ทักษะอีเอฟสำคัญกว่าไอคิว

"ทักษะอีเอฟนักวิชาการระดับโลกชี้แล้วว่า สำคัญกว่าไอคิว มีงานวิจัยชัดเจนว่า ช่วงวัย3-6 ปีนี้ เป็นช่วงเวลาทองของชีวิตในการพัฒนาทักษะอีเอฟให้กับเด็ก เพราะสมองจะมีการพัฒนาทักษะอีเอฟได้ดีที่สุดในช่วงนี้ พ้นจากช่วงเวลานี้ไปถึงวัยเรียน วัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น แม้จะยังพัฒนาได้ แต่ก็จะไม่ได้ดีเท่ากับช่วงปฐมวัย"


ทักษะอีเอฟสำคัญกว่าไอคิว thaihealth


แฟ้มภาพ


นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี หรือ รักลูกกรุ๊ป กล่าวตอนหนึ่งในหัวข้อ "ทางรอดเด็กไทยสู่ศตวรรษที่ 21 เพื่อนำเสนอการขับเคลื่อนงานอีเอฟ ในสังคมไทย ว่า EF (Executive Functions)เป็นกระบวนการทางความคิด (Mental prcess) ใน สมอง ส่วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับการคิด ความรู้สึก และการกระทำ เช่น การยั้งใจคิดไตร่ตรอง การควบคุมอารมณ์ การยืดหยุ่นทางความคิด การตั้งเป้าหมาย วางแผน ความมุ่งมั่น การจดจำและเรียกใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่าง ๆ และการทำสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอนจนบรรลุความสำเร็จ ซึ่งเป็นทักษะที่มนุษย์เราทุกคนต้องใช้ มีความสำคัญยิ่งต่อทั้งความสำเร็จในการเรียน การทำงาน รวมทั้งการมีชีวิตครอบครัว


ทักษะอีเอฟสำคัญกว่าไอคิว thaihealth


สำหรับ Executive Functions (EF) ประกอบด้วยทักษะ 9 ด้าน ประกอบด้วย 1.ความจำที่นำมาใช้งาน 2.การยั้งคิด 3.การยืดหยุ่นความคิด และคิดนอกกรอบ 4.การใส่ใจจดจ่อมุ่งมั่น 5.การควบคุมอารมณ์ 6.การวางแผนและการจัดระบบดำเนินการ 7.การรู้จักประเมินตนเองรวมถึงการตรวจสอบการงานเพื่อหาจุดบกพร่อง และรู้ตัวว่ากำลังทำอะไร ได้ผลอย่างไร 8.การริเริ่มและลงมือทำ 9.ความพากเพียรมุ่งสู่เป้าหมาย หากเด็กมีทักษะทั้ง 9 ด้าน เชื่อว่าจะเป็นทางรอดเด็กไทยสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษาของไทยในขณะนี้ด้วย


สำหรับหลักการเบื้องต้นในการส่งเสริม อีเอฟให้กับเด็ก เช่นให้เด็กมีส่วนร่วมในการคิดและสร้างสรรค์ ช่วยให้เด็กโตขึ้นมีการไตร่ตรอง วางแผนด้วยตนเอง ตั้งคำถามชวนคิดให้มากขึ้น เพื่อฝึกการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ ควรให้โอกาสเด็กได้สนุก เพราะมีงานวิจัยระบุว่าความเครียดที่เกิดกับเด็กเป็นตัวทำลายอีเอฟที่สำคัญ และทักษะสมองอีเอฟที่ฝึกมาตั้งแต่ปฐมวัยจะช่วยให้บุคคลนั้นมีทักษะทำงานเป็นทีม มีความเป็นผู้นำ เมื่อสังคมมีคนแบบนี้อยู่มาก ๆ ความสามัคคีในสังคมจะสูงขึ้น


ล่าสุดแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยและสถาบันอาร์แอลจี หรือ รักลูกกรุ๊ป จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการหนังสือและการอ่านเครื่องมือพัฒนาทักษะสมอง  Executive Functions (EF)  ในเด็กปฐมวัย "คำตอบการปฏิรูปการศึกษาไทย?"


ทักษะอีเอฟสำคัญกว่าไอคิว thaihealthนางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า แผนการอ่านฯ ภายใต้การสนับสนุนของสสส. ขับเคลื่อนงานส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยมาโดยตลอด และด้วยตระหนักในความรู้เรื่องอีเอฟมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการอ่าน การอ่านเป็นเครื่องมือสำคัญที่ส่งเสริมทักษะสมอง ซึ่งอีเอฟเริ่ม 3-5 ขวบ แต่การอ่านเริ่มต้นตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ พอ 6-7 เดือนเมื่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังตัวหนังสือที่คัดสรรเรื่องของความรักความผูกพัน แม่โอบกอดลูก นั่นคืออีเอฟ แรก ๆ คือต้องเริ่มต้นจากสายสัมพันธ์ที่ดี การสร้างฐานความรักความผูกพันจะทำให้เด็กรักตัวเองเป็นจนสามารถพัฒนาไปรักคนอื่นได้ ถือว่าความรักเป็นฐานสำคัญแรก


เมื่อเข้าวัย 1-2 ขวบเด็กจะมีทักษะทางภาษา ซึ่งมีงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นตรงกันว่าเด็กที่พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟังจะมีทักษะทางภาษามากกว่าเด็กที่ผู้ใหญ่ไม่อ่านหนังสือให้ฟังเลย เพราะตัวทักษะทางภาษาถือเป็นฐานของการสร้างกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ แต่มากกว่านั้นเรื่องสามารถถ่ายทอดความรู้ความต้องการของตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญมากหากออกแบบหนังสือมีเนื้อหาที่ต้องการบ่มเพาะ เช่น การมีวินัยในตัวเอง การมีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ หากมีแรงกระตุ้นเร้าตรงนี้ทำให้พลังของการสร้างทักษะทางอีเอฟมีศักยภาพเข้มข้น


"มีตัวอย่างที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่จ.ระนองเด็กอายุ 3-4 ขวบ ทะเลาะกันทุกวัน มีหัวแตก ฟันบิ่น เล่นกันรุนแรง ปรากฏว่ามีหนังสืออยู่ชุดหนึ่งที่ว่าด้วย มือไม่ได้มีไว้ตี ฟันไม่ได้มีไว้กัด พอครูเริ่มอ่านให้เด็กฟังเด็กเริ่มฉงน เมื่ออ่านให้ฟังสองอาทิตย์บรรยากาศเงียบสงบ ตัวพฤติกรรมก้าวร้าวหายไป ครูรู้แล้วว่าถ้าอยากปรับพฤติกรรมอะไรใช้หนังสือช่วยเช่น เด็กไม่กินผักครูก็ไปหยิบหนังสือ ทุกมื้ออร่อยมาอ่านให้เด็กฟัง หากหนังสือ ออกแบบดีจะพัฒนาทักษะทุกด้านของเด็ก"


สิ่งสำคัญสังคมจะน่าอยู่หากใส่ใจเรื่องอีเอฟในช่วงวัยเวลาทองของมนุษย์.


 


    


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ

Shares:
QR Code :
QR Code