ถึงจะสูงวัย ก็มี ‘สิทธิ’นะ

เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลจาก : หนังสือ แนวทางเพื่อพัฒนาระบบคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 


ถึงจะสูงวัย ก็มี ‘สิทธิ’นะ thaihealth


วันสตรีสากล หนึ่งในวันสำคัญของเดือนมีนาคม ซึ่งเมื่อกล่าวถึง หลายคนคงคิดถึง การไม่เคารพในสิทธิสตรี ตลอดจนการเลือกปฏิบัติต่อผู้เป็นสตรี ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ แต่เมื่อมองให้ลึกถึงประเด็นสิทธิ การละเมิดต่าง ๆ ในสังคมไทย ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องเร่งสื่อสารให้สังคมรับทราบ เพราะใน 20 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super aged society)  และมีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ตลอดจนการถูกละเมิดสิทธิ ทั้งร่างกาย และจิตใจ เพิ่มขึ้น 


เรื่องดังกล่าวนั้นคือ “สิทธิผู้สูงอายุ” ที่ถือว่าเป็นเรื่องที่น้อยคนนักจะให้ความสนใจ ทันกระแสสุขภาพวันนี้ จึงได้นำข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิผู้สูงอายุ ตลอดจนการคุ้มครองเมื่อผู้สูงอายุถูกละเมิด มาฝากกัน ซึ่งแม้ว่าเราจะยังไม่เข้าสู่วัยที่เป็นผู้สูงอายุก็ควรศึกษาเอาไว้ เพราะเมื่อถึงวันนั้น เราจะได้เป็นผู้สูงวัยที่สตรองได้ในสังคมไทย


สำหรับแนวคิดเรื่องสิทธิ เป็นเรื่องที่มีมาช้านาน โดยแปรผันไปตามค่านิยม ปัจจัยแวดล้อม สภาวะเศรษฐกิจ ตลอดจนบริบทต่าง ๆ และแบ่งเป็น 3 หมวดดังนี้


1.สิทธิธรรมชาติ (Natural rights) หมายถึงสิทธิที่มนุษย์ทุกคนมีติดตัวมาแต่กำเนิด เป็นสิทธิธรรมชาติโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยกฎหมายรองรับ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับอย่างเสมอภาค อาทิ สิทธิในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิในชีวิต สิทธิเสรีภาพ เป็นต้น


2.สิทธิพลเมือง (Civil rights) หมายถึงสิทธิที่เกิดจากความเป็นพลเมืองประเทศนั้น ๆ โดยสิทธิที่รัฐให้ความคุ้มครองอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมตามกฎหมาย


3.สิทธิเฉพาะกลุ่ม (Interest group rights) หมายถึงสิทธิของบุคคลเฉพาะกลุ่มที่สมควรได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษนอกเหนือสิทธิพลเมืองทั่วไป อาทิ สิทธิเด็กและเยาวชน สิทธิคนพิการ สิทธิสตรี และสิทธิผู้สูงอายุ เป็นต้น


ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ความหมายของ ละเมิดสิทธิผู้สูงอายุ หมายถึง การบังคับหรือห้ามทำในลักษณะฝืนใจผู้สูงอายุ ทำให้สูญเสียความเป็นส่วนตัว ขาดอิสระภาพทางร่างกาย จิตใจ หรืออำนาจการตัดสินใจ ละเมิดสิทธิทางทรัพย์สินด้วยการเอาประโยชน์ หลอกลวง ฉ้อโกง ครองครอง หรือยึดทรัพย์สิน โดยผู้สูงอายุไม่ยินยอม ขณะที่ความหมายของการละเมิดสิทธิ ตามราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายว่า การกระทำที่จงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สินหรือสิทธิ


5 ประเภท การถูกละเมิดสิทธิ” ของผู้สูงอายุ


โดยองค์การอนามัยโลกได้จำแนกการถูกละเมิดสิทธิไว้ 5 ประเภท


1.การละเมิดทางด้านร่างกาย ได้แก่ การทุบตี ทำร้าย ใช้แรงกระแทกที่ร่างกาย ผลัก ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือบาดเจ็บตามร่างกาย


