ทำอย่างไรเมื่อ เวียนศีรษะ-บ้านหมุน

ที่มา : เว็บไซต์มูลนิธิหมอชาวบ้าน


ทำอย่างไรเมื่อ เวียนศีรษะ-บ้านหมุน thaihealth


แฟ้มภาพ


อาการเวียนศีรษะ-บ้านหมุนพบได้บ่อย โดยเฉพาะผู้สูงอายุทั้งหลาย การรู้จักวิธีการดูแลรักษาตัวเองเบื้องต้น จะช่วยให้มีความสะดวกและลดการพึ่งพาแพทย์และโรงพยาบาลได้มาก การดูแลตนเองค่อนข้างไม่ยากและลำบากแต่ประการใด  ส่วนใหญ่แล้ว อาการเวียนศีรษะ-บ้านหมุนหายเองได้ แม้ไม่ได้ทำอะไรเลย การรักษาและดูแลตนเองช่วยให้อาการทุเลาลงได้เร็ว และลดความทุกข์ทรมานของอาการเวียนศีรษะ-บ้านหมุน


ทำอย่างไรเมื่อ เวียนศีรษะ-บ้านหมุน


1.นอนพัก เพราะจะเสียการทรงตัว การนอนพักช่วยลดอาการและลดอุบัติเหตุได้ การนอนหลับตาจะช่วยได้มาก บางคนลืมตาไม่ได้เลย เพราะจะมีอาการมากขึ้น


2. อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยที่สุด เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ถ้ามีใครอยู่เป็นเพื่อนยิ่งดี การเดินไปที่ต่างๆ เช่น ห้องน้ำ ควรมีคนพยุงไปส่ง


3. ห้ามขับรถเด็ดขาด เพราะอันตรายมาก


4.. ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ หรือน้ำเกลือแร่ โดยการจิบบ่อยๆ เนื่องจากมีอาการคลื่นไส้ กินอาหารไม่ได้ หรืออาเจียน การดื่มน้ำเกลือแร่บ่อยๆ ช่วยลดอาการขาดน้ำได้ และช่วยไม่ให้อ่อนเพลีย


5. กินยาพวกไดเมนไฮดริเนต (dimenhydrinate) ขนาด 50 มิลลิกรัม (ยาแก้เมารถ เมาเรือ) กินครั้งละ 1 เม็ด ทุกๆ 6 ชั่วโมง จนเมื่ออาการดีขึ้นก็ลดเป็น ทุกๆ 8 ชั่วโมง เมื่ออาการเป็นปกติดีแล้วสัก 1-2 วัน ก็สามารถหยุดยาได้ ในขณะเดียวกันอาจจะกินยา ซินนาริซีน (cinnarizine) ขนาด 25 มิลลิกรัม หรือ เมอริสลอน ขนาด 6 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง พร้อมๆ กันก็ได้


ทำตามอย่างนี้แล้ว ส่วนมากอาการจะค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อสามารถเดินตัวตรงได้ ไม่มีอาการอะไร ก็สามารถ ทำงานหรือกิจกรรมอื่นๆ ได้ตามปกติ คราวต่อๆ ไป เมื่อเริ่มๆ จะเป็นอาการแบบนี้ขึ้นมาอีก ก็ทำตามอย่างข้างบนเลย ไม่ต้องรอให้เป็นมากๆ จะได้ผลดีกว่า เพราะถ้ารอให้เป็นมากๆ โดยเฉพาะถ้ามีอาเจียนมากแล้วจะลำบาก


เมื่อไหร่ควรจะไปพบแพทย์


1.เมื่อทำตามวิธีการดูแลด้วยตนเอง ข้างต้นแล้วผ่านไปอย่างน้อย 8-2 ชั่วโมงไม่ดีขึ้น หรืออาการแย่ลง ควรรีบไปพบแพทย์


2 มีอาการอาเจียนมาก กินยา และดื่มน้ำไม่ได้เลย หรือกินยาแล้วมีอาเจียนทุกครั้ง ร่างกายจะขาดน้ำ เกลือแร่ และยา อย่าฝืนทน ควรไปพบแพทย์เพื่อฉีดยา และบางรายอาจจะต้องให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด ในรายที่เป็นมากจริงๆ อาจจะต้องพักในโรงพยาบาล แต่มีเป็นส่วนน้อย


3. เมื่ออาการดีขึ้น แต่ไม่ยอมหายเป็นปกติเสียที ควรไปพบแพทย์เช่นกัน เพราะอาจจะมีสาเหตุบางอย่างซ่อนอยู่ ที่อาจจะจำเป็นต้องได้รับการค้นหาและรักษาที่ต้นเหตุ


4. เป็นบ่อยๆ มากๆ จนรบกวนชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก ก็ต้องหาสาเหตุเช่นกัน หรือในรายที่ไม่สามารถหาสาเหตุที่แท้จริงได้ การกินยาป้องกันไว้ก็อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่ง

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