ทำอย่างไร? ให้ก้าวสู่ “ตำบลฟันดี”

เรื่องฟันเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ต้องใช้สำหรับขบเคี้ยวอาหารทุกวัน แต่ปรากฏว่าการดูแลรักษาฟันโดยเฉพาะในชนบท มีปัญหามากในทุกกลุ่มอายุ

ผู้เขียนได้รับเชิญจากกรมอนามัยไปร่วมอภิปรายเรื่องพัฒนาระบบบริการและขับเคลื่อนชุมชนสู่ตำบลฟันดี ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 จึงค้นคว้าปัญหาฟันในเมืองไทยว่าในแต่ละกลุ่มอายุมีปัญหาฟันอะไรบ้าง?

ข้อมูลเบื้องต้นมีดังนี้

1. ฟันผุของเด็กไทย ข้อมูลเบื้องต้นของมูลนิธิหมอชาวบ้าน พบว่า เด็กอายุ 1 ปี 6 เดือน – 3 ปี แปรงฟัน 23% พ่อแม่ยอมรับไม่ได้ดูแล 54% (2539) เด็กอายุ 5 – 6 ปี โดยเฉพาะในชนบท ฟันผุ 87.5% จากนม ขนมหวานน้ำอัดลม น้ำหวาน ลูกอม โดยมีโฆษณาจูงใจ ไม่ได้รับการรักษา (2544)

2. กลุ่มวัยรุ่น มีปัญหาฟันผุ ฟันคุด กลิ่นปาก จัดฟัน

3. ผู้สูงอายุ ข้อมูลจากคณะทันตแพทย์ จุฬาฯ พบว่า การสูญเสียฟัน ฟันผุโรคปริทันต์ มีแผ่นคราบจุลินทรีย์ หินปูน น้ำลายมาก บุหรี่ เหล้า ปากแห้ง แผลในช่องปาก มะเร็งในช่องปาก

4. บทบาทผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง มีหน่วยงานและบุคลากรที่มีส่วนในการป้องกันส่งเสริม รักษาและฟื้นฟูสุขภาพฟัน ได้แก่ บุคลากรในโรงพยาบาลอำเภอ และ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล ยังเอาใจใส่ไม่เพียงพอต่อการแนะนำ ต้องขยันให้ความรู้จัดทำสื่อง่ายๆ รณรงค์ความรู้การรักษาสุขภาพฟัน ให้บริการแก่กลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพฟันมากๆ จัดตั้งอาสาสมัครให้ความรู้และดูแลสุขภาพฟันในชุมชนโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก สร้างสภาพแวดล้อมสะอาด แปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหารและปักธงโภชนาการกินอาหาร ขนม เครื่องดื่ม ไม่ทำลายฟัน กองทุนสุขภาพชุมชน ศึกษาข้อมูล จัดการความรู้ข้อมูลสุขภาพฟัน จัดทำแผน/โครงการป้องกัน ส่งเสริม บริการและแก้ไขปัญหาสุขภาพฟัน อปท. รวบรวมข้อมูลปัญหา สาเหตุ กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผน/โครงการแก้ไข สนับสนุนงบประมาณ บุคลากร เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆและสถานที่เพื่อดูแลรักษาสุขภาพฟันของชุมชน

ด้านองค์กรชุมชน ต้องค้นหาผู้นำที่สนใจ อยากแก้ไข เปลี่ยนแปลงให้ปัญหาสุขภาพฟัน จัดตั้งอาสาสมัครดูแลสุขภาพฟัน (อสฟ.) สร้างการมีส่วนร่วมกับสมาชิกชุมชนให้มาร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำ ร่วมสร้างประโยชน์โดยป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพฟัน จัดทำโครงการเพื่อให้ สสส., โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ, กองทุนสุขภาพชุมชน และอปท.สนับสนุนงบประมาณมาดำเนินการ เรียนรู้และสรุปบทเรียนการทำงานเป็นประจำทุก 3 เดือนต่อครั้ง

ตำบลฟันดี จึงต้องเป็นนโยบาย วิสัยทัศน์ ที่ต้องจัดวางยุทธศาสตร์และโครงการต่างๆ ที่ทุกฝ่ายต้องสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยมีพื้นที่หลักที่หมู่บ้าน/ตำบล โดยหน่วยงาน เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขเสริม เป็นแกนประสานสานงานกับ อบต./เทศบาลตำบล กองทุนสุขภาพชุมชน องค์กรชุมชน และหน่วยงานภายนอก เพื่อทำงานป้องกัน ส่งเสริม รักษาและฟื้นฟูสภาพฟันให้มีปัญหาลดน้อยลง จนนำไปสู่สุขภาพฟันดีทุกหมู่บ้าน/ตำบลทั่วประเทศต่อไป

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ โดยสมพันธ์ เตชะอธิก

 

Shares:
QR Code :
QR Code