ทำงานอย่างมีความสุขด้วย HAPPY MODEL
คุณเคยเห็น หรือได้เคยยินคำสั่งจากผู้บริหารแบบนี้ไหม “ห้ามลา ห้ามสาย ห้ามขาด” และอีกสารพัดคำห้ามขององค์กรที่ส่วนใหญ่มุ่งแสวงหาแต่ผลประโยชน์ หรือกำไรสูงสุดขององค์กร โดยไม่สนใจเลยว่า เหล่าคนทำงานในสังกัดมีความเห็นหรือมีความรู้สึกอย่างไร
รู้อย่างนี้แล้ว คงไม่แปลกใจเลยใช่ไหมว่าทำไมทุกวันนี้ หลายคนถึงได้พร่ำบ่นหรือตั้งสเตตัสบนสังคมออนไลน์ในทำนองบ่นเครียดจากการทำงาน ก็เพราะบางคนทำงานแล้วไม่มีความสุข
“สาเหตุที่คนทำงานแล้วไม่มีความสุข เป็นเพราะว่าคอนเซ็ปต์ในการทำงานเปลี่ยนไป เมื่อก่อนความสุขของคนทำงานก็คือ “งาน” เรียกว่าเกิดมาเพื่อทำงาน แต่ปัจจุบันคนทำงานที่อายุไม่ถึง 35 ปี เขามีความรู้สึกว่างานไม่ใช่ชีวิตของเขาทั้งหมด” นี่คือคำอธิบายของ นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ที่เป็นเช่นนี้ นพ.ชาญวิทย์ บอกว่า ความสุขในชีวิตของคนยุคปัจจุบันมีหลากหลายมิติมากขึ้น ดังนั้น การที่องค์กรส่วนใหญ่เอางานเป็นตัวตั้งมากกว่าพนักงาน จึงทำให้เขาทำงานอย่างไม่มีความสุข อย่างสมัยนี้เด็กรุ่นใหม่มักจะถามองค์กรว่า นอกจากสวัสดิการแล้วบริษัทจะตอบสนองความสุขอะไรของเขาได้บ้าง เช่น ขอเข้างานไวขึ้น เพื่อออกจากงานก่อนเวลา เพราะมีงานพิเศษหรือต้องไปเรียน เป็นต้น จะเห็นได้ว่างานไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิตเหมือนในอดีตที่มีเพียงงานเดียว แต่เขาจะมีงานอื่นหรือกิจกรรมอื่นที่ต้องไปทำ
ส่วนการที่เด็กสามารถเรียกร้องได้มากขึ้น นพ.ชาญวิทย์ บอกว่า เป็นเพราะสมัยนี้องค์กรไม่มีสิทธิเลือกคนมากเหมือนสมัยก่อน คนทำงานมีทางเลือก มีทางไปมากขึ้น เห็นได้เลยว่า เมื่อองค์กรตอบสนองความต้องการของเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้ เขาก็จะลาออกไปหางานอย่างอื่นที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของเขามากกว่า เพราะฉะนั้นองค์กรแต่ละแห่งจะต้องมีการประเมินตนเองว่าเป็นองค์กรแบบใด ให้ความสำคัญแก่เรื่องใด และจะปรับปรุงพัฒนาองค์กรอย่างไร ให้คน งาน และองค์กรมีประสิทธิภาพ และก้าวไปข้างหน้าพร้อมกันได้ แล้วเครื่องมือใดที่สามารถช่วยประเมินได้
คำตอบก็คือ “happy model” หลายคนอาจสงสัย ว่า happy model สามารถช่วยให้คนทำงานอย่างมีความสุขได้จริงหรือ แต่จากการศึกษาของ ผศ.ดร.จุฑามาศ แก้วพิจิตร คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในฐานะหัวหน้าโครงการโมเดลกระบวนการสร้างองค์กรแห่งความสุข happy model (conceptual framework) พบว่า สามารถช่วยให้คนทำงานอย่างมีความสุขได้จริง
ผลงานวิจัยชุด happy model สามารถสะท้อนความสุขจากการทำงานในองค์กรแบบบ้าน (home model)ได้ ด้วยการอธิบายลักษณะขององค์กรแห่งความสุข ผ่านมุมมองของบุคคล 3 มุมมอง ได้แก่ มุมมองระดับองค์กร มุมมองระดับผู้ปฏิบัติงานที่ทำหน้าที่บริหารความสุขในองค์กร และมุมมองระดับพนักงาน ประกอบด้วย 3 โมเดลย่อย คือ องค์กรแห่งความสุข (happy organization) การจัดการความสุข (happy management) และพนักงานที่มีความสุข (happy employee) ช่วยให้สามารถประเมินได้ว่าเป็นองค์กรความสุขแบบใด โดยมีคำถามจำนวนมากเพื่อช่วยในการวิเคราะห์
นพ.ชาญวิทย์ อธิบายอีกว่า การประเมินด้วย happy model จะทำให้รู้ว่าองค์กรเราให้ความสำคัญกับความสุขส่วนใด สมดุลหรือไม่ หรือมีการบริหารจัดการที่ผิดทาง เพราะบางองค์กรอยากมีความสุขแบบหนึ่งแต่ผลการประเมินไม่ใช่แบบที่ต้องการก็ต้องปรับเปลี่ยน หรือบางแห่งดูแลพนักงานดีมาก แต่ลักษณะองค์กรเปลี่ยนไปก็ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาให้ทุกคนในองค์กรมีความสุขมากขึ้น
ขณะนี้โครงการ happy model ได้พัฒนาเป็นกรอบหลักสูตรและสื่อการสอน เผยแพร่ให้แก่ผู้ที่สนใจแล้ว นพ.ชาญวิทย์ ระบุว่า ทุกวันนี้มีหลากหลายองค์กร โดยเฉพาะเอกชนได้นำโมเดลนี้ไปใช้แล้ว ส่วนองค์กรภาครัฐก็มีการริเริ่มนำไปใช้บ้างได้แต่หวังว่าทุกองค์กรจะนำ happy model ไปประเมินเพื่อจัดการพัฒนาองค์กร คน และงานให้มีความสุขควบคู่กันไป การพยายามให้คนในองค์กรทุ่มเทเพื่องานเพียงอย่างเดียว อาจไม่ใช่ปลายทางแห่งความสุขอีกต่อไป แต่อยู่ที่ความยืดหยุ่นระหว่างกัน หากสามารถทำได้ก็จะไม่มีการมาพร่ำบ่นเรื่องงานให้เครียดกันอีก
สำหรับผู้ที่สนใจ แนวคิดการทำงานอย่างมีความสุข happy model และงานสร้างเสริมสุขภาพอย่างครบวงจรสามารถไปค้นหาคำตอบ ได้ที่งาน “สานงาน เสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่” ในระหว่างวันที่ 28-29 พฤษภาคมนี้ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา จัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ จะช่วยกันขับเคลื่อนให้สังคมไทยเป็นสังคมสุขภาวะ
หากทำงานอย่างมีความสุข ไม่ว่าจะงานเล็กงานใหญ่ ก็จะสามารถทำออกมาได้อย่างคุณภาพเสมอ
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า