ถอดบทเรียน `บางสะพาน` ต้นแบบแก้ปัญหาท้องวัยเรียน
ที่มา : ข่าวสด
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ปัญหาท้องในวัยเรียนเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายบูรณาการหาทางแก้ไขร่วมกัน ล่าสุดสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงาน "ระบบแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นครบวงจร" ในโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ที่โรงพยาบาลบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์
โดยถอดบทเรียน "บางสะพาน" อำเภอต้นแบบแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นครบวงจร ชี้จุดเด่นกลไกการทำงานที่เชื่อมต่อระหว่าง "สาธารณสุข-ท้องถิ่น-โรงเรียนชุมชน" ส่งผลจำนวนแม่วัยรุ่นลดฮวบ หลังพบประจวบฯ ท้องในวัยเรียนติดอันดับ 4 ของประเทศ
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. กล่าวว่า การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่ สสส. ให้ความสำคัญ เพราะมีผลกระทบระยะยาวต่อทั้งตัววัยรุ่นที่ประสบปัญหาและทารก ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ นักวิชาการและภาคประชาสังคม ขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ระดับนโยบายและลงลึกในทางปฏิบัติระดับพื้นที่ ใน 20 จังหวัด รวมถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่พบว่าในปี 2558 เป็นจังหวัดอันดับ 4 ของประเทศ มีอัตราการคลอดในแม่วัยรุ่นอายุ 15-19 ปี มากที่สุด ซึ่งจำนวนแม่วัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ของจ.ประจวบคีรีขันธ์ ในปี 2558 มีสูงถึง 1,137 คน คิดเป็นอัตรา 65.1 ต่อวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศอยู่ที่ 43 ต่อวัยรุ่นหญิงพันคน
"ในระยะ 3 ปี พบว่าที่อำเภอบางสะพาน ได้รับความสำเร็จลดจากอันดับ 4 ลงมาถึง 39 เท่านั้น ถือเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ ที่จะนำไปใช้ในเรื่องของยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามีการตั้งศูนย์บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยกัน นี่คือจุดแข็งที่สำคัญที่ก่อให้เกิดความสำเร็จ ซึ่งจากการถอดบทเรียนบางสะพานแล้วนี้ จะนำไปบรรจุเป็นแผนงานนำเสนอ เชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล กระทรวงที่เกี่ยวข้อง จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" ศ.นพ.รณชัยกล่าว
นายเจริญ เจริญลักษณ์ สาธารณสุขอำเภอบางสะพาน กล่าวว่า จุดเด่นของการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น คือการทำงานเป็นเครือข่ายระหว่างสาธารณสุข อบต. โรงเรียน อสม. และผู้ปกครองที่ร่วมมือกัน
เริ่มต้นจากร่วมกันจัดทำแผนการทำงาน การอบรมวิทยากร เพื่อให้ความรู้กับพ่อแม่ในการสื่อสารเชิงบวกกับลูกเรื่องเพศ การจัดค่ายเยาวชนกลุ่มเสี่ยง พัฒนาคลินิกวัยรุ่นให้เข้าถึงเด็กและเยาวชนมากยิ่งขึ้น โดยตั้งแฟนเพจ love care บางสะพาน ประชาสัมพันธ์สายด่วน 1663 ให้คำปรึกษาปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ทำให้ป้องกันและแก้ปัญหาที่ยั่งยืนได้
