ถักร้อยพลังคนรุ่นใหม่ พลิกโฉมประเทศไทย
โลกยุคปัจจุบันที่มีความสลับซับซ้อนขึ้น แต่ละคนแต่ละกลุ่มในสังคม ล้วนมีความต้องการตลอดจนอุดมการณ์ที่หลากหลาย อย่างไรก็ดี คนจำนวนมากที่เริ่มตื่นตัว แต่ยังไม่มีพื้นที่ในการ “ส่งเสียง” ของตนเอง ขณะเดียวกันมีเพียงส่วนน้อยที่ผูกขาด “ความจริง” ไว้เพียงฝ่ายเดียว ผลคือเกิดความขัดแย้งที่หาข้อยุติไม่ได้ในหลายเรื่อง และเกิดความตึงเครียดในสังคม
อย่างไรก็ดี ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ด้วยบรรดาสื่อใหม่ (new media) ที่ปรากฏขึ้นในโลก ได้ช่วยลดการผูกขาดความรู้และความจริงดังกล่าว และยังเป็นเครื่องมือในการสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนที่มีจิตสำนึกทางการเมืองให้ก้าวเข้ามาร่วมกำหนดชะตาชีวิตของตนเองและชุมชนมากขึ้น โดยทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มซึ่งมีความสนใจในสิ่งเดียวกัน แบ่งปันข้อมูล และร่วมแสดงความคิดเห็นต่อกันได้ ในลักษณะเป็นชุมชนเสมือน (virtual communities) และโยนประเด็นสู่สาธารณะ ทำให้เกิดการถกเถียงและสร้างวาทกรรมชุดใหม่ในเรื่องนั้นๆ ขึ้นมาในสังคม
ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุนการสร้างเครือข่ายโดยใช้การสื่อสารในรูปแบบต่างๆ เพื่อเชื่อมต่อถึงสาธารณะ โดยหวังที่จะถักร้อยผู้คนในสังคมเข้ามาร่วมกันคิด หาทางออกในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องเพศสภาพ สุขภาพ คุณภาพชีวิต จิตสำนึกสาธารณะ ฯลฯ
ล่าสุด สสส. ได้เล็งเห็นความสำคัญของคนรุ่นใหม่ที่ต่อไปจะกลายเป็นแกนหลักในการพัฒนาประเทศ จึงได้สนับสนุน “โครงการพัฒนาเครือข่ายผู้นำรุ่นใหม่ด้วยการสื่อสารเพื่อการปฏิรูประเทศไทย” ซึ่งมีเป้าหมายในการการเชื่อมโยง สร้างการปะทะสังสรรค์ความรู้ ความคิดและมุมมองจากเยาวชน คนรุ่นใหม่ ที่เดิมใช้การสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ให้มีพื้นที่สาธารณะกว้างขวางขึ้น ยกระดับเป็นการทำกิจกรรมอย่างมีส่วนร่วมจริง ซึ่งมีการเปิดตัวโครงการดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่อาคารเอสเอ็มทาวเวอร์ บนห้องประชุมขนาดกำลังพอดี ที่มีบรรยากาศเชื้อเชิญให้ คนหนุ่มสาวซึ่งก้าวเข้ามาฟังด้วยประมาณ 70 คน เกิดแรงบันดาลใจ
ทั้งนี้ภายในงาน 50 เยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มีความรู้จากหลายสาขาวิชา มีประสบการณ์การทำงานจากหลากอาชีพ จากที่เคยเป็นนักกิจกรรมในมหาวิทยาลัย ต่อมาได้สนใจปัญหาของสังคมมากขึ้น มีการสนทนาปัญหาบ้านเมืองผ่านโซเชียลมีเดีย ได้รวมตัวกันเปิดตัวหนังสือ “ผู้นำรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง” หรือ change agents ไปพร้อมกันด้วย
