ถูกคุกคาม-แยกทาง-เก็บกด-เหตุหญิงซึมเศร้ามากกว่าชาย..!!
ผู้หญิง “ป่วยซึมเศร้า” มากกว่าผู้ชาย 1 เท่า “สาเหตุเพราะถูกทำร้ายร่างกาย-เอาเปรียบสตรี” จนทำให้เกิดการ”จิตตก”โรคซึมเศร้าเป็นปัญหาที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย เพราะภาพรวมของผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทยที่เข้าถึงบริการของรัฐมีเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น สาเหตุส่วนหนึ่งอาจมาจากบางคนไม่รู้ว่าตนเองมีปัญหาทางด้านจิตใจ หรืออาจจะรู้แต่ไม่ยอมรับ รวมถึงการที่ผู้ป่วยไม่กล้าที่จะมาพบจิตแพทย์… !!!
การสำรวจกรมสุขภาพจิตถึงความชุกของโรคซึมเศร้า ในปี พ.ศ. 2551 พบว่าผู้ที่มีอายุ 15 – 59 ปี มีอัตราการป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประมาณ 1.2 ล้านราย ในจำนวนนี้มีอาการรุนแรงถึงกับกินไม่ได้ นอนไม่หลับ จนบั่นทอนความสามารถในการทำงาน มากถึง 860,000 คน และมีผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง แต่ยังสามารถทำงานได้อยู่ถึง 371,000 คน ซึ่งยังมีข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าที่น่าสนใจก็คือ อัตราการเกิดโรคซึมเศร้าในผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชายถึง 1 เท่า
จากข้อมูลสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา พบว่า ผู้ป่วยนอกที่มารับบริการด้วยโรคซึมเศร้า ณ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ในปี 2551 มีผู้เข้ามารับบริการที่เป็นผู้หญิง จำนวน 6,338 ราย และเป็นผู้ชาย จำนวน 2,558 ราย หรือคิดเป็นอัตรา 2 ต่อ 1 ซึ่งถือว่ามีความใกล้เคียงกับผู้ป่วยซึมเศร้าทั่วโลกที่มีผู้หญิงป่วยมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า
นพ.สินเงิน สุขสมปอง รักษาการ ผอ.สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา บอกว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้หญิงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย ส่วนหนึ่งเกิดจากการเลี้ยงดูเด็กผู้หญิงที่เป็นไปในลักษณะเก็บตัว สมยอม ไม่โต้ตอบ ส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้มากกว่าเด็กผู้ชายที่จะมีลักษณะก้าวร้าว ส่วนในด้านความรับผิดชอบเมื่อโตขึ้นผู้หญิงที่แต่งงาน และมีบุตรผู้หญิงจะต้องรับภาระดูแลครอบครัวขณะที่บางรายต้องออกไปทำงานนอกบ้าน จึงเปรียบเสมือนการพลิกบทบาทมาเป็นช้างเท้าหน้า
ภาวะเครียดในผู้หญิง จึงอาจมีมากกว่าผู้ชาย นอกจากนี้ผู้หญิงที่มีลูกแล้ว หากมีภาวะซึมเศร้าก็จะส่งผลกระทบไปยังเด็กด้วยเช่นกัน เพราะภาวะซึมเศร้าจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมแยกตัว ทำให้ไม่สนใจเลี้ยงดูเด็ก การสื่อสารกับเด็กน้อยลงหรือสื่อสารอย่างไม่เป็นมิตร ส่งผลให้เด็กมีปัญหาทางอารมณ์ ไม่มั่นใจต่อความผูกพันของแม่ และมีพัฒนาการทางสติปัญญาลดลงสำหรับสภาพสังคมในยุคปัจจุบัน ปัญหาที่กระทบต่อสภาพจิตใจผู้หญิง และน่าเป็นกังวลอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ การถูกคุกคามและถูกทารุณทางเพศ ที่มักทำให้ผู้หญิงมีความรู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองลดลง และคิดโทษตัวเอง รวมถึงการแยกตัวเองออกจากสังคม…
นางเมทินี พงษ์เวช ผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี เผยว่า ปัจจุบันในบ้านพักฉุกเฉินของสมาคมฯ มีผู้หญิงเข้ามาพักพิงกว่า 150 คน และยังมีเด็กอีกประมาณ 20 คน ที่ต้องตามหญิงผู้เป็นแม่มาและเด็กบางรายก็เกิดในระหว่างอาศัยอยู่ในบ้านพักฉุกเฉิน ซึ่งผู้หญิงที่มาอาศัยบ้านพักฉุกเฉินส่วนใหญ่มักจะถูกทำร้ายร่างกายจากสามี ที่มีสาเหตุจากการหึงหวง เมาสุรา ติดสารเสพติด ซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจส่วนอีกกลุ่มจะเป็นวัยรุ่นหญิง ที่ส่วนมากจะตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ และยังไม่รู้จักการแก้ไขปัญหา มักจะหาทางออกด้วยการทำแท้งโดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นหญิงที่มีอายุน้อย
และที่น่าห่วงก็ คือ เมื่อคลอดลูกออกมาแล้วประมาณ 30% ขอที่จะไม่ดูแลลูกด้วยตนเอง ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะถูกส่งไปที่สถานสงเคราะห์ ซึ่งทางสมาคม ก็จะมีการแนะนำเสมอว่าควรที่จะดูแลลูกด้วยตนเอง และขอให้มารับลูกของตนกลับไปดูแลเองเมื่อมีความพร้อม ซึ่งจะดีกว่าให้คนอื่นดูแล
