ทางออกของ “บุหรี่มวนเอง”

เสนอ 3 มาตรการจัดการยาเส้น

 

ทางออกของ “บุหรี่มวนเอง”          “บุหรี่มวนเอง” หรือ บุหรี่สำหรับคนรากหญ้า นับวันยิ่งมีการสูบเพิ่มมากขึ้น ต่อเดือนมีผู้สูบสูงถึงร้อยละ 27.6 แม้ผู้สูบจะรู้ถึงพิษภัยสารพัด ทั้งถุงลมโป่งพอง หลอดเลือดหัวใจอุดตันมะเร็งปอด มะเร็งในช่องปาก  แต่ก็ยังไม่ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการลด ละ เลิกส่วนผู้ผลิตก็หัวใส แต่งรสชาติให้คล้ายบุหรี่ซอง จนทำให้บุหรี่ชนิดนี้กลายเป็นสินค้าติดตลาด หาซื้อได้แบบสะดวกสบายและที่น่าตกใจไปกว่านั้น บริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ได้ผลิตบุหรี่มวนเองออกมาจำหน่ายในท้องตลาดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

          อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้ผลเสียตกอยู่ที่ผู้บริโภค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมด้วย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) จึงได้ระดมเครือข่ายนักวิจัยด้านการควบคุมยาสูบ กว่า 300 คนและเห็นตรงกันว่าควรจะมีข้อเสนอฝากให้กับกระทรวงการคลังดำเนินการดังนี้

 

          1.จำกัดเขตพื้นที่เพาะปลูกใบยาสูบและตรวจจับเกษตรกรที่ลักลอบปลูกเกินโควตา

 

          2.เพิ่มภาษียาเส้นแบบซองจาก5 บาท เป็น 10 บาท  รวมทั้งยกเลิกการยกเว้นภาษียาเส้นพันธุ์พื้นเมือง

 

          3.แก้กฎหมาย พรบ.ยาสูบ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถออกข้อบัญญัติในการบังคับลงโทษ “ปรับ” และค่าปรับดังกล่าวให้เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการเพิ่มอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตค้าปลีกยาสูบทุกประเภท โดยในวันที่ 25 พ.ย.นี้ ศจย.จะนำข้อเสนอและรายละเอียดทั้งหมดยื่นให้กับนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง

 

          นอกจากนี้ที่ประชุมยังเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ คือ

 

          1.ประเมินผลการปฏิบัติตามประกาศกระทรวง เรื่องการติดป้ายคำเตือนบนฉลากผลิตภัณฑ์ และเร่งรัดให้ปฏิบัติตามให้ได้100%

 

          2.ให้แก้กฎหมาย พรบ.การควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และ พรบ.คุ้มครองผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยเพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการตรวจ จับและปรับผู้กระทำผิดตามพรบ.ซึ่งค่าปรับดังกล่าวให้เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

          3.ปรับปรุงประกาศกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มสถานที่ปลอดบุหรี่ โดยข้อเสนอดังกล่าวจะยื่นให้กับ นายวิทยา แก้วภราดัยรมว.สาธารณสุข พิจารณาในวันที่ 25 พ.ย.เช่นเดียวกัน

 

          ซึ่งเรื่องนี้ ดร.ศิริวรรณ  พิทยรังสฤษฏ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าการเพิ่มราคายาเส้นแบบซอง จาก 5 บาทเป็น 10 บาท จะทำให้ผู้สูบ 5.12 ล้านคนมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ละ 33 บาทเป็น 66 บาท ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยลดจำนวนผู้สูบทั้งรายเก่าและรายใหม่ได้ที่สำคัญเมื่อมีผู้สูบลดลง กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อาจต้องเตรียมรองรับการเพิ่มบริการให้คำปรึกษาเลิกบุหรี่ในระดับตำบล  มีคลินิกอดบุหรี่ในโรงพยาบาล พร้อมทั้งสำรองยาช่วยเลิกบุหรี่  และบริการสายด่วนเลิกบุหรี่1600 นอกจากนี้ควรเพิ่มมาตรการในชุมชน โดยการออกรณรงค์ให้รู้ถึงพิษภัยยาเส้น ลงโทษผู้สูบบุหรี่ในสถานที่ห้ามสูบและไม่สนับสนุนบุหรี่มวนเองเป็นสินค้า OTOP

 

          “ดังนั้น การแก้ไขปัญหายาเส้นหรือบุหรี่มวนเอง หากต้องการให้เกิดความตระหนักเท่าเทียมกับยาสูบประเภทอื่น จะต้องเปลี่ยนแปลงระบบในการควบคุมใหม่ ซึ่งหลังจากนี้คงต้องรอดูปฏิกิริยาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะสามารถปลดล็อกปัญหานี้อย่างไร”

      

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ

 

 

Update 12-11-52

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code