เรื่องเล่า 50 คน 50 มุมมอง พูดถึงการประยุกต์ใช้ศาสตร์ในแขนงที่ตนเองร่ำเรียนมา สะท้อนออกมาเป็นภาพฝันของประเทศในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา นโยบายเศรษฐกิจที่ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ธรรมาภิบาลภาครัฐและเอกชน สิ่งแวดล้อม
ซึ่งรศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผอ.สำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส. บอกว่า นี่คือเสต็ปของการ รู้ทำ-รู้คิด-รู้จัดการ-รู้นำ ที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่คนอื่นๆ เข้ามาช่วยทำให้ความคิดในประเด็นการปฏิรูปประเทศ ที่เป็นโจทย์ในยุคเปลี่ยนผ่านทางการเมือง หลากหลายและรอบด้านมากขึ้น
ภัทชา ด้วงกลัด ที่เป็นคณะทำงานคณะสมัชชาปฏิรูป ย้ำว่า ทุกคนเป็น change agents ได้ง่ายๆ เริ่มจาก การแสดงความเห็นอย่างมีเหตุมีผล เพื่อให้คนอื่นๆ รู้สึกเหมือนได้มองลอดแว่นด้วยเลนส์ที่มากสีขึ้น
ขณะที่พัชร เกิดศิริ ตัวแทน 50 คนรุ่นใหม่อีกคนหนึ่ง ใช้มุมมองในฐานะมือเปียโนให้ศิลปินหลายคน เปรียบเทียบการพลิกโฉมประเทศไทยกับดนตรีว่า การรู้หน้าที่ในวงและเล่นอย่างมีความสุข เพื่อทำให้เกิดความเป็นทีม สุดท้ายผู้ฟังก็จะเสพดนตรีได้อย่างมีอรรถรส เหมือนกับคนรุ่นใหม่ที่มีความสำนึกถึงสาธารณะมากขึ้น และเดินออกมาร่วมกันเป็นทีมเพื่อช่วยกันตอบโจทย์การสร้างความสุขของประเทศในศตวรรษที่ 21
เช่นเดียวกับแบ๊งค์ งามอรุณโชติ อดีตนักกิจกรรมตัวยง วันนี้กลายเป็นนักเศรษฐศาสตร์นโยบายสาธารณะ เป็น 1 ใน 3 ตัวแทนผู้นำรุ่นใหม่ ที่มาร่วมเสวนาเรื่อง “การพลิกโฉมประเทศไทย ในวิสัยทัศน์คนรุ่นใหม่” บอกว่า การ “สร้าง” และ “ดึง” พลังของคนรุ่นใหม่ออกมา ทำได้ง่ายมากขึ้นจากสื่อใหม่ที่ทำให้เกิดการสื่อสาร 2 ทาง และสามารถสร้างการรวมกลุ่ม ทำให้มีพลังอำนาจในการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ มากขึ้น
หลังจากที่ได้ฟังแนวคิดของตัวแทนคนรุ่นใหม่ทั้ง 3 คน กว่า 1 ชั่วโมง จะเห็นได้ว่า แม้ทั้งสามคนจะมาจากต่างสำนักคิด แต่มีจุดร่วมกันอย่างน้อยๆ ในทางหลักการ 1 อย่างคือ ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ที่มุ่งหวังที่จะสลายระบบที่ดำรงอยู่ (disarticulation) เพื่อจัดลำดับความสำคัญของปัญหาใหม่ อันจะนำไปสู่การจัดวาระแห่งชาติชุดใหม่
ถือเป็นความเติบโตของประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ผ่านช่องทางใหม่โดยคนรุ่นใหม่ ที่จะมาทำงานร่วมกับประชาธิปไตยแบบตัวแทน ในลักษณะการต่อยอดทางความคิด ค้นหาสาธารณมติ และนำไปสู่การกดดัน-กำกับให้ผู้บริหารประเทศ นำไปปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ต่อไป
ที่มา: สำนักข่าว สสส.