ทวงคืนพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ในตลาดสด

       กทม.ผนึก สสส.รณรงค์ “ทวงคืนพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ในตลาดสด”


/data/content/26137/cms/e_ghjklmvxy136.jpg


      นางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร มีจำนวนตลาดมากกว่า 338 แห่ง แบ่งเป็นตลาดที่มีโครงสร้างอาคาร 139 แห่ง และไม่มีโครงสร้างอาคาร 199 แห่ง ซึ่งตลาดทั้งหมดอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้เป็นสถานที่ห้ามสูบบุหรี่ ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท สำหรับตลาดที่ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท โดยกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับสำนักควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์ “ตลาดใน กทม.ปลอดบุหรี่ เรื่องดีๆ ที่ต้องช่วยกัน” เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ติดตั้งป้ายห้ามสูบบุหรี่และติดป้าย “ขอบคุณที่ไม่สูบบุหรี่ในพื้นที่ห้ามสูบตามกฎหมาย” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส.เป็นป้ายถาวร 2,500 แผ่นสติ๊กเกอร์ 20,000 ชิ้น และป้ายแบนเนอร์อีก 1,000 ชิ้น และได้จัดส่งให้กับสำนักงานเขตต่างๆ เพื่อดำเนินการติดประกาศในพื้นที่ตลาดให้เป็นไปตามกฎหมายแล้ว


      “กิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้คาดว่าจะเกิดประโยชน์ในการคุ้มครองสุขภาพผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ รวมถึงประชาชนที่เข้ามาใช้บริการในตลาดทุกแห่งในพื้นที่ กทม.พนักงานเจ้าหน้าที่ของตลาด ตลอดจนบรรดาพ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการต่างๆ ได้ ร่วมกันปฏิบัติตามกฎหมายไม่ปล่อยให้มีการสูบบุหรี่ในสถานที่ห้าม และช่วยกระตุ้นเตือนให้เกิดการเคารพสิทธิของผู้ไม่สูบบุหรี่ ตระหนักถึงพิษภัยตามเจตนารมณ์ร่วมกัน หลังจากนี้จะให้ทางเจ้าหน้าที่เทศกิจและสำนักอนามัย กทม. ออกตรวจพื้นที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง” นางผุสดี กล่าว


      ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การติดตั้งเครื่องหมายห้ามสูบบุหรี่เพื่อกำหนดขอบเขตความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะ 100% ตามเจตนารมณ์กฎหมายคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ทำหน้าที่สำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ เพื่อคุ้มครองผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ซึ่งมีถึง 80% ของคนไทย การติดเครื่องหมายห้ามสูบบุหรี่ ทั้งที่เป็นสติ๊กเกอร์ หรือป้ายนั้น เป็นปัจจัยให้ผู้ที่สูบบุหรี่รู้ว่าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ห้ามสูบ และยังเป็นปัจจัยให้ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่สามารถทวงสิทธิ์อันชอบธรรมของตนเองได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้การจำกัดพื้นที่สูบบุหรี่ยังทำให้ผู้สูบบุหรี่ต้องการเลิกสูบบุหรี่มากขึ้นเพราะเกิดความไม่สะดวกในการสูบ


      ดร.นพ.บัณฑิต กล่าวว่า จากงานวิจัยเมื่อต้นปี 2557 พบว่าประชาชนเพียงร้อยละ 29.32 เท่านั้นที่เคยพบเห็นป้ายสติ๊กเกอร์ ห้ามสูบบุหรี่ในตลาดซึ่งถือเป็นอัตราการรับรู้ในระดับน้อยมาก สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 1,100 ตัวอย่าง ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล ต่อการสูบบุหรี่ในพื้นที่ห้ามตามกฎหมาย เมื่อช่วงต้นเดือน ส.ค.ปีนี้ พบว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ผู้ตอบแบบสอบถามกว่าร้อยละ 73.36 เคยพบเห็นการสูบบุหรี่บริเวณตลาด ส่วนใหญ่พบเห็นผู้สูบบุหรี่อยู่ทุกจุดในตลาด อาทิ ในห้องน้ำ ลานจอดรถใต้หลังคา รวมไปถึงในแผงขายของ ทางเดินในตลาด หรือในร้านอาหาร ร้านกาแฟ เป็นต้น


 


 


     ที่มา: เว็บไซต์บ้านเมือง


    ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code