ถ้าเกิดการบาดเจ็บจะทำอย่างไร
ที่มา : หมอชาวบ้าน
แฟ้มภาพ
เมื่อเกิดการบาดเจ็บขึ้นขณะแข่งกีฬาหรือขณะซ้อมกีฬา ผู้ได้รับบาดเจ็บมักจะตกใจหรือโกรธก่อนที่จะรู้สึกเจ็บปวด ดังนั้นสิ่งสำคัญก่อนอื่นต้องตั้งสติให้ได้เสียก่อน ทั้งผู้ช่วยเหลือและผู้ได้รับความช่วยเหลือ แล้วจึงดำเนินการอย่างอื่นต่อไป
1. ตรวจประเมินสภาพการบาดเจ็บเสียก่อน ถ้ารุนแรงควรส่งต่อไปโรงพยาบาลโดยด่วนและระมัดระวัง
การตรวจประเมินง่ายๆ สำหรับนักกีฬาและผู้ช่วยเหลือก็อาศัยการสังเกต การถามผู้บาดเจ็บเกี่ยวกับอาการ และลองให้ขยับแขนขาดู ไม่ควรรีบร้อนตรงเข้าไปบีบนวดเขย่าตัวหรือศีรษะผู้บาดเจ็บ โดยเฉพาะบาดเจ็บที่ศีรษะ คอ และลำตัว
ในสถานการณ์ที่ไม่มีเจ้าหน้าที่แพทย์สนามอยู่ด้วย นักกีฬาหรือผู้ช่วยเหลืออาจต้องใช้สามัญสำนึกร่วมกับประสบการณ์บ้างพอสมควร อย่างไรก็ตามเกณฑ์ต่อไปนี้พอเป็นแนวทางในการตัดสินใจส่งต่อไปโรงพยาบาลโดยเร็ว คือ
- เมื่อผู้ได้รับบาดเจ็บหมดสติ หรือหยุดหายใจ
- เมื่อมีการบาดเจ็บต่อศีรษะ
- เมื่อมีบาดเจ็บต่ออกและช่องท้อง
- เมื่อสงสัยว่ามีกระดูกหักหรือข้อเคลื่อน
- เมื่อมีบาดเจ็บต่อคอและสันหลัง โดยเฉพาะเมื่อมีอาการชาและอ่อนแรงร่วมด้วย
- เมื่อมีแผลฉีก
- เมื่อสงสัยว่าบาดเจ็บรุนแรง เช่น ปวดมากแม้อยู่นิ่งๆ ก็ไม่หาย มีเลือดออกมาก เป็นต้น
การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บภาวะนี้ถ้ามีเจ้าหน้าที่แพทย์สนามก็ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่แพทย์สนามดำเนินการทันที ถ้าไม่มีก็อาจตะโกนเรียกผู้ที่อยู่ใกล้เคียงให้ช่วยเหลือ เพื่อว่าอาจมีผู้รู้อยู่บริเวณใกล้เคียงจะได้ช่วยกัน หรือช่วยโทรศัพท์ตามรถพยาบาลได้โดยเร็ว
แต่ถ้าไม่มีผู้รู้ที่จะช่วยเหลือได้ก็ควรจะเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บอย่างระมัดระวัง บางครั้งอาจต้องใช้ไม้กระดานช่วยดามแขน ขา ศีรษะ หรือลำตัวที่ได้รับบาดเจ็บนั้นให้อยู่นิ่งๆ ขณะนำส่งโรงพยาบาล และถ้าผู้บาดเจ็บหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นก็ต้องผายปอดและกดนวดหัวใจขณะนำส่งโรงพยาบาลด้วย ภาวะบาดเจ็บรุนแรงนี้อาจไม่พบบ่อยนัก แต่ก็ควรทราบไว้เพื่อว่าบางครั้งอาจจำเป็นต้องช่วยเหลือ
