ถ้า ‘บ้าน’ ไม่ทำให้พิการ หรือตายไวขึ้น
ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เป็นที่ทราบกันดีว่า "บ้าน" คือวิมาน คือสถานที่อันอบอุ่น แต่อาจคิดไม่ถึงว่า บ้านอาจนำมาซึ่งความเจ็บ และความตายแก่ผู้อยู่อาศัยได้ โดยเฉพาะ "ผู้สูงอายุ"
"ประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่เสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มเกือบ 1,000 คนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 3 คน และ 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุที่หกล้มและกระดูกหักไม่สามารถกลับมาเดินได้อีก" คือข้อมูลที่น่าตกใจจากสำนักนโยบาย และยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุขในปี 2557 ซึ่งชี้ให้เห็นว่า "บ้าน" คือจุดเกิดเหตุหลักที่ไม่ควรมองข้าม
สอดรับกับข้อมูลที่ "ภรณี ภู่ประเสริฐ" ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้หยิบยกมาสร้างความตระหนักในงานเปิดตัวศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chula UDC) เมื่อเร็วๆ นี้ว่า สถานที่หกล้มอยู่ภายในบ้าน ร้อยละ 31.2 และหกล้มนอกบ้าน ร้อยละ 64.6 โดยสาเหตุอันดับแรกคือลื่นหกล้ม สะดุดสิ่งของ เสียการทรงตัว พื้นต่างระดับ ตามลำดับ (ผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 พ.ศ.2557 ซึ่งดำเนินการทุก 5 ปี)
ดังนั้น หากบ้านถูกออกแบบ หรือปรับสภาพไม่ปลอดภัยต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ อาจนำมาซึ่งอุบัติเหตุที่รุนแรงตามมาได้ บอกเล่าได้จาก "ผศ.กิตติอร ศิริสุข" อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บ้านมี 3 จุดเสี่ยงใหญ่ๆ ที่ต้องระวังคือ ห้องน้ำ เตียงนอน และบันได
"บ้านที่เราอยู่เมื่อวันที่เราเกิด และเราอยู่ในบ้านหลังนั้นไปอีก 40 ปี หรือมากกว่านั้น เราก็จะรู้ว่า บ้านมันก็ยังเหมือนเดิมแต่คนในบ้านแก่ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมันเริ่มไม่สมดุลกันละ พอมันเป็นแบบนี้ ความเป็นอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกายย่อมเกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะ 3 จุดเสี่ยงในบ้าน
เริ่มจากห้องน้ำ เป็นจุดที่มีการเปลี่ยนระดับพื้น ลื่น แสงสว่างไม่พอ เช่นเดียวกับบันไดที่มีการเปลี่ยนระดับพื้นเหมือนกัน ลื่น และค่อนข้างมืด โอกาสหกล้มย่อมเกิดได้ง่าย สุดท้ายคือเตียงนอน เป็นจุดที่จะต้องเปลี่ยนท่าทางจากยืนเป็นนั่ง จากนั่งเป็นนอน หรือตอนเช้า จากนอนเป็นนั่ง จากนั่งเป็นยืน โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุ หกล้มก็มีได้สูง" ผศ.กิตติอรเผย ก่อนจะแนะนำการออกแบบเพื่อลดอุบัติเหตุภายในบ้าน
"ถ้าเป็นไปได้ พื้นต่างระดับต้องปรับให้ระดับน้อยที่สุดไปจนถึงไม่มีเลย ส่วนพื้นที่ลื่น ถ้าเป็นกระเบื้อง ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่เรามากขึ้น ง่ายสุด งบน้อยสุด ซื้อน้ำยามาเคลือบกระเบื้องให้มันมีความสากมากขึ้น แต่ถ้าไม่ไหวละ ยังไงก็ลื่นอยู่ดี อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนพื้นให้เป็นผิวหยาบ
สำหรับบันได ไม่อยากให้ชันมาก ถ้ามีความคิดจะปรับปรุงใหม่ ขนาดลูกนอนควรยาวประมาณ 1 ไม้บรรทัดเพื่อให้เท้าวางได้พอดี ส่วนขนาดลูกตั้งควรอยู่ที่ประมาณ 15 เซนติเมตร ส่วนสีของขั้นบันไดควรใช้สีสว่าง และที่สำคัญคือต้องมีแสงสว่างอย่างเพียงพอเพื่อให้การเดินขึ้นลงอย่างปลอดภัย
ส่วนอีกเรื่องที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือ การเพิ่มอุปกรณ์อย่าง 'ราวจับ' เข้าไป เริ่มจากจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงระดับพื้น จุดที่คิดว่าพื้นมันลื่น จุดที่มีการเปลี่ยนแปลงอิริยาบถเยอะๆ อย่างเช่นในห้องน้ำ หรือเตียงนอน ซึ่งหลายๆ ที่เริ่มมีชุดราวจับแบบติดตั้งสำหรับเตียงนอนขายแล้ว" อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน จุฬาฯ ให้คำแนะนำ
อย่างไรก็ดี นอกจาก 3 จุดเสี่ยงในข้างต้นแล้ว ส่วนอื่นๆ ในบ้านก็ต้องระวังเช่นกัน เช่น ห้องรับแขก หรือห้องนั่งเล่น ซึ่งเป็นห้องที่ผู้สูงอายุมักใช้ทำกิจกรรมระหว่างวันต่างๆ
"อย่างแรกเลย ต้องจัดระเบียบเฟอนิเจอร์เพื่อให้โล่ง เดินได้สะดวกขึ้น เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีปัญหาเรื่องสายตา ถ้ามีสิ่งของวางเกะกะอาจเป็นสาเหตุทำให้สะดุดล้มได้ง่าย ส่วนห้องรับประทานอาหาร เก้าอี้พลาสติกไม่แนะนำให้ใช้ เวลาค้ำเพื่อลุกเดิน อาจล้มคว่ำได้ และขอฝากไว้อีกนิดเรื่องสัตว์เลี้ยง เพราะอาจไปพันแข้งพันขาผู้สูงอายุจนเกิดอุบัติเหตุได้
นอกจากนั้น สัญญาณช่วยเหลือในบ้านก็จำเป็นเหมือนกัน หลายครั้งผู้สูงอายุล้มอยู่นาน แต่ไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีเพราะไม่มีใครรู้ หรือเรียกใครไม่ได้ยิน ดังนั้น ห้องสำคัญๆ ที่ควรติดไว้เลยก็คือ ห้องน้ำ เวลาล้มอยู่ในห้องน้ำจะได้มีคนรู้ ลูกหลานจะได้เข้ามาช่วยได้ทันเวลา" ผศ.กิตติอร ทิ้งท้าย
ถึงตอนนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายประเทศทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ดังนั้น "การเตรียมบ้าน" ให้พร้อมคืออีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะสิ่งที่ทุกคน ปรารถนาคือความสุขในบั้นปลายชีวิต ไม่ใช่ "พิการ" หรือนอนเป็นผักอยู่บนเตียง
หากต้องการความรู้เรื่องการออกแบบบ้านเพื่อความปลอดภัยของทุกคน สามารถปรึกษาขอคำแนะนำฟรี ได้ที่ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ซอยจุฬา 42) เปิดทำการจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.30-17.00 น. (เสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์กรุณานัดหมายล่วงหน้า) หรือติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 08-4554-9301