ถอดหัวใจองค์กรพระพุทธศาสนา 5 สาย ในประเทศไทย
ผลวิจัยชี้ สงฆ์ไทยบางส่วนตีความหลักการแนวปฏิบัติในพระพุทธศาสนาแตกต่างกัน เร่งนำร่องพัฒนาระบบบริการองค์กรสงฆ์ 5 สาย ตั้งแต่วิสาขบูชานี้
ผลวิจัยชี้ สงฆ์ไทยมีจุดมุ่งหมายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้-พัฒนาสังคม จิตใจ ปัญหา เหมือนกัน ขณะที่บางส่วนตีความหลักการ แนวปฏิบัติในพระพุทธศาสนาแตกต่างกัน-มีทิฐิผิดธรรมวินัย แนะข้อเสนอ 3 ระดับ ตั้ง สนง.เจ้าคณะจังหวัดถาวร เผยแผ่พุทธศาสนาต่อเนื่อง “มจร.-สสส.” เร่งนำร่องพัฒนาระบบบริการองค์กรสงฆ์ 5 สาย ตั้งแต่วิสาขบูชานี้ หวังฟื้นศรัทธาชาวพุทธครั้งใหญ่ ตั้งเป้าครอบคลุม 300 วัด 15 จังหวัดภายใน 1 ปี
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานแถลงข่าว เรื่อง “ถอดหัวใจองค์กรพระพุทธศาสนา 5 สายในประเทศไทย” โดย ดร.พระมหาสุทิตย์ อาภากโร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มจร. กล่าวว่า จากการวิจัย “การพัฒนาระบบการบริหารจัดการและการสร้างเครือข่ายองค์กรพระพุทธศาสนาในประเทศไทย” ทั้งเชิงเอกสารและภาคสนาม สำรวจความเห็นพระสงฆ์และองค์กรพระพุทธศาสนา 5 สาย ได้แก่ 1.สายปฏิบัติธรรม 2.สายการพัฒนา 3.สายการสื่อสาร 4.สายการปกครอง และ 5.สายการศึกษา พบว่า จุดมุ่งหมายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาเหมือนกันคือเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ การพัฒนาสังคม การเสริมสร้างจริยธรรม สู่การมีพฤติกรรมเหมาะสม มีจิตใจและสติปัญญาในการพัฒนาตนเองเพื่อชีวิตที่ดีร่วมกัน
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ กล่าวต่อว่า ปัญหาอุปสรรคที่พบ ได้แก่ 1.ปัญหาส่วนบุคคลของพระสงฆ์ ขาดการศึกษาเล่าเรียนตามพระธรรมวินัย มีทิฐิในทางที่ผิดจากพระธรรมวินัย มุ่งหวังลาภสักการะเกินไป ตีความหลักการและแนวปฏิบัติในพระพุทธศาสนาแตกต่างกัน 2.ปัญหาจากองค์กรและระบบการทำงาน ขาดการกำหนดเป้าหมายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ชัดเจน 3.ปัญหาจากภายนอกองค์กร ขาดการสนับสนุนงบประมาณ ขาดความร่วมมือขององค์กรชาวพุทธทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น
“จากการวิจัย มีข้อเสนอแนะ 3 ระดับ ได้แก่ 1.ระดับพระสงฆ์ ควรศึกษา เผยแผ่พุทธธรรมและปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ส่งเสริมการฝึกสมาธิ การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ส่งเสริมการให้ความรู้หลักธรรมเพื่อใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน จัดการทรัพยากร พัฒนาและฟื้นฟูชนบท 2.ระดับจังหวัด ควรมีสำนักงานเจ้าคณะจังหวัดถาวร ไม่ใช่ย้ายตามเจ้าคณะจังหวัด เพื่อให้กิจกรรมและกระบวนการเผยแผ่พระพุทธศาสนามีความต่อเนื่อง และ 3.ระดับนโยบาย ควรกำหนดบทบาทของคณะสงฆ์แต่ละดับให้ชัดเจน มอบหมายงานที่สอดคล้องกับพระธรรมวินัยและกิจการคณะสงฆ์ตามกฎหมาย ที่สำคัญควรฟื้นฟูพระพุทธศาสนาและปฏิรูปคณะสงฆ์ให้มีเอกภาพ” ดร.พระมหาสุทิตย์ กล่าว
พระราชวรมุนี คณบดีคณะพุทธศาสตร์ มจร. กรรมการสภาการศึกษา กล่าวว่า ได้รวบรวมองค์ความรู้จากงานวิจัยจัดพิมพ์เป็นหนังสือ ถ่ายทอดแก่พระนิสิตในช่วงวันวิสาขบูชานี้ เพื่อนำองค์ความรู้ไปปฏิบัติ นอกจากนี้ สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ คณะพุทธศาสตร์ มจร. จะร่วมกับคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ขับเคลื่อนการสร้างสังคมสุขภาวะตามแนวพระพุทธศาสนา โดยนำงานวิจัยไปสู่การปฏิบัติในวัดนำร่อง 50 วัด ใน 15 จังหวัด ได้แก่ พะเยา แพร่ เชียงใหม่ พิษณุโลก ขอนแก่น มหาสารคาม อุบลราชธานี สุรินทร์ พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี นครปฐม สิงห์บุรี สงขลา ปัตตานี และยะลา และถ่ายทอดต่อไปยังพื้นที่เรียนรู้อีก 300 วัดทั่วประเทศภายในปี 2557
ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาคณะกรรมการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า การวิจัยครั้งนี้ เป็นการถอดหัวใจขององค์กรพระพุทธศาสนาทั้ง 5 สายเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อเข้าถึงแก่นการบริหารจัดการองค์กรสงฆ์ทั้ง 5 สาย ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งต่อองค์กรสงฆ์ในการนำไปพัฒนาระบบบริหาร แก้ปัญหาต่างๆ เพื่อฟื้นฟูศรัทธาของชาวพุทธ ขณะที่พุทธศาสนิกชนจะเข้าถึงหลักธรรมที่สำคัญของพระพุทธศาสนา เช่น ศีล 5 อริยสัจ 4 พรหมวิหาร 4 หลักไตรสิกขา ฯลฯ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้และพัฒนาตนในมิติต่างๆ ทั้งการทำงาน ประกอบอาชีพ และใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีคุณภาพ
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข