ถึงเวลาพูดเรื่องเพศ ด้วยภาษาเดียวกัน
เมื่อพูดคุยเรื่องเพศคนในชุมชนตำบลดอนแก้ว อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ต่างพูดด้วยทัศนคติที่มาจากประสบการณ์การใช้ชีวิตที่หลากหลาย อย่างวัยรุ่น จะพูดถึงความรักความสัมพันธ์ พ่อแม่ จะพูดเรื่องระวังท้อง ท้องไม่มีพ่อ หรืออย่าไปทำใครเขาท้อง ส่วนแกนนำหรืออาสาสมัครสาธารณสุขพูดเรื่องการป้องกัน จะเห็นได้ว่า เรื่องราวต่างถูกเล่ากันต่างคนต่างวาระ
เป็นที่มาของกลุ่มฅนวัยใสที่เป็นตัวตั้งตัวตีชักชวนคนในชุมชนร่วมพูดคุยสถานการณ์เรื่องเพศกันมากว่า 2 ปี ได้รวบรวมอาสาสมัครพรรคพวกจัดตั้งศูนย์วัยใสขึ้น เพื่ออาสาเป็นคนช่วยเชื่อมร้อยทุกเรื่องราวเรื่องเพศให้กลายเป็นเรื่อง “สุขภาวะทางเพศ” ที่มองหัวใจสำคัญคือ “การมีชีวิตทางเพศที่เป็นสุขและปลอดภัย”
เมื่อวันที่ 8-9 ธันวาคมที่ผ่านมา กลุ่มฅนวัยใสร่วมกับแผนงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศ สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)จัด “เวทีติดตั้งความรู้ และทักษะให้อาสาสมัครชองศูนย์วัยใส” ขึ้นที่โรงแรม รุ่งอรุณน้ำพุร้อนรีสอร์ท อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมอายุตั้งแต่ 12 – 64 ปี ทั้งนักเรียน นักศึกษา แม่บ้าน อาสาสมัครชุมชน สาธารณสุขตำบล ครู และคนทำงานชุมชนด้านต่างๆ ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ร่วมกัน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งสิ้น 12 คน ท่ามกลางบรรยากาศอันอบอุ่น ที่เอื้อให้คณะทำงานแต่ละด้านร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สถานการณ์ และมุมมองเรื่องเพศ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ “การขับเคลื่อนให้ทุกคนในชุมชนมองสถานการณ์เรื่องเพศ ว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน เพื่อชุมชนของเรา ไม่ใช่ปัญหาและ ไม่ใช้หน้าที่แก้ไขปัญหาของใครคนหนึ่ง”
จากวงคุยเล็กๆ ของเวทีนี้เน้นย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์เรื่องเพศในปัจจุบันว่าแต่ละช่วงวัยมองเรื่องเพศแยกส่วนกัน ปัญหาของใครคนนั้นก็จัดการไป จากปัญหาเล็กๆ ก็เลยกลายเป็นปัญหาที่น่าตกใจ เพราะแต่ละคนคิดแตกต่างกัน มองกันคนละมุม ทำให้ต่างคนต่างเก็บปัญหาของตัวเองเอาไว้ เด็กไม่กล้าบอกผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ไม่พูดกับเด็กตรงๆ แต่เป็นการขู่ให้กลัว โดยความห่วงใยของผู้ใหญ่ถูกซ่อนไว้ในใจ
นางกนกวรรณ ทองอินทร์ หรือแม่นก อายุ 42 ปี อาสาสมัครชุมชน เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์เรื่องเพศในชุมชนว่า “มีเด็กนักเรียน นักศึกษาท้องไม่พร้อมอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กเรียน และอยากเรียนต่อ ไม่อยากท้อง ไม่อยากให้คนอื่นรู้ เขาก็มาปรึกษาเรา เราก็ไม่อยากให้เขาทำแท้ง กลัวบาป สุดท้ายก็เลยแอบไปทำแท้ง
“เราก็ได้แต่คอยติดตามให้ความช่วยเหลือเท่านั้น เพราะรู้สึกเป็นห่วงเขา อยากพูดกับเขาด้วยความเป็นห่วงใย แต่พอได้มาเรียนรู้ก็ทำให้รู้ว่าจะต้องเตือนสติตัวเองอยู่เสมอว่า ให้อยู่กับตัวเอง และปล่อยวางปัญหาของคนอื่นให้ได้ และจะต้องเคารพการตัดสินใจของทุกคน รวมทั้งวัยรุ่นด้วย”
นางจินตนา แสนจิตร หรือ ป้านา อายุ 64 ปี กรรมการกองทุนหมู่บ้าน เล่าด้วยความเป็นห่วงเด็กผู้หญิงสมัยใหม่ว่า “ป้ามีหลานผู้หญิงเยอะ ตั้งแต่ 2 ขวบ ไปจนถึง 21 ปี ป้าคุยกับหลานบ่อย บางทีก็แกล้งโง่ ถามโน่นถามนี่เพื่อจะคุยกับเขา ประจำเดือนมาหรือยัง มาแล้วก็สบายใจ บางครั้งก็แอบเตือนเขา แต่ก็ด้วยความเป็นห่วงนี่แหละ มาอบรมนี่ก็เอาไปปรับใช้ในครอบครัว คิดว่าเราต้องปรับปรุงตัวเองกับลูกหลานว่า เราใช้อำนาจควบคุมเขาเยอะไปไหม บางอย่างก็ต้องยืดหยุ่นบ้าง”
ในมุมของเด็กวัยรุ่นเรื่องเพศของเขายังเป็นเรื่องความรักความสัมพันธ์ แฟนฉันแฟนเพื่อนโดย
น.ส.กนกวรรณ ทองอินทร์ หรือน้องออมสิน นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ชั้นปีที่ 2 อายุ 20 ปี บอกว่าเพื่อนส่วนใหญ่โตกว่าวัยรุ่นในโรงเรียนแล้ว และจะมาปรึกษาเรื่องแฟน เรื่องความรัก โดยเฉพาะ one night stand (มีเพศสัมพันธ์กันในคืนเดียว) บางครั้งเพื่อนอยากมาปรึกษาเรา เราก็คุยกับเขาไปเรื่อย เม้าท์มอย จนกลายเป็นหันเหประเด็นไป กลายเป็นเรื่องสนุก ตลกไป เพื่อนก็สบายใจตอนนั้น จนเขาลืมเรื่องที่อยากจะพูดอยากจะปรึกษาเรา แต่พอกลับไปก็เป็นทุกข์ต่อ พอมาอบรมครั้งนี้ก็ รู้ว่า เราต้องฟังเพื่อนให้มากขึ้น จะได้รู้ปัญหาของเพื่อนจริงๆ และจะได้ช่วยเพื่อนแก้ปัญหาได้”
น.ส.พศิกา อินธรรม หรือน้องพลอย นักศึกษามหาวิทายาลัยเชียงใหม่ชั้นปีที่ 1 อายุ 20 ปี “การให้กำลังใจตัวเอง เป็นอำนาจภายในที่ทำให้เราอยู่ในสังคมได้ แต่ก่อนอายไม่กล้าพูดเรื่องเพศกับใคร และไม่มีพื้นที่ให้เราพูดเรื่องเพศได้ ด้วยพี่ๆ ในกลุ่มทำให้กล้าพูดเรื่องสุขภาพทางเพศ ได้เรียนรู้เรื่องเพศศึกษาที่ไม่เหมือนกับที่เคยเรียนมา มันทำให้เราคิดอะไรได้รอบด้านขึ้น มันสอนให้เรารู้จักคิดมากขึ้น ยิ่งคิดเราก็จะรู้จักตัวเองมากขึ้น และลองมองเห็นคนอื่นเข้าใจคนอื่นได้มากขึ้น ว่าพวกเราทุกคนมีความแตกต่าง แต่มันก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการสร้างความสัมพันธ์ และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยเฉพาะเรื่องสุขภาวะทางเพศที่ไม่ให้มันซีเรียสเกินไปนะ แต่สามารถเรียนรู้ร่วมกันได้”
แต่สำหรับเด็กประถมปลายอย่าง ด.ญ.สุทธิดา ต่วนมณี หรือน้องสายป่าน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสืบนทีธรรม อายุ 12 ปี ที่ได้เข้ามาร่วมเรียนรู้กับศูนย์วัยใส “ตอนนี้ยังไม่ได้คิดอะไรเรื่องเพศ แต่ก็ไม่กลัว ไม่อายเหมือนเมื่อก่อนแล้ว อยากรู้อะไรก็ถามได้ คุยกับพี่ๆ ได้ มาที่ศูนย์ฯ ก็ได้วาดรูปจิ๋ม ปั้นจิ๋ม ได้เรียนรู้เกี่ยวกับจิ๋มของตัวเอง มาอบรมคราวนี้ก็ได้เรียนรู้เรื่องอำนาจ เห็นว่าตัวเองเคยใช้อำนาจกับคนอื่น และก็จะพยายามระมัดระวังในเรื่องนี้ด้วย เมื่อกลับไป”
ณ เวลานี้ที่ตำบลดอนแก้ว อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ได้เปิดประตูการสื่อสารเรื่องเพศในประเด็นสุขภาวะทางเพศแล้ว โดยคณะทำงานชุมชน และกลุ่มฅนวัยใส เวทีติดตั้งความรู้ และทักษะให้อาสาสมัครชองศูนย์วัยใสนี้อาจจะไม่ใช่เพียงเวทีเดียวที่พวกเขาจะได้มาร่วมกันแลกเปลี่ยน ปรับทัศนคติ และพัฒนาเครื่องมือการทำงานร่วมกัน แต่พวกเขายังมีโอกาสได้ทำงานชุมชนร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกัน วันนี้คนวัยผู้ใหญ่ที่นี่รับฟังเด็กมากขึ้น ใช้อำนาจจัดการเด็กน้อยลง และเด็กก็พร้อมที่จะเรียนรู้จากผู้ใหญ่ โดยจะได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ วันนี้แม้ว่าทั้ง 3 เรื่องยังคงถูกพูดกันในต่างวาระกัน แต่หัวใจสำคัญก็คือ “ความปลอดภัย” ที่ทุกๆ คนในชุมชนมองเห็นเป็นเป้าหมายสำคัญในการทำงานและเป็นวิถีชีวิตเช่นกัน เหมือนกับคำว่า “สุขภาวะทางเพศ” นั่นเอง
ที่มา : มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.)