ทำอย่างไร เมื่อต้องเข้าสู่ Home Isolation
เรื่องโดย ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก งานเสวนาออนไลน์ “เก็บกระเป๋าเตรียมเข้า Home Isolation กันยังไง?" ร่วมเตรียมสังคมไทยให้พร้อม หากจำเป็นต้องเข้าสู่ Home Isolation ด้วยกัน”
ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
ท่ามกลางภาวะวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจำนวนมากในแต่ละวัน เกิดภาวะผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล โรงพยาบาลหลายแห่งประกาศงดรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ มีผู้ป่วยที่รอเตียงรักษาอยู่เป็นจำนวนมาก บุคลากรทางการแพทย์และเหล่าจิตอาสาต้องทำงานแข่งกับเวลา ทำหน้าที่รักษาและช่วยเหลือผู้ป่วยทุกคนอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะได้กลับคืนสู่อ้อมอกของครอบครัวอย่างปลอดภัย
สถานการณ์โควิด-19 ครั้งนี้ เราต่างทราบกันดีว่ารุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา แต่จะทำอย่างไร เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทั่วถึง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การรักษารูปแบบ Home Isolation ถูกกล่าวถึงและเริ่มนำมาใช้อย่างแพร่หลายในขณะนี้
Home Isolation ทางออกวิกฤตผู้ป่วยโควิด-19 ล้นเตียง มีวิธีการอย่างไร เหมาะกับใครบ้าง เรามีคำตอบมาให้ทุกคนได้ศึกษาและทำความเข้าใจ โดย ดร.พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ได้กล่าวถึงการทำระบบ Home Isolation ที่ทำงานร่วมกับชุมชนกว่า 23 ชุมชนหนาแน่นในเขตเมืองว่ามีการทำงานร่วมกับชุมชน ทั้งระบบ Home Isolation และ Community Isolation มีจะทีมจิตอาสาในชุมชนซึ่งรู้ปัญหาในแต่ละพื้นที่ชุมชน และเข้าใจครอบครัว รวมถึงสถานการณ์ในชุมชนเป็นอย่างดี จะประสานงานกันกับทีมแพทย์ พยาบาล ซึ่งทีมพยาบาลและจิตอาสาในชุมชนที่จะเข้ามาทำงานร่วมกันในระบบ Home Isolation และ Community Isolation นี้ ต้องผ่านการอบรม เรียนรู้ถึงขั้นตอน วิธีการก่อน จึงจะสามารถปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยในระบบได้ ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ป่วย
ดังนั้น การทำ Home Isolation ต้องเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติ ไม่ใช่แค่การแจกปรอทวัดไข้ หรือแจกยา สิ่งของที่จำเป็นไปให้ที่บ้านอย่างเดียว แต่เป็นการดูแลผู้ป่วยอย่างครบองค์รวมเหมือนได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
ดร.พญ.นิตยา กล่าวต่ออีกว่า การทำระบบ Home Isolation และ Community Isolation โดยการทำงานร่วมกับชุมชนและภาคประชาสังคมนี้ เราต้องการลดจำนวนผู้เสียชีวิต ลดอาการเจ็บป่วยรุนแรงในผู้ป่วยติดเชื้อ เพราะฉะนั้นเราต้องทำงานกันอย่างหนักเพื่อให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อได้เข้าถึงการรักษาโดยเร็วที่สุดและทำการรักษาให้เขาเป็นผู้ป่วยระดับสีเขียว ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นระดับสีเหลืองหรือสีแดง นอกจากนี้จะมีการขยายระบบไปสู่กลุ่มแรงงานข้ามชาติให้เข้าถึงระบบ Community Isolation มากขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จะลดลง สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ เราจะต้องช่วยเหลือผู้ป่วยและชุมชนให้มากที่สุด
ก่อนจะเข้าสู่ระบบ Home Isolation จะมีการประเมินผู้ป่วยติดเชื้อก่อนว่า มีอาการของระดับผู้ป่วยโควิด-19 สีใด ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ ได้กำหนดไว้ ดังนี้
ระดับแรก อาการสีเขียว คือ อาการเบื้องต้นของผู้ป่วยที่เริ่มติดโควิด-19 มีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดปกติ หรือไม่มีอาการ
ระดับสอง อาการสีเหลือง คือ ผู้ป่วยโควิด-19 เริ่มจะมีอาการ มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือโรคร่วมสำคัญข้อใดข้อหนึ่ง แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวกขณะทำกิจกรรม หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก เวลาไอแล้วเหนื่อยอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ปอดอักเสบ ถ่ายเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน ร่วมกับอาการหน้ามืด วิงเวียน
ระดับสาม อาการสีแดง คือ ผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนัก หอบเหนื่อย พูดไม่เป็นประโยคขณะสนทนา แน่นหน้าอกตลอดเวลา หายใจแล้วเจ็บหน้าอก ต้องรีบเข้ารับการเอกซเรย์ปอด
ดร.พญ.นิตยา กล่าวถึง ขึ้นตอนการทำงานของระบบ Home Isolation และ Community Isolation ที่ทาง IHRI ดำเนินการร่วมกับ 23 ชุมชนนำร่อง มีวิธีการและขั้นตอน ดังนี้
1. เมื่อมีผู้ป่วยติดเชื้อในชุมชน หรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จิตอาสาในชุมชนจะทำการคัดกรองเบื้องต้นว่า ผู้ป่วยแต่ละเคสมีความรุนแรงของอาการระดับใด และจะส่งเคส รายละเอียดของผู้ป่วยให้กับทีมแพทย์พยาบาล ซักประวัติ คัดกรองข้อมูล และสอบถามอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยผ่านระบบ Telehealth
2. เมื่อส่งข้อมูลของผู้ป่วยและประเมินระดับความรุนแรงของอาการเบื้องต้นจากทีมแพทย์แล้ว หากแพทย์ประเมินอาการของผู้ป่วยว่าอยู่ในระดับสีเขียว ก็จะนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาในระบบ Home Isolation ต่อไป และในกรณีที่ผู้ป่วยมีระดับอาการเป็นสีเหลือง (รอเตียง) หรือสีแดง (ต้องเข้ารับการรักษาทันที) ก็จะมีทีมพยาบาลและจิตอาสาประสานงานจัดหาเตียงและส่งต่อผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษาจากหน่วยพยาบาลในเครือข่ายโดยเร็วที่สุด
3. เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ระบบ Home Isolation แล้ว จะมีทีมพยาบาลโทรให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวและคอยติดตามอาการผู้ป่วยทุกวันผ่านทางไลน์ และการโทรสอบถามอาการในช่วงเช้า และ เย็นทุกวัน เพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
4. ชุมชนไหนที่มีผู้ป่วยในระบบ Home Isolation จะมีทีมจิตอาสาของชุมชนบริการส่งอาหาร 3 มื้อ ให้กับผู้ป่วยทุกวัน รวมทั้งถุงยังชีพ ของใช้ที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วย จนกว่าจะได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและหายป่วย
5. หากผู้ป่วยต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ทีมงานจะทำการส่งต่อข้อมูลและรายชื่อผู้ป่วยที่ต้องรับยาให้กับโรงพยาบาลในเครือข่ายโดยเร็วที่สุด โดยการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยต้องผ่านทางแพทย์และโรงพยาบาลเท่านั้น เมื่อได้รับยาแล้ว จะมีทีมพยาบาลไปด้วยเพื่ออธิบายการใช้ยาที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วย ในส่วนของยาฟาวิพิราเวียร์นั้น ทาง สปสช. ให้การสนับสนุนและจะคอยเติมยาให้เพียงพอต่อความต้องการในการรักษา สำหรับผู้ป่วยในระบบ Home Isolation
6. มีการติดตามอาการจากทีมแพทย์ พยาบาล อย่างใกล้ชิดผ่านทาง Telehealth ตลอดระยะเวลาการรักษา เพื่อสร้างความมั่นใจในกับผู้ป่วย
7. กรณีที่ผู้ป่วยในระบบ Home Isolation มีอาการรุนแรง เปลี่ยนจากระดับสีเขียว เป็นสีเหลือ หรือสีแดง ทีมงาน IHRI จะประสานงานกับโรงพยาบาลในเครือข่ายในการจัดหาเตียง เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษา ซึ่งปัจจุบันมีสถานพยาบาลในหน่วยบริการกรุงเทพมหานคร ที่ตอบรับเข้าร่วมโครงการกว่า 147 แห่ง
สสส.ให้การสนับสนุนสร้างระบบ Home Isolation และ Community Isolation ร่วมกับ สปสช. เชื่อมต่อการทำงานร่วมกับระบบคลินิกอบอุ่นของมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) และภาคีที่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมด 30 ชุมชน ในเขตกทม. และปริมณฑล โดยการพัฒนาระบบจัดการของชุมชน สนับสนุนอุปกรณ์ที่ใช้ดูแลผู้ป่วย เครื่องอุปโภคบริโภค และการวางระบบดูแลผู้ป่วยที่ต้องแยกกักตัวในบ้าน รวมถึงจัดทำศูนย์ดูแลรักษาผู้ป่วยที่แยกกักตัวในชุมชน สนับสนุนการทำต้นแบบชุมชน ทั้งระบบภายในสำหรับดูแลผู้ป่วยที่แยกกักตัวในชุมชน และระบบภายนอกที่เชื่อมต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อช่วยลดวิกฤตโรงพยาบาลเตียงไม่พอ และช่วยแบ่งเบาภาระบุคลากรทางการแพทย์
ไม่เพียงแต่การสนับสนุนการพัฒนาระบบ Home Isolation และ Community Isolation เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิต และเพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาอย่างทั่วถึงเท่านั้น สสส. ยังได้จัดทำคู่มือ ดูแลจิตใจตัวเอง ในสถานการณ์โควิด-19 ร่วมกับภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถดาวน์โหลด e-book ดูแลจิตใจตัวเอง ในสถานการณ์โควิด-19 ได้ที่ https://bit.ly/2UQESSQ และรณรงค์ให้คนไทยช่วยกันยกระดับป้องกันโควิด-19 ด้วยการ สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่าง ไม่ปกปิดข้อมูล เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้โดยเร็วที่สุด