ถอดบทเรียน’เจน-วี’ จิตอาสารุ่นใหม่รับมือ”น้องน้ำ”

วิกฤตน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้ได้เห็น “พลังจิตอาสา” เกิดขึ้นมากมาย ทั้งที่เป็นกลุ่มคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือประชาชน หน่วยงานรัฐ เอกชนต่างๆ กลุ่มนักศึกษา ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ใจอาสาเพื่อผู้ประสบภัย ที่เรียกตัวเองว่า “เจน-วี (gen-v)”

ถอดบทเรียน'เจน-วี' จิตอาสารุ่นใหม่รับมือเจน-วีเกิดขึ้นจากค่าย “โครงการฟี้นฟูสุขภาวะผู้ประสบอุทกภัย”  ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับมูลนิธิโกมลคีมทอง รวมพลังของคนหนุ่มสาวที่มีจิตอาสา มีประสบการณ์ทำงานค่าย หรือภาคีเครือข่ายที่มีบทบาทสนับสนุนงานอาสาสมัคร ดำเนินกิจกรรมในลักษณะอาสาสมัคร เพื่อช่วยเหลือฟี้นฟูชุมชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

เพ็ญพักตร์ ไชยสงเมือง หนึ่งในผู้ประสานงาน เล่าให้ฟังว่า กลุ่ม เจน-วีเริ่มต้นจากการใช้พื้นที่สวนโมกข์ กรุงเทพฯ เพื่อขอรับบริจาคสิ่งของ แล้วส่งมอบให้กับพื้นที่ประสบภัยในจังหวัดต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น

ช่วงสัปดาห์แรก มีของบริจาคหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย ทางกลุ่มจัดเป็นถุงยังชีพ ที่เรียกว่าถุงยังชีพในอุดมคติ มีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลา กระป๋อง ข้าวสาร น้ำดื่ม สบู่ ยาสีฟัน ทิชชู ถุงดำ แต่เมื่อน้ำเริ่มรุกคืบเข้ามาใกล้กรุงเทพฯมากขึ้น เริ่มมีการกักตุนอาหาร ของบริจาคก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เหลือแต่ข้าวสาร อาหารที่กินง่ายอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง แทบไม่มีมาบริจาค เพราะคนที่อยากบริจาคก็ไม่สามารถซื้อได้เช่นกัน

“เมื่อเกิดปัญหาเราก็โทรศัพท์หาโรงงานต่างๆ เพื่อขอรับบริจาคสิ่งของ และได้ปรับเปลี่ยนวิธีช่วยเหลือ คือเป็นการทำข้าวกล่องไปแจกในพื้นที่ ให้เขาสามารถกินได้เลย ไม่ยุ่งยากในการประกอบอาหาร เพราะบางพื้นที่ก็ไม่มีไฟฟ้า ถูกตัดน้ำตัดไฟ” เพ็ญพักตร์อธิบาย

ถอดบทเรียน'เจน-วี' จิตอาสารุ่นใหม่รับมือแต่งานทุกอย่างก็ล้วนมีอุปสรรค วีราภัชร์ เพิ่มพูนศุภฤกษ์ เด็กหนุ่มที่ช่วงหนึ่งได้แต่มองดูข่าวน้ำท่วมจากโทรทัศน์ จนเมื่อน้ำเริ่มคืบคลานเข้าใกล้ และเขาคิดว่าไม่อาจนั่งนิ่งเฉยต่อสถานการณ์ตรงหน้าได้อีกต่อไปแล้ว ในที่สุดได้ผันตัวเองมาเป็นอาสาสมัครของกลุ่ม ทำงานต่อเนื่องจนปัจจุบัน

ชายหนุ่มเล่าว่า ปัญหาในการส่งข้าวกล่องเข้าไปในพื้นที่ พบว่ากว่าอาหารจะเดินทางไปถึง ต้องนั่งรถฝ่าน้ำท่วมไป ใช้เวลานานหลายชั่วโมง อาหารที่ทำส่งไปบางทีก็เสียหายจากการขนส่ง บางทีข้าวก็เสีย กินได้แต่กับข้าว ข้าวกล่องเสียหายถือเป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะชาวบ้านผู้ประสบภัยก็ย่อมคาดหวังกับอาหารที่จะได้รับ 

“จนมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบความช่วยเหลือมาเป็นการจัดตั้งโรงครัวขึ้นในพื้นที่ จากที่ต้องเอาข้าวกล่องไปแจกได้ที่เดียว เราก็สามารถขยายพื้นที่การช่วยเหลือไปได้ โดยเปลี่ยนมาเป็นส่งของสดและเครื่องปรุงให้โรงครัวอาทิตย์ละครั้ง”

