ทำงานอย่างไรไม่ให้ล้า
ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน
แฟ้มภาพ
การป้องกันการล้าจากการทำงานทำได้ไม่ยาก มี 10 ข้อ ดังนี้
1. ลดท่าทางการทำงานที่จะทำให้เกิดอาการล้า ท่าทางที่ต้องใช้กล้ามเนื้อทำงานมาก ต้องปรับปรุงสภาพการทำงานให้ใช้กล้ามเนื้อนั้นน้อยลง เช่น จำเป็นต้องก้มหยิบของที่อยู่ในลังก้นลึก ต้องปรับเปลี่ยนตำแหน่งของลังให้ก้มตัวน้อยลง เพื่อป้องกันกล้ามเนื้อหลังล้า (ดูรูปประกอบ)
2. แบ่งงานให้เหมาะสม ถ้ามีงานที่ต้องใช้แรงงาน และสมองมาก ให้พยายามทำงานนั้นในตอนเช้า ให้ทำงานเบาในตอนบ่าย
3. แบ่งงานเป็นช่วงๆ และมีช่วงพักที่เหมาะสม ข้อแนะนำของงานที่ต้องใช้แรงงาน คือ ควรพักประมาณ 10 นาที เมื่อเริ่มอาการล้า สำหรับงานที่ต้องทรงท่าอยู่นาน เช่น งานที่ต้องนั่งหรือยืนตลอดเวลา ควรจะพักด้วยการเปลี่ยนอิริยาบถและเคลื่อนไหวร่างกาย 10-15 นาที ทุก 2 ชั่วโมง
4. หลีกเลี่ยงการทำงานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน พบว่าการทำงานที่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวันไม่ได้ทำให้ผลผลิตจากการทำงานมากขึ้นโดยเฉพาะในงานที่ต้องใช้แรงงาน ซ้ำยังทำให้มีโอกาสบาดเจ็บจากการทำงานได้มาก ในกรณีที่ต้องทำงานล่วงเวลาต้องมีช่วงพักให้ได้พักผ่อนและนอนหลับอย่างน้อย 11-12 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น ไม่ควรทำงานเช้าและต่อด้วยการทำงานล่วงเวลาในตอนบ่าย
5. ตรวจสอบสภาพการทำงานว่าอากาศร้อนหรือ เย็น และมีเสียงดังเกินไปหรือไม่? แสงในที่ทำงานน้อย หรือจ้าเกินไปหรือไม่?
6. กินอาหารที่ให้พลังงานในผู้ที่ต้องใช้แรงงานมาก และดื่มน้ำให้เพียงพอถ้าต้องทำงานหนักกลางแจ้ง ควรดื่มน้ำทุก 20 นาที อย่ารอให้มีอาการกระหายน้ำเพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยจากความร้อนและการขาดน้ำ
7. พักผ่อนด้วยการนอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ในผู้ที่ต้องใช้แรงงาน ให้เข้านอนหัวค่ำ และควรพักผ่อนในวันหยุด ไม่ออกไปเที่ยวหาความสำราญ ดื่มสุรา จะทำให้ การล้าจากการทำงานคงค้างอยู่
8. ผู้ที่ต้องนั่งหรือยืนทำงานนานๆ ให้ออกกำลังกายด้วยการเดิน วิ่ง หรือว่ายน้ำ ให้เหนื่อยปานกลาง 15-20 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ เช่น การเดินขึ้นบันได เดินเร็วๆ ในที่ทำงาน สำหรับผู้ต้องใช้แรงงาน ให้ออกกำลังด้วยการยืดกล้ามเนื้อและข้อต่อที่ต้องใช้งานบ่อยๆ
9. ขจัดความเครียดด้วยการพักผ่อน นั่งสมาธิ เป็นต้น
10. พักสายตาโดยการมองไกล 1-2 นาที ทุกชั่วโมง ในการอ่านหนังสือหรือใช้คอมพิวเตอร์ จะเห็นได้ว่าการป้องกันไม่ให้ล้าจากการทำงาน ปฏิบัติได้ไม่ยาก
ที่สำคัญคือคนทำงานต้องรู้ตัวเองไม่ฝืนทำงานทั้งที่มีอาการล้า อย่าลืมว่าการล้าสามารถสะสมได้ถ้าจะเปรียบร่างกายเหมือนกรุงเทพฯ การล้าเปรียบเหมือนน้ำที่คอยจะท่วมอยู่ ถ้าไม่สามารถระบายน้ำออกไปได้ น้ำจะท่วมเกิดความเสียหายตามมาเช่นเดียวกับการล้าที่บางครั้งต้องเกิดขึ้น ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จึงต้องให้ช่วงเวลาพักผ่อนให้พอ เพื่อระบายการล้าออก แล้วจึงกลับไปทำงาน โอกาสที่จะเกิดการบาดเจ็บจากการทำงานที่มาจากการล้าจะน้อยลง