“กลุ่มสุดท้ายที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มของหญิงที่ติดเชื้อ HIV โดยพบว่า 100% ของผู้หญิงในบ้านพักฉุกเฉิน ที่ติดเชื้อ HIV เป็นแม่บ้านที่ได้รับเชื้อมาจากสามีของตนเอง ปัญหานี้สะท้อนให้เห็นว่าการต่อรองในการมีเพศสัมพันธ์กับสามีเพื่อที่จะป้องกันโดยใช้ถุงยางอนามัยหรือวิธีอื่นๆของผู้หญิงมีความเป็นไปได้น้อยหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ เลย ทำให้ต้องรับกรรมโดยที่ไม่ได้เป็นคนก่อ ซ้ำร้ายบางรายต้องคอยดูแลสามีที่มีอาการป่วยด้วยโรคเอดส์จนเสียชีวิต โดยไม่รู้ว่าตนเองจะต้องทนทุกข์ทรมานด้วยโรคนี้ไปได้อีกนานเท่าไหร่ ปัญหาเหล่านี้ทำให้เกิดความเครียดในผู้หญิงจนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าในเวลาต่อมา” นางเมทินี กล่าว
นางเมทินี บอกด้วยว่า สำหรับในบ้านพักฉุกเฉิน จะมีการแนะนำการใช้ชีวิตพร้อมทั้งการสอดแทรกกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้หญิงที่มาอาศัยรู้จักการสร้างกำลังใจในการฟื้นตัวเอง เพื่อเป็นเกราะป้องกันความเครียด นอกจากนี้ยังมีโครงการออมเงิน เผื่อว่าวันหนึ่งที่หญิงในบ้านพักกำลังใจดีขึ้นแล้วจะกลับบ้านก็สามารถนำเงินออมส่วนนี้ไปเป็นทุนในการดูแลตนเองได้ รวมถึงยังจัดให้มีเจ้าหน้าที่ในการคัดกรองภาวะซึมเศร้าด้วย หากพบรายที่มีสัญญาณ เช่น พูดน้อย เก็บตัว ไม่กินอาหาร ทางสมาคมฯ ก็จะส่งต่อไปยัง รพ.ศรีธัญญาและสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เพื่อเข้าสู่กระบวนการการรักษาด้วยยา หรือการรักษาด้วยจิตบำบัดอย่างถูกต้องและเหมาะสม
นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้มีการเตรียมรับมือกับปัญหานี้เอาไว้ โดยจะเน้นการทำงานร่วมกับเครือข่าย เพราะจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือพยาบาลทางจิตเวช จะทำงานเพียงลำพังไม่ได้ จึงต้องอาศัยชุมชน โรงเรียน วัด องค์กรเอกชน โรงงานอุตสาหกรรม และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ
โดยการส่งเสริมให้ผู้นำชุมชนหรือ อสม. มีความรู้เกี่ยวกับการวินิจฉัย การให้คำปรึกษา รวมถึงการคัดกรองผู้ที่มีปัญหาซึมเศร้าในชุมชนหรือพื้นที่ อย่างเช่น สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรี ที่มีการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ในการวิเคราะห์ผู้ที่มีปัญหา เพราะหากทำได้ตั้งแต่ต้นน้ำในการคัดกรองผู้มีอาการซึมเศร้าหรือมีสัญญาณก็จะช่วยให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาที่ถูกต้องและลดปัญหาการฆ่าตัวตายลงได้ นอกจากนี้จะมีการขยายบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ในการให้คำปรึกษาให้มากขึ้น เพื่อรองรับกับสภาวะวิกฤติทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
“สิ่งที่สำคัญ คือ การรณรงค์ให้ประชาชนได้รู้จักการช่วยเหลือตนเองเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาชีวิต ปัญหาครอบครัว ปัญหาทางการเงิน ให้รู้จักการประเมินสุขภาพจิต รู้จักอดทนต่อแรงกดดัน รวมทั้งการเก็บอารมณ์ ความรู้สึกของตนเองให้ได้ เพื่อสร้างกำลังใจให้มีแรงใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไปภายใต้สถานการณ์ที่กดดัน และต่อสู้เพื่อเอาชนะอุปสรรค รวมถึงการช่วยเหลือคนรอบข้างได้” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
จากข้อมูลการให้บริการของศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ประจำจังหวัดทั่วประเทศ 297 แห่ง มีเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงเข้ารับบริการ ในปี 50 เฉลี่ย 60 คนต่อวัน แม้ว่าบาดแผลทางกายจะหายไป แต่บาดแผลทางใจก็จะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูนานกว่าจะหาย จึงเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า ที่จะต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพราะองค์การอนามัยโลก ได้คาดการณ์เอาไว้ว่าในปี พ.ศ. 2563 หรืออีก 11 ปีข้างหน้า ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะพุ่งขึ้นเป็นอันดับ 2 รองจากโรคหัวใจการเตรียมการรับมือกับโรคซึมเศร้า จึงนับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายของประเทศไทย เพื่อที่จะร่วมกันลดจำนวนของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ให้มีตัวเลขเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับการคาดการณ์ขององค์การอนามัยโลก…
ที่มา:หนังสือพิมพ์แนวหน้า
Update:26-05-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฐภัทร ตุ้มภู่