ทำบุญอย่าให้ได้บาป ตักบาตรห่วงสุขภาพพระ

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้าออนไลน์


ทำบุญอย่าให้ได้บาป ตักบาตรห่วงสุขภาพพระ thaihealth


แฟ้มภาพ


ปัจจุบันพระสงฆ์อาพาธด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) เพิ่มขึ้นมากขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่มีผู้นำมาถวาย ดังนั้น เราควรใส่ใจกับอาหารที่ถวายพระสงฆ์กันให้มากขึ้น


"กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases-NCDs)" เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคและไม่ติดต่อกัน แต่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสมของแต่ละบุคคล เช่น ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ พักผ่อนน้อย ออกกำลังกายน้อย รวมถึง "การรับประทานอาหารกลุ่มหวาน-มัน-เค็ม"กลุ่มโรคเหล่านี้ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรค เบาหวาน โรคความดัน โรคมะเร็ง รวมถึงภาวะอ้วนหรือมีน้ำหนักตัวมากเกินไป


ลำพังมนุษย์ยุคใหม่ที่ใช้ชีวิตแบบสังคมเมืองก็มีความเสี่ยงอยู่แล้ว "พระสงฆ์" ยิ่งเสี่ยงเพิ่มกว่าฆราวาสเป็นทวีคูณ เนื่องจาก "ไม่สามารถเลือกอาหารเองได้" วินัยสงฆ์ที่บัญญัติไว้ตั้งแต่ครั้งศาสนาพุทธถือกำเนิดขึ้นกำหนดให้พระภิกษุ-สามเณร ออกบิณฑบาตรับอาหารจากญาติโยมและต้องฉันอาหารเหล่านี้ ครั้นจะเข้ายิมเข้าฟิตเนสหรือวิ่งออกกำลังกายก็คงดูไม่สำรวมนัก จึงมีข่าวพระสงฆ์ป่วยเบาหวานบ้าง ความดันบ้าง อ้วนเกินบ้างให้เห็นอยู่เนืองๆ


ซ้ำร้ายยังมี "ความเชื่อผิดๆ" ที่ว่า "ยิ่งถวายของอร่อยชั้นเลิศให้พระมากเท่าใดผู้ถวายก็ยิ่งได้บุญมากเท่านั้น" โดยไม่ได้พิจารณาถึงคุณค่าทางโภชนาการจนกลายเป็นการทำร้ายพระสงฆ์โดยไม่รู้ตัว ซึ่ง พระมหาอินสอน คุณวุฒโท วัดปทุมสราราม ต.เชิงดอย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เล่าว่า พุทธศาสนิกชนหลายคนเข้าใจว่าเวลาจะถวายภัตตาหาร เช่น ถวายเพล จะต้องทำมาถวายหลายๆ เมนู รสชาติก็อาจจะหวาน มัน เค็มบ้าง เพราะกลัวตนเองและผู้ที่ล่วงลับจะไม่ได้บุญ พระสงฆ์นั้นเข้าใจในเจตนา แต่ บางครั้งก็มากเกินไป พระเองก็ฉันไม่หมดอีก


"เดี๋ยวนี้โรค NCDs ก็เกิดขึ้นกับสามเณรแล้ว สาเหตุก็มาจากการฉันไม่ถูกวิธี ไม่มีการควบคุม ฉันอาหารเกินที่ร่างกายต้องการ ไม่ได้ออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน พอกพูนไปเรื่อยๆ จนเกิดโรค แต่จะให้พระสงฆ์ออกกำลังกายก็ไม่ได้ เพราะพระต้องครองเสขิยวัตร หรือข้อพึงปฏิบัติว่าด้วยวัตรและจรรยามารยาท การจะออกกำลังกายด้วยท่าทางต่างๆ แม้จะไม่ผิดพระวินัยแต่ก็ไม่ควรทำ ดังนั้นเราต้องมาคิดใหม่เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะการฉัน ที่ต้องลดหวาน มันเค็ม กินแต่พอควร" พระมหาอินสอน ระบุ


สำหรับวัดปทุมสราราม แก้ไขปัญหาโดยดำเนินการ ผ่านกลไกของ โรงเรียนดอยสะเก็ดผดุงศาสน์ (วัดปทุมสราราม) ซึ่งเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา แนะนำให้ญาติโยมถวายปัจจัยเป็นเงิน สำหรับให้แม่ครัวนำไปซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารให้เพียงพอกับจำนวนพระภิกษุ-สามเณรในวัดและเป็นอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ หากเงินเหลือก็จะเก็บเป็นทุนกองกลางต่อไป


