ถอดบทเรียนพฤติกรรม”เสี่ยง”ช่วงเทศกาลปีใหม่
เป็นที่รู้กันว่าในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวอย่างเทศกาลปีใหม่ ถือเป็นช่วงที่ เกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด จนบางคนเรียกว่า เป็นเทศกาลตายหมู่ ถึงแม้จะมีหน่วยงานของรัฐออกมารณรงค์เตือนสติเหล่านักท่องเที่ยวในช่วง 7 วันอันตราย แต่ตัวเลขล่าสุดจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระหว่างวันที่ 27 ธ.ค.2555 ถึง 2 ม.ค.2556 มีจำนวนอุบัติเหตุ เกิดขึ้น 3,176 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 365 ราย ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่า ปีที่ผ่านมา
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัย ทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า จากการวิเคราะห์แบบแผนพฤติกรรมที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่จากปีที่ผ่านมา มีอยู่ 2 ลักษณะ 1.ช่วงระหว่างเดินทางไป-กลับ ความเสี่ยงเกิดจากการขับรถด้วยความเร็วสูง ง่วงแล้วขับ บรรทุกน้ำหนักเกิน และ ความอ่อนล้าสะสมจากการขับขี่ใน ระยะเวลานานที่เกิดจากปัญหารถติดและไม่มีคนเปลี่ยนมือ ซึ่งตามหลักสากลในทุก 2 ชั่วโมง ผู้ขับขี่ต้องพักประมาณ 30 นาที 2.ช่วงเฉลิมฉลองเป็นช่วงที่มี ผู้เสียชีวิตสูง ความเสี่ยงเกิดจากดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และขับขี่ยานพาหนะ
ในปีที่ผ่านมาพบว่า ผู้ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 45% ไม่สวมหