมีความต้องการให้เพิ่มเติม เช่น การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในคณะกรรมการทุกระดับ และการเฝ้าระวังให้กฎหมายบังคับใช้ได้จริง

 

          เป็นภารกิจสำคัญ หากสนช.เห็นว่าคนไทยมุ่งมั่นจะรักษาสังคมไทยให้ปลอดภัยจากน้ำเมาโดยเฉพาะช่วยปกป้องเยาวชนไทย ที่จะเป็นอนาคตของชาติเติบโตขึ้นอย่างมีสติปัญญาที่สมบูรณ์ เพื่อสร้างสังคมคุณธรรม มีวัฒนธรรมที่ดีงาน สอดคล้องกับแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง มีภูมิปัญญา (รู้เท่าทันธุรกิจน้ำเมา) และภูมิคุ้มกัน เพียงพอที่จะรักษาสังคมไทยให้อยู่เย็นเป็นสุขอย่างยั่งยืนต่อไป

 

          ขออนุญาตขอบพระคุณสนช.แทนผู้ลงนามสนับสนุน พรบ.คุมน้ำเมา 13ล้านคน และคนไทยทั้งปวงที่กรุณาช่วยให้สังคมไทยลดปัญหาจากน้ำเมาอย่างมีประสิทธิภาพด้วยกฎหมายฉบับนี้ และเครือข่ายภาคประชาชนจะเฝ้าดูการทำงานของสนช.อย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่มีการแทรกแซงจากผู้เสียผลประโยชน์

 

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

Update:22-07-51

Shares:
QR Code :
QR Code