อุปสรรคของคนทำงานก็ยังไม่หมด เมื่อน้ำเข้าท่วมศูนย์ บริเวณสวนโมกข์ กรุงเทพฯ จำเป็นต้องย้ายไปอยู่สวนโมกข์ จังหวัดสมุทรสงคราม เหมือนวิกฤตเปลี่ยนเป็นโอกาส เมื่อทางกลุ่มได้ประสานงานกับเครือข่ายภาคประชาชนแม่กลอง ซึ่งที่นี่ทางกลุ่มได้กลับมาจัดถุงยังชีพที่เอื้อกับชุมชนมากขึ้น เปลี่ยนจากปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มาเป็นปลาแห้ง กะปิ น้ำพริก ที่หาซื้อได้ง่ายในชุมชน เป็นถุงยังชีพแนวใหม่ ที่ไม่ขาดแคลนเหมือนเดิม 

“เหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้กัน ชาวบ้านที่แม่กลองก็สอนเราว่าของที่หาได้ง่ายๆ ในชุมชนก็มี เราไม่จำเป็นที่จะต้องจัดถุงยังชีพแบบที่เคยทำมา มีหลายพื้นที่ที่เรากลับไปเยี่ยม ก็บอกว่ารอดมาได้เพราะน้ำพริกนี่แหละ”

ชุมชนศรีบูรพา บ้านแดนชะโด 2 เขตคลองสามวา ก็เป็นชุมชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมนานกว่า 3 เดือน และเป็นชุมชนที่ได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มเจน-วี โดยได้เข้าไปช่วยตั้งโรงครัว ส่งอาหารสดให้ทุกอาทิตย์  

ถอดบทเรียน'เจน-วี' จิตอาสารุ่นใหม่รับมือแม้น้ำท่วมใหญ่จะผ่านพ้นไป แต่ความผูกพันที่เคยช่วยเหลือกันก็ยังคงอยู่มาจนปัจจุบัน วัดได้จากความรู้สึกของ สมคิด สมันเลาะห์ ประธานชุมชน บอกว่า รู้สึกขอบคุณกลุ่มเจน-วีมาก เขาเอาอาหารสดมาให้ทุกอาทิตย์ ทั้งที่อาหารอิสลามก็หายากมากในช่วงน้ำท่วม ทุกวันนี้ทางกลุ่มเขาก็ยังมาให้ความรู้เรื่องการปลูกผักสวนครัว การตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ จัดตั้งกลุ่มวัยรุ่นเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นอีก

ปัจจุบันกลุ่มเจน-วีมีทีมทำงานกว่า 7 คน และยังร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ อาทิ กลุ่มสลึง, หอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ, มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน, เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน, ตลาดสีเขียว, เครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดสมุทรสงคราม เข้าไปเตรียมความพร้อมให้กับชุมชนที่เพิ่งผ่านพ้นวิกฤตน้ำท่วม ถอดประสบการณ์ จุดอ่อนจุดแข็งจากการช่วยเหลือในปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลชุมชน ว่ามีคนอยู่เท่าไหร่ กี่ครัวเรือน เพื่อง่ายในการช่วยเหลือหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำ หรือแม้แต่เตรียมชุมชนให้เขาสามารถที่จะติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอความช่วยเหลือ ให้เป็นชุมชนที่ช่วยเหลือตัวเองได้ในยามที่เกิดภัยพิบัติใน 7 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่คลองสามวา บางเลน คลองโยง ลาดหลุมแก้ว บางใหญ่ บางบาล เชียงรากใหญ่

ลำพังแค่พลังอาสาอาจไม่สามารถช่วยเหลือทุกชุมชนได้ ฉะนั้นชุมชนที่มีความเสี่ยงกับภัยพิบัติคงต้องเรียนรู้ และเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติในรูปแบบต่างๆ ที่กำลังจะมาถึงด้วย

หน้าน้ำระลอกใหม่นี้เตรียมความพร้อมรับมือไว้ก็คงจะเป็นการดีไม่น้อย ใครสนใจขอคำแนะนำจากกลุ่มเจน-วี คลิกเข้าไปได้ที่ http://www.facebook.com/genv2011

แล้ว “น้องน้ำ” จะเป็นแค่เรื่องจิ๊บๆ

เรื่อง: ทิพย์สุดา มะสิทธิ์
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

Shares:
QR Code :
QR Code