2. ถ้าเป็นแต่เพียงช้ำ เอ็นยืดหรือฉีกบางส่วน กล้ามเนื้อล้า ข้อเคล็ด หรือซ้น ซึ่งผู้บาดเจ็บจะมีอาการปวดชั่วขณะที่เคลื่อนไหว เมื่ออยู่นิ่งจะบรรเทาบวม ช้ำ หรือห้อเลือด กล้ามเนื้อเกร็ง และเคลื่อนไหวลำบาก ท่านสามารถช่วยเหลือได้โดย
- พักการใช้งานในส่วนที่บาดเจ็บเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัว อาจต้องงดการแข่งขันจนกว่าจะหายเป็นปกติ สำหรับส่วนอื่นของร่างกายที่ไม่บาดเจ็บ ก็สามารถออกกำลังกายได้ตามปกติเพื่อคงสภาพความสมบูรณ์ของระบบหัวใจ ระบบหายใจ และระบบควบคุมการเคลื่อนไหวให้เป็นปกติ
- ประคบด้วยผ้าห่อน้ำแข็งหรือถุงน้ำแข็งทันทีนาน 10-15 นาที แล้วเอาออกและสามารถประคบได้อีกวันละหลายๆ ครั้งจนกว่าจะหยุดบวมและลดปวด การประคบด้วยความเย็นนี้ไม่ควรใช้นานเกิน 3 วันหลังจากได้รับบาดเจ็บ ถ้าใช้นานเกินไปการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อจะเป็นไปช้ากว่าปกติ แต่การใช้ความเย็นประคบบริเวณที่บาดเจ็บภายใน 3 วันแรกหลังจากบาดเจ็บจะทำให้เส้นเลือดฝอยที่ผิวหดตัว ลดบวม และลดปวดได้ดี
- พันผ้ายืดบริเวณที่บาดเจ็บ โดยพันให้แน่นกระชับจากส่วนปลายแขนหรือขาที่บาดเจ็บให้คร่อมเลยส่วนที่บาดเจ็บไปส่วนโคนเล็กน้อย เพื่อป้องกันและลดบวม
- รองส่วนที่บาดเจ็บให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อให้การไหลเวียนกลับของเลือดได้ดีและลดบวม
3. ถ้าอาการปวดและบวมยังไม่หายภายใน 3 วันควรรีบไปปรึกษาแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลที่ท่านอยู่ใกล้
4. ผู้บาดเจ็บควรงดสิ่งต่อไปนี้จนกว่าจะหายเป็นปกติ
- การบีบนวดทันทีตรงบริเวณที่เจ็บเพราะอาจทำให้บาดเจ็บมากขึ้น
- การประคบด้วยความร้อนภายในวันแรก เพราะจะทำให้เลือดออกมากขึ้นจากการขยายตัวของเส้นเลือดฝอย
- การบีบนวด และประคบร้อนควรกระทำเมื่ออาการบวมและห้อเลือดลดลงแล้ว ซึ่งโดยทั่วไปจะกระทำเมื่อเลย 3 วันไปแล้ว
- การดื่มเหล้าหรือเบียร์ เพราะจะกดระบบประสาททำให้เซและอาจบาดเจ็บเพิ่ม ขณะเดียวกันมีผลให้หลอดเลือดฝอยขยายตัว เลือดจะออกได้มากขึ้น
การรีบลงแข่งขันต่อทั้งที่ยังไม่หายดี เพราะเนื้อเยื่อที่ยังซ่อมแซมไม่ดีจะบาดเจ็บเพิ่มขึ้นอีก
5. ก่อนลงแข่งขันหรือออกกำลังกายเช่นเดิมอีก ควรไปรับการตรวจร่างกายและทดสอบสมรรถภาพทางกายอีกครั้งหนึ่ง
6. นักกีฬาควรฝึกฟื้นสมรรถภาพทางกายและฝึกทักษะกีฬาเพิ่มขึ้นทีละน้อย จนร่างกายและจิตใจพร้อมที่จะแข่งขันต่อไปได้จึงลงแข่งขันจริง