ทำกิจกรรมสร้างอาชีพ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2564 ซึ่งจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 20 ของประชากร และในปี 2574 จะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด หรือร้อยละ 28 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ
ดังนั้นในการจัดการรับมือกับผู้สูงวัยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ ต.ดวนใหญ่ อ.วังหิน และ ต.หนองใหญ่ อ.เมืองจันทร์ จ.ศรีสะเกษ มีผู้สูงอายุจำนวนมาก ส่วนใหญ่มีปัญหาขาดแคลนรายได้ ทางตำบลโดยภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนจึงช่วยกันแก้ไขและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย ดึงเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน "สร้างอาชีพสร้างรายได้"
นายสิทธิชัย วิลัยเลศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ดวนใหญ่ เปิดเผยถึงแนวทางการดูแลผู้สูงอายุในตำบล ว่า การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัย ต.ดวนใหญ่ เริ่มมาจากการก่อตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุเมื่อปี 2557 แล้วชักชวนกลุ่มผู้สูงวัยให้มาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อพัฒนาทักษะการดูแลตัวเอง การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และสามารถต่อยอดกิจกรรมส่งเสริมการประกอบอาชีพ 8 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มทอผ้าฝ้ายสีดอกลำดวน 2.กลุ่มทำน้ำยาล้างจาน 3.กลุ่มทำดอกไม้จันทน์4.กลุ่มทำสบู่ใยไหม 5.กลุ่มทอผ้าสไบขิด 6.กลุ่มแปรรูปหน่อไม้ 7.กลุ่มจักสานไม้ไผ่ และ 8.กลุ่มทำข้าวกล้องงอก ทั้งนี้ท้องถิ่นจึงต้องช่วยให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสถ่ายทอดภูมิปัญญาต่อไปถ้าไม่ทำภูมิปัญญาต่าง ๆ ก็จะหายไปเรื่อย ๆ
"เคล็ดลับชักชวนผู้สูงอายุให้มาทำกิจกรรมร่วมกันได้นั้น คือ อบต.ต้องหาผู้นำ ซึ่งเป็นผู้นำโดยธรรมชาติที่ทุกคนให้การยอมรับและจะเป็นคีย์แมนสำคัญในการชักชวนคนอื่น ๆ ให้เข้าร่วม เพราะทุกคนจะมาด้วยศรัทธาปัจจุบันทั้ง 8 กลุ่มกิจกรรมอาชีพของโรงเรียนผู้สูงอายุ ต.ดวนใหญ่ สามารถสร้างรายได้ให้สมาชิกไม่น้อยกว่า 1,000-1,500 บาทต่อเดือนผู้สูงวัยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ต้องทนเหงาว้าเหว่อีกต่อไป ทุกคนจึงยิ้มได้หัวเราะได้อย่างมีความสุข" นายก อบต.ดวนใหญ่ กล่าว
ด้าน นายนิคม พูนภิรมย์ ครูใหญ่โรงเรียนผู้สูงอายุ ต.ดวนใหญ่ กล่าวเสริมว่า วันโรงเรียนเปิดทำการทุกวันพุธ ตั้งแต่เวลา 8.00 น. นักเรียนก็จะมาพร้อมหน้าพร้อมตากัน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้กำหนดไว้ วันไหนมีการฝึกสอนอาชีพก็จะคึกคักเป็นพิเศษ ทุกคนดูกระตือรือร้นกันมาก ดังนั้นกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนต้องการให้ผู้สูงวัยมีอารมณ์สังคม จิตแจ่มใส ร่างกายแข็งแรง อยู่อย่างมีคุณค่า ไม่เป็นภาระสังคม ให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ มีเพื่อนฝูง มีรายได้ ให้อยู่กันอย่างมีความสุข มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน
"เป้าหมายต่อไปของ อบต.ดวนใหญ่ ต้องการการยกระดับสู่การเป็นชุมชนดูแลผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ ที่สามารถรองรับผู้สูงอายุจากที่อื่นมาพักหรืออาศัยร่วมกันได้ อันเป็นการให้ผู้สูงวัยได้มีความสุขจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน" ครูใหญ่โรงเรียนผู้สูงอายุ กล่าว
ขณะที่ นายจำรัส บุบผา หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาลตำบลหนองใหญ่ กล่าวว่า ต.หนองใหญ่ มีความโดดเด่นเรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์ โดยเป็นผลมาจากการที่ประกาศเป็นตำบลปลอดยาฆ่าหญ้ามาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อส่งเสริมและขับเคลื่อนการทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่อย่างเต็มกำลัง แรกเริ่มทำข้าวอินทรีย์ก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นก็ค่อย ๆ ขยับมาที่พืชตัวอื่น ๆ เช่น หอม กระเทียม พืชผักสวนครัว จึงใช้ต้นทุนที่มีอยู่นี้มาผนวกกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุด้วยการให้ผู้สูงวัยเป็นแกนนำชุมชนในการทำเกษตร และส่งเสริมการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้อาหารชุมชนในทั้ง12 ชุมชนอีกด้วย เพื่อให้คนในชุมชนนำเอาแนวคิดการผลิตวิถีอินทรีย์ไปใช้ในครัวเรือน
"ทางเทศบาลพยายามส่งเสริมการรวมกลุ่มผลผลิต เพื่อแปรรูปออกจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตอนนี้มีข้าวอินทรีย์ เป็นตัวนำ ซึ่งต่อไปใช้สินค้ากลุ่มผู้สูงวัยผลิต โดยใช้ตรา "ฒ ผู้เฒ่า" เป็นเครื่องหมายการค้า และจะพยายามทำการตลาดออนไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายให้หลากหลายด้วย" หัวหน้าสำนักปลัดเทศบาลตำบลหนองใหญ่ กล่าว
นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) กล่าวว่า สสส.เชื่อว่าผู้สูงอายุที่ยังคงมีอาชีพหารายได้จุนเจือครอบครัว นับเป็นผู้สูงอายุที่มีความสุข ทุกวันนี้ผู้ที่มีอายุ 60-65 ปี ในสังคมไทยมีอาชีพ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนที่อายุ 65-70 ปี มีประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ที่ยังประกอบอาชีพได้ ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่สามารถทำอยู่กับบ้านได้ บางส่วนก็เป็นผู้สูงอายุที่กลับภูมิลำเนาเดิม แล้วนำงานหรืออาชีพกลับไปทำด้วย
"บทบาทขององค์กรท้องถิ่นเกี่ยวกับการสร้างอาชีพให้กับผู้สูงอายุก็จะเหมือนออร์กาไนเซอร์ คือจัดกลุ่มหรือหมวดหมู่อาชีพให้ผู้สูงอายุ กลุ่มนี้ถนัดจักสาน กลุ่มนี้เก่งเย็บผ้าหรือกลุ่มนี้ทำกล้วยฉาบ ก็สนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มกันตามความเหมาะสม" ผู้อำนวยการสำนัก 3 สสส. กล่าว
ทั้งหมดล้วนเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้สูงวัยของต.ดวนใหญ่ และ ต.หนองใหญ่ ในการเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง และก้าวเข้าสู่ "สูงวัยสร้างเมือง" ได้อย่างมั่นคง