ทำฝนหลวงสู้แล้ง
ที่มา: แนวหน้า
แฟ้มภาพ
นายกฯสั่งการรมว.เกษตรฯเร่งทำฝนหลวงช่วยชาวบ้าน-เกษตรกร หลังพื้นที่เกษตรขาดน้ำ ผลผลิตเสียหาย เติมน้ำเขื่อน-อ่างฯที่มี ปริมาณน้อยกว่า 30% ด้านกรมชลฯชี้ฝน ตกน้อยกว่าค่าปกติ ส่งผลน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อย สั่งชลประทานทั่วปท.เก็บน้ำเข้าอ่าง ทุกหยด เผยเขื่อนทั่วประเทศยังรับได้อีก 3.8 หมื่นล้านลบ.ม. ด้านสสนก.เตือน 18 เขื่อนวิกฤติ วอนประชาชนใช้ประหยัด
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและ การบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งหลายพื้นที่ ขณะนี้และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงเกษตรกรและประชาชน จึงสั่งการ มายังนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯ มอบหมายให้กรมฝนหลวงฯ ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และเร่งช่วยเหลือประชาชนให้เต็มที่ ปัจจุบันกรมฝนหลวงฯตั้งหน่วยฝนหลวง 11 หน่วยทั่วประเทศ เพื่อปฏิบัติการทำฝนหลวงให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง ทั้งนี้ การขึ้นปฏิบัติการยึดหลักการทำฝนตามตำราฝนหลวงพระราชทาน โดยต้องดูสภาพอากาศ ความชื้นสัมพัทธ์ เพื่อให้ ฝนตกในพื้นที่เป้าหมาย โดยเฉลี่ยต้อง มีมากกว่า 60% ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศ ที่เหมาะสมต้องมีค่าน้อยกว่า -2.0 และค่าความเร็วลมที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติการฝนหลวงต้องน้อยกว่า 36 กม./ชม.
ส่วนผลปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ชุดปฏิบัติการขึ้นทำฝน 8 หน่วย ทำให้มีฝนตกบางส่วน ของจ.เชียงใหม่ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี กาญจนบุรี หนองบัวลำภู ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญและพัทลุง เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพลตอนล่าง เขื่อนป่าสัก ชลสิทธิ์ เขื่อนอุบลรัตน์และอ่างเก็บน้ำ พุทธอุทยาน รวมถึงเพิ่มความชุ่มชื้นบริเวณ ป่าพรุควนเคร็ง
อธิบดีกรมฝนหลวงกล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งล่าสุด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)ออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง 3 จังหวัดใน 7 อำเภอ 32 ตำบล 225 หมู่บ้าน ประกอบด้วย จ.ตาก ศรีสะเกษ และมหาสารคาม ขณะที่สถานการณ์น้ำ ในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำที่เก็บกัก เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 15 แห่ง และอ่างเก็บน้ำ ขนาดกลาง 133 แห่ง เพิ่มขึ้นมา 1 แห่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ด้านแผนที่ปริมาณความชื้นในดิน ของกรมทรัพยากรน้ำ พบว่าบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ มีความชื้นในดินน้อยกว่าพื้นที่ภาคอื่นๆ มีปริมาณ ค่าความชื้นในดินอยู่ระหว่าง 0-20% และในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน มีค่าปริมาณค่าความชื้นในดินอยู่ระหว่าง 20-40% ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ มีปริมาณ ค่าความชื้นในดินอยู่ระหว่าง 40-60% ซึ่งกรมฝนหลวงและ การบินเกษตร จะเร่งดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อที่จะช่วยเหลือให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จาก การพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลาง พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน และประเทศไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวตังเกี๋ย และชายฝั่งของเวียดนามตอนบน ลักษณะ เช่นนี้ ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นระยะนี้ บริเวณด้านตะวันตก ของภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนบนมีการกระจายของฝนมากกว่าภาคอื่น แต่ปริมาณฝนที่ตกยังคงน้อยกว่าค่าปกติ ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหล ลงอ่างเก็บน้ำต่างๆ น้อยลง
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ ขนาดใหญ่และขนาดกลาง ข้อมูลจนถึงวันที่ 11 กรกฎาคม มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 37,018 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของ ความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมดมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 13,093 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ยังรองรับน้ำได้รวมกันมากกว่า 38,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อน สิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,596 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35 ของ ความจุอ่างฯ รวมกันมีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,900 ล้าน ลบ.ม. ซึ่ง 4 เขื่อนหลัก ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 16,200 ล้าน ลบ.ม.
ขณะที่แม่น้ำสายหลักทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย โดยแม่น้ำ เจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 358 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 7.95 เมตร มีแนวโน้มลดลงและยังคงระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 60 ลบ.ม./วินาที เพื่อรักษาระบบนิเวศ ทั้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลองให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนที่อ.บางไทร มีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 67 ลบ.ม./วินาที
"ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศเก็บกักน้ำไว้ใน อ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด พร้อมบูรณาการ ทุกหน่วยงานลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนและทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อให้ปริมาณน้ำ ที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ" นายทวีศักดิ์ กล่าว
และว่า สำหรับกรณีพื้นที่ปลูกข้าว นาปีบริเวณท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ ในเขตโครงการชลประทานหนองหวายเสี่ยงขาดแคลนน้ำ เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์อยู่ในเกณฑ์น้อยต้องสำรองน้ำไว้ใช้เฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวายได้หารือกับผู้แทนกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาค เพื่อวางแนวทางการใช้น้ำจากฝายหนองหวายที่มีอยู่ประมาณ 17 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำแบบรอบเวรอย่างเคร่งครัด ทำให้การกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่ทั่วถึงเป็นธรรม
วันเดียวกัน มีข้อมูลจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) เตือนสถานการณ์เขื่อนมีน้ำใช้การน้อยขั้นวิกฤติ ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ มีน้ำ 0% เขื่อนสิรินธร มีน้ำ 1% เขื่อนป่าสัก ชลสิทธิ์ มีน้ำ 6% เขื่อนคลองสียัด มีน้ำ 6% เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำ 7% เขื่อนภูมิพล มีน้ำ 8% เขื่อนจุฬาภรณ์ มีน้ำ 9% เขื่อน กระเสียว มีน้ำ 10% เขื่อนแควน้อย มีน้ำ 12% เขื่อนทับเสลา มีน้ำ 13% เขื่อนขุนด่าน ปราการชล มีน้ำ 13% เขื่อนลำพระเพลิง มีน้ำ 14% เขื่อนแม่กวง มีน้ำ 15% เขื่อนนฤบดินทรจินดา มีน้ำ 16% เขื่อน วชิราลงกรณ มีน้ำ 17% เขื่อนน้ำพุง มีน้ำ 18% เขื่อนห้วยหลวง มีน้ำ 18% เขื่อนศรีนครินทร์ มีน้ำ 19% ของความจุอ่าง