ทำอย่างไร เมื่อลูกต้องเรียนออนไลน์

เรื่องโดย  ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th


ภาพโดย ชยวี ลิ้มถาวรรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th  และแฟ้มภาพ


 ทำอย่างไร เมื่อลูกต้องเรียนออนไลน์ thaihealth


การเรียนก็สำคัญ โควิด-19 ก็ต้องป้องกันด้วย ในยุคที่สถานการณ์โควิด-19 ยังมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับทุกด้านในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่ต้องเรียนหนังสือ


ช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาเปิดเทอมของนักเรียน แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 จำเป็นที่จะต้องเลื่อนกำหนดการเปิดเทอมออกไปก่อน และเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็น “การเรียนออนไลน์” แทน เมื่อลูก ๆ ต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่จะต้องดูแลและคอยจัดตารางเรียน อุปกรณ์การเรียนออนไลน์ รวมถึงสถานที่ให้กับเด็ก ๆ เพื่อให้เขาได้เรียนอย่างเต็มที่


แน่นอนว่าบรรยากาศการเรียนในห้องเรียน แตกต่างกับการที่ต้องเรียนอยู่ที่บ้านผ่านหน้าจออยู่แล้ว และอาจทำให้เด็ก ๆ รู้สึกไม่สนุก รู้สึกเบื่อได้ ด้วยเพราะไม่คุ้นเคยกับบรรยากาศที่จะต้องนั่งเรียนผ่านหน้าจอ ไม่มีเพื่อน ๆ เหมือนในห้องเรียนปกติ โดยเฉพาะเด็กเล็ก และส่งผลให้เด็ก ๆ อาจเรียนรู้ได้ไม่เต็มที่ เมื่อลูกต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน จะมิวิธีอย่างไรที่พ่อแม่ หรือผู้ปกครองมีส่วนช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ และสนุกสนาน


 ทำอย่างไร เมื่อลูกต้องเรียนออนไลน์ thaihealth


นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการเรียนออนไลน์ของเด็กเล็กว่า ที่บ้านควรที่จะทำตารางชีวิตประจำวันของเด็ก ต้องตื่นกี่โมง กินข้าวตอนไหน นอนกลางวันตอนไหน พยามจัดให้เป็นตารางชีวิตของเด็กเล็ก และเน้นให้มีกิจกรรมผ่านการเล่นอิสระ เพื่อฝึกให้เขามีพัฒนาการทางสมอง


“ช่วงเวลาแบบนี้ คุณครูกับที่บ้านต้องคุยกันเยอะกว่าปกติ อาจมีการพูดคุยกันผ่าน LINE Group ขอคำปรึกษา ​ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร เพราะการเรียนออนไลน์เหมือนย้ายครูมาอยู่ที่บ้าน ฉะนั้นคุณครูก็ต้องช่วยสนับสนุนให้กำลังใจ ให้คำแนะนำ ช่วยอธิบาย ให้พ่อแม่ ผู้ปกครองได้เข้าใจตรงกัน ว่าเด็กต้องทำอะไร เรียนวิชาไหนบ้างในแต่ละวันรวมถึงการช่วยจัดตารางเวลาทั้งการเรียน และตารางชีวิตให้กับเขาด้วย นางสาวณัฐยา กล่าว


นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กและเยาวชน สสส. ยังได้ให้คำแนะนำในการเตรียมความพร้อมสำหรับพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ที่มีบุตรหลานเปิดเทอมและต้องไปเรียนตามปกติ ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการให้เปิดทำการเรียนการสอน โดยให้แต่ละพื้นที่พิจารณาทำการสอนอย่างเหมาะสม ด้วยว่า


 ทำอย่างไร เมื่อลูกต้องเรียนออนไลน์ thaihealth


 


1. รับฟังความรู้สึกของเด็ก ๆ ก่อนที่จะเปิดเทอม ต้องคุยกับลูกว่า จะเปิดเทอมแล้ว รู้สึกอย่างไร มีความกังวลใจอะไรไหม ซึ่งตรงนี้พ่อแม่ ผู้ปกครองควรจะฟังเด็กให้มาก ๆ เพื่อให้เขาได้เตรียมตัว เตรียมความพร้อมที่จะเข้าเรียน


2. ช่วยลูกในการเตรียมความพร้อมก่อนไปโรงเรียน เช่น ทำความสะอาดชุดนักเรียน กระเป๋า รองเท้า และอุปกรณ์การเรียนอื่น ๆ ให้พร้อม


3. ทบทวนข้อปฏิบัติในการป้องกันตัวเองจากโควิด-19 เช่น ต้องพกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือติดกระเป๋าไว้ ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือให้บ่อย ๆ ในระหว่างที่ไปเรียนต้องมีการเว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ


4. เมื่อกลับถึงบ้านแล้วต้องทำรีบเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายทันที เพื่อลดการสะสมเชื้อโรค


 ทำอย่างไร เมื่อลูกต้องเรียนออนไลน์ thaihealth


 


ทั้งนี้ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยง ลดโอกาสการแพร่ระบาดใหม่ของโรคโควิด-19 และเพื่อให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ โดยไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็ก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แนะนำวิธีเตรียมความพร้อมเรียนออนไลน์ สำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย ดังนี้


1. ประสานกับสถานศึกษาในรูปแบบการเรียนการสอน (ตารางเรียน, การมอบหมายงาน ฯลฯ)


2. จัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับการเรียนให้พร้อม (คอมพิวเตอร์, โทรศัพท์มือถือ, ทีวี ฯลฯ)


3. จัดสภาพแวดล้อมบรรยากาศการเรียน


4. ควบคุมเวลาในการเรียนและดูแลพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์


5. ประสานกับครูประจำชั้นอย่างสม่ำเสมอ ในการอัพเดทข้อมูลต่าง ๆ ของบุตรหลาน


6. มีช่วงเวลาผ่อนคลายหรือเสริมกิจกรรมที่ชอบหลังจากการเรียนเสร็จสิ้น 


ในช่วงที่ครอบครัว พ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่มีเด็กเล็ก และบุตรหลานอยู่ในช่วงวัยที่ต้องเรียนออนไลน์ที่บ้าน เพื่อให้เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สสส. และภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดทำชุดข้อมูลให้ความรู้ คู่มือ อินโฟกราฟิก และสาระความรู้ที่ให้คำแนะนำการเรียนออนไลน์ที่บ้าน การปฏิบัติตัวในช่วงโควิด-19 สำหรับเด็กทุกช่วงวัย ผ่านช่องทาง https://happinet.club/ หรือติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้ที่ www.thaihealth.or.th


 


 


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