พระมหาอินสอน อธิบายเพิ่มเติมในประเด็นความเสี่ยงต่อโรค NCDs ของสามเณร ว่า เนื่องจากสามเณรส่วนใหญ่ทั้งก่อนและหลังบวชคุ้นเคยชื่นชอบกับการฉันอาหารประเภทเนื้อ ไขมันก็สะสมในร่างกาย จนมีภาวะอ้วนอยู่ที่ร้อยละ 20 และจากการสังเกตใน 10 เมนูที่จัดไว้ให้ในแต่ละเดือน พบว่าเมนูผักมีน้อยมากที่ชอบ และวันไหนมีเมนูผักจะมีอาหารเหลือมาก เท่ากับว่าลำพังการลดปริมาณเนื้อสัตว์ลงไม่ค่อยช่วยอะไรมากนัก


ดังนั้น "การปรับทัศนคติเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม" จึงเป็นอีกด้านที่ต้องทำ ซึ่งทางวัด ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้จัดทำโครงการส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้เพื่อสุขภาพใน โรงเรียน โดยมีกิจกรรมส่งเสริมให้ความรู้การบริโภคผักและผลไม้ มีแปลงผักให้สามเณรช่วยกันปลูกผักปลอดสารเคมีเพื่อนำมาเป็นอาหารเพล มีการทำปุ๋ยหมักมาใช้บำรุง


นอกจากนี้ยังได้ขอความร่วมมือแม่ครัว จากที่เคยปรุงอาหารตามปาก ก็ไม่ให้มีรสหวาน มัน เค็มมากเกินไป และลดสัดส่วนเนื้อเพิ่มปริมาณผักให้มากขึ้น เช่น ผัดกะเพราจากที่มีแต่หมูล้วนๆ ก็เพิ่มถั่วฝักยาวเข้าไป แกงเขียวหวานจากเมื่อก่อนใช้เนื้อไก่หรือหมู 25 กก. มะเขือ 5 กก. ก็ค่อยๆ ปรับลดลงเหลือเนื้อ 20 กก. มะเขือ 10 กก. จากนั้นค่อยๆ ลดและเพิ่มสัดส่วนเพื่อให้สามเณรค่อยๆ เกิดความคุ้นชิน จนปัจจุบันสัดส่วนเนื้อและผักจะอยู่ที่ประมาณ 60 ต่อ 40 หรือ 70 ต่อ 30 จากเดิมที่แทบจะเป็น 90 ต่อ 10 เป็นต้น


"เมื่อมีโครงการเป็นเงื่อนไข สามเณรหันมา บริโภคผักและผลไม้มากขึ้น นอกจากเป็นผลดีต่อสุขภาพแล้ว ยังช่วยให้การบริหารจัดการงบประมาณอาหารราบรื่น ด้วย เราได้รับงบประมาณจากรัฐที่ส่งผ่านมายังสำนักพุทธศาสนา เพียง 85% อีก 15% ต้องหาเอง แตกต่างจากโรงเรียนในระบบที่รัฐสนับสนุน 75% และท้องถิ่นอีก 25% ซึ่งในส่วนของเราท้องถิ่นไม่กล้าสนับสนุนเพราะไม่มีระเบียบเขียนไว้ชัดเจน ดังนั้นหากสามเณรฉันแต่อาหารประเภทเนื้อ ก็จะใช้งบประมาณสูง แต่ถ้าฉันผักมากขึ้นก็จะช่วยลดและควบคุมงบประมาณอาหารได้" พระมหาอินสอน กล่าว


อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการแบบนี้มัก ทำได้ในวัดที่มีขนาดใหญ่พอสมควรและมีโรงเรียน พระปริยัติธรรม หากเป็นวัดเล็กๆ มีพระสงฆ์จำวัดจำนวนน้อยและไม่มีแม่ครัว ทางออกในภาพรวมจึงอยู่ที่ "การทำความเข้าใจกับญาติโยม" ถึงวิธีการทำบุญด้วยการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ อย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการ หากไปทำบุญอย่าลืมตระหนักและ ใส่ใจเมนูอาหารที่จะถวายให้พระ แล้วจะได้บุญกุศลอย่างที่ตั้งใจ


อย่าให้ "การทำบุญ" กลายเป็น "การสร้างบาป" โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