ทำความเข้าใจ ประคบร้อน ประคบเย็น
ที่มา : เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
การบรรเทาอาการปวด บวมจากการบาดเจ็บระหว่างเล่นกีฬา อุบัติเหตุจากการหกล้ม เคล็ดขัดยอก รวมถึงช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ "การประคบ" เป็นวิธีหนึ่งที่นำมาใช้ เป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
การประคบร้อน การประคบเย็น การปฐมพยาบาลด้วยวิธีนี้จะเลือกใช้อย่างไร และวิธีประคบมีข้อควรรู้ พึงระวังอย่างไร พ.ต.ต.หญิง ดร.คัติยา อีวาโนวิช ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิลปวัฒนธรรม อาจารย์สาขาสร้างเสริมสุขภาพ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความรู้แนะนำการดูแลสุขภาพ และความรู้การ ประคบร้อน ประคบเย็นว่า การประคบที่นำมาใช้กันนั้น การประคบเย็น จะใช้เมื่อเกิดการบาดเจ็บเฉียบพลัน อย่างเช่น การวิ่ง ออกกำลังกาย เกิดเท้าพลิก หรือถ้ามีเลือดออก การประคบจะช่วยลดอาการปวดบวม อักเสบเบื้องต้น ส่วน ประคบร้อน ช่วยให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ยืดผ่อนคลาย เมื่อประคบก็จะรู้สึกสบาย ทั้งยังช่วยบรรเทาอาการปวดลดลงเช่นกัน
"การประคบร้อน ไม่ควรประคบส่วนที่มีบาดแผล เพราะจะยิ่งทำให้มีการอักเสบ หรือถ้ามีโรคประจำตัว มีอาการชาปลายมือ ปลายเท้า รับความรู้สึกได้ไม่ดี การประคบโดยใช้ความร้อน หรือความเย็นเพื่อบรรเทาอาการ อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ ฯลฯ แต่หากรู้สึกปวดเมื่อย ปวดบ่า คอ ไหล่ สามารถใช้การประคบร้อนและเย็นได้ โดยเลือกประคบตามความรู้สึกที่ทำให้สบาย โดยการใช้ความร้อนจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ส่วนประคบเย็นช่วยบรรเทาอาการปวด"
การประคบใช้ความร้อน หรือความเย็นจึงต้องมีความเหมาะสม อยู่ในสภาวะที่ร่างกายรับได้ อย่างเช่น การใช้ความร้อน ควรให้มีความอุ่นสบาย โดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิอุ่นจัด ไม่ควรร้อนเกิน 45 องศาเซลเซียส บิดพอหมาด ๆ นำไปประคบบริเวณที่ต้องการประคบ ขณะที่การประคบเย็น ความเย็นควรอยู่ในระดับพอเหมาะพอดีเช่นกัน โดยถุงน้ำแข็งที่จะนำไปประคบอาจทำขึ้นเองได้โดยใช้ถุงบรรจุอาหารเติมน้ำและน้ำแข็งอย่างละครึ่ง จากนั้นใช้ผ้าห่อแล้วนำไปประคบ ฯลฯ
"ผู้สูงอายุ การประคบร้อนยังช่วยให้ผ่อนคลาย จะเห็นว่ามีการนำลูกประคบมาดูแลสุขภาพ มีการแช่เท้าด้วยน้ำอุ่น ๆ ซึ่งช่วยการผ่อนคลาย กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น แต่อาจต้องเพิ่มความระมัดระวัง ทั้งนี้ผิวหนังผู้สูงอายุจะเริ่มบางลง อุณหภูมิน้ำต้องมีความเหมาะสม ควรทดสอบให้แน่ใจว่าจะไม่ร้อนจนเกินไป เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ
การประคบไม่ว่าจะประคบร้อนหรือประคบเย็นควรเลือกใช้ให้เหมาะสม ซึ่งผู้สูงอายุ ก็มีโอกาสหกล้ม เท้า แพลง การประคบช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ แต่อย่างไรก็ตามหากพบความ ผิดปกติ ไม่ควรวางใจควรพบแพทย์ แต่เนิ่น ๆ"
นอกจากนี้อาจารย์ยังให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพเพิ่มอีกว่า อายุที่เพิ่มขึ้น สุขภาพร่างกายย่อมมีการเปลี่ยนแปลง จากที่เคยเดินอย่างคล่องแคล่ว กระฉับกระเฉงก็อาจเสื่อมถอยลง กระดูกที่เคยแข็งแรงอาจบางลง ไม่ได้รับการเสริมสร้าง สิ่งที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังในกลุ่มผู้สูงอายุคือ การหกล้ม ซึ่งมักเกิดขึ้นได้ง่าย การดูแลที่อยู่อาศัย ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมภายในบ้านให้มีความเหมาะสมจึงมีความสำคัญ ดังเช่น ในห้องน้ำควรมีราวจับ ภายในบ้านมีแสงสว่างเพียงพอ ฯลฯ ซึ่งการป้องกันไม่ให้หกล้มเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก
อีกทั้งเมื่อสูงอายุขึ้น การรับประทานอาหาร การรับรสจะเปลี่ยนแปลงไป อาจมีปัญหาในเรื่องการกลืน การรับประทานอาหารลดน้อยลง การดูแลสุขภาพจึงควรเตรียมพร้อมในหลายมิติและดูแลรักษาสุขภาพนับแต่เบื้องต้น ดังเช่นด้านอาหาร ควรมีความหลากหลายและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็มจัด ทานอาหารที่มีโปรตีนย่อยง่าย ทานผักผลไม้เหมาะสม ฯลฯ
การดื่มน้ำก็ต้องให้ความสำคัญ ผู้สูงอายุมักดื่มน้ำน้อย ควรให้มีความเพียงพอกับความต้องการของร่างกายและจัดวางน้ำให้อยู่ใกล้ผู้สูงอายุให้สามารถหยิบน้ำมาดื่มได้ง่าย และอีกส่วนสำคัญคือ การออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ ทั้งนี้เพื่อสร้างสุขภาพที่ดี แข็งแรงไกลห่างจากความเจ็บป่วย