ด้าน พญ.ภัทรวรรณ เลิศไชยพานนท์ กุมารแพทย์ ร.พ.บางสะพาน ในฐานะที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานแก้ปัญหาเด็กท้องก่อนวัย ร.พ.บางสะพาน กล่าวว่า ร.พ.บางสะพานมีการจัดตั้งเป็นคลินิกวัยรุ่น ทำงานเป็นโครงข่าย คัดแยกแบ่งเป็นช่วงวัยรุ่น บางครอบครัวมีการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ก็อยู่ในกลุ่มที่เป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ บางส่วนก็มีการแต่งงานแล้ว โดยใช้ศิลปะเชิงรุกให้ความรู้กับเด็กหญิงในโรงเรียน เมื่อมีปัญหาสามารถสอบถามคลินิกวัยรุ่น โดยใช้ เฟซบุ๊กและโทรศัพท์ ที่เป็นช่องทางให้คำปรึกษาหรืออาจจะมารับบริการโดยตรงที่โรงพยาบาล ทำให้ลดปัญหาท้องในวัยเรียนไปได้มาก
นายบุญยฤทธิ์ แดงรักษา ปลัด อบต.ร่อนทอง บอกว่า หลังจากที่สาธารณสุขอำเภอติดต่อมายัง อบต.ร่อนทอง ว่ามีวัยรุ่นตั้งท้องจำนวนมาก ผู้ประสานงานระดับอำเภอจึงชวนทาง อบต.มาหารือเพื่อร่วมกันหาแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาในพื้นที่ กลุ่มเป้าหมายในการทำงานคือเยาวชนในสถานศึกษาและผู้ปกครอง จึงเริ่มที่โรงเรียนในสังกัดท้องถิ่น 3 แห่ง คือโรงเรียนขยายโอกาส 1 แห่ง และโรงเรียนประถม 2 แห่ง ให้ความรู้ตั้งแต่ชั้นป.5 เพราะมองว่าการให้ความรู้เรื่องเพศยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี จึงแยกเป็นหลักสูตรพ่อแม่และเด็ก พร้อมจัดกิจกรรมให้พ่อแม่และลูกมีโอกาสเปิดใจคุยกัน ช่วงแรกก็มีเสียงต่อว่าจากผู้ปกครองบางส่วนที่ไม่เข้าใจ มองว่าเป็นการชี้โพรงให้กระรอก แต่เดินหน้าทำต่อ จนปัจจุบันจำนวนเด็กตั้งท้องลดลงและผู้ปกครองก็สนับสนุน
นอกจากนี้ ทางอบต.ร่อนทองจัดประกวดหนังสั้นเรื่อง safe sex ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เยาวชนริเริ่มและทำขึ้นเอง จึงเป็นที่สนใจของวัยรุ่นเข้ามาดูแล้วมีความรู้ ซึ่งความสำเร็จของบางสะพาน เกิดจากความร่วมมือของสาธารณสุข โรงเรียน ชุมชน และท้องถิ่นจับมือกันทำงานอย่างต่อเนื่อง
ด้าน ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า บทเรียนการทำงานที่ผ่านมา พบว่าปัจจัยความสำเร็จ คือการทำงานร่วมกันใน 9 ภารกิจ คือ 1.การมีกลไกประสานการทำงานในทุกระดับที่เข้มแข็ง 2. การพัฒนาทักษะผู้ปกครองในการคุยเรื่องเพศกับลูก 3.มีกลไกสนับสนุนให้สถานศึกษาสอนเรื่องทักษะชีวิตและเพศวิถีศึกษารอบด้าน 4.การทำงานป้องกันเชิงรุกในกลุ่มเปราะบาง 5.รณรงค์สื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักและทราบแหล่งให้ความช่วยเหลือเมื่อประสบปัญหา 6.การมีหน่วยบริการสุขภาพที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น 7.ระบบดูแลช่วยเหลือที่เชื่อมโยงระหว่างสุขภาพ การศึกษาและสวัสดิการสังคม 8.มีพื้นที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กเยาวชน โดยท้องถิ่นร่วมสนับสนุน และ 9.มีระบบติดตามประเมินเพื่อพัฒนาการทำงานอย่างต่อเนื่อง
กลไกการทำงานที่เข้มแข็งในพื้นที่ จะช่วยให้เจตนารมณ์และเป้าหมายตาม พ.ร.บ. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ใน วัยรุ่น พ.ศ.2559 มีโอกาสบรรลุผลลัพธ์อย่างมีประสิทธิภาพ ภายในคลินิควัยรุ่นเชื่อมโยงจากกลไกเชิงนโยบายของ 5 กระทรวงหลักสู่กลไกปฏิบัติการในพื้นที่ เชื่อมโยงระหว่างโรงเรียน สถานบริการสุขภาพ ระบบสวัสดิการครอบครัว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานประกอบการ
อำเภอบางสะพานมีทีมทำงานทั้งระดับอำเภอและตำบล ขับเคลื่อนทั้ง 9 ภารกิจอย่างเข้มแข็งเกิดผลที่ดีเยี่ยม จึงถือเป็น อำเภอต้นแบบของจังหวัด จำนวนแม่วัยรุ่นลดลงอย่างชัดเจน จากปี 2557 ที่อัตรา 58.9 เหลือ 39.2 ต่อวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ในปี 2559