2.การละเมิดทางอารมณ์และจิตใจ ได้แก่ การทำร้ายจิตใจ เกิดความเสียใจ น้อยใจ ด้วยการใช้คำพูด ดูหมิ่น ดูถูก ด่าทอ ไม่เห็นคุณค่าของผู้สูงอายุ


3.การหาประโยชน์ในทรัพย์สิน และการเอาเปรียบทางกฎหมาย ได้แก่ ลักขโมย การล่อลวง เอาทรัพย์สิน หรือนำทรัพย์สินไปใช้โดยผู้สูงอายุไม่ยินยอม หรืออาจยินยอมเพราะถูกหลอกด้วยกลอุบายให้ยกทรัพย์สินให้ เป็นต้น


4.การล่วงละเมิดทางเพศ ได้แก่ การล่วงละเมิดทางเพศโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้สูงอายุด้วยการใช้คำพูด ใช้กำลัง การสัมผัส หรือการมอง ซึ่งแสดงถึงการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้สูงอายุทั้งการข่มขืน หรือล่วงละเมิดภายนอก


5.การละเลยทอดทิ้ง หรือละเว้นการกระทำ ได้แก่ ความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ที่จะปฏิเสธการดูแล ส่งผลให้ผู้สูงอายุไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่เท่าที่จำเป็น เกิดความทุกข์ จากการถูกทอดทิ้ง ไม่ได้รับปัจจัยพื้นฐานในการยังชีพ อาทิ อาหาร เสื้อผ้ายารักษาโรค


เมื่อผู้สูงอายุถูกละเมิด จะได้การคุ้มครองจากใคร?


ปัจจุบันมีหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องและดำเนินการเกี่ยวกับสิทธิผู้สูงอายุ ได้แก่


1.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้การช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ได้รับความเดือดร้อนและได้รับอันตรายจากการถูกละเมิด หรือถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือถูกทอดทิ้ง


โดยสามารถร้องเรียนได้ที่ กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) http://www.dop.go.th โทร 0-2642-4336        


2.กระทรวงสาธารณสุข ให้การช่วยเหลือดูแลด้านสุขภาพโดยมีหน่วยงานย่อย อาทิ ศูนย์พึ่งได้ (one stop crisis center) ทำหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์ โดยกระจายเป็นจุดแจ้งปัญหาอยู่ในทุกโรงพยาบาลประจำจังหวัดทั่วประเทศ พร้อมให้บริการสายด่วนทางโทรศัพท์ 1169 ตลอด 24 ชม.


3.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ช่วยเหลือด้านความปลอดภัย และสวัสดิภาพแก่ผู้สูงอายุ โดยสามารถแจ้งเหตุได้ทาง สายด่วน 1599


4.กระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่ให้คำปรึกษา และแจ้งข่าวสารเกี่ยวกับสิทธิและกรคุ้มครองตามกฎหมายแก่ประชาชน และผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมถึงการถูกเอาเปรียบในลักษณะต่าง ๆ  โดยสามารถติดต่อได้ที่  0-2141-5100 และ [email protected]


นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานที่เกี่ยงข้องอีกมากมาย อาทิ ชมรมผู้สูงอายุ กว่า 27,000 ชมรมทั่วประเทศ หน่วยงาน องค์กรเอกชนที่ให้การช่วยเหลือผู้สูงอายุ รวมไปถึง มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ที่ได้จัดตั้งขึ้นตามมติการประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อศึกษาวิจัยและรวบรวมความรู้เกี่ยวกับผู้สูงอายุทั้งไทยและต่างประเทศ และส่งเสริมการพัฒนารูปแบบการดำเนินการด้านผู้สูงอายุสำหรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทย ตลอดจนเผยแพร่ความรู้และวิทยาการเกี่ยวกับผู้สูงอายุให้แก่สังคมผ่านสื่อในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย โดยสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่ http://thaitgri.org


เรื่อง สิทธิไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนพึงรู้ เพราะมนุษย์เมื่ออยู่ร่วมกันในสังคมแล้วย่อมที่จะต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นด้วย เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็น สุข

Shares:
QR Code :
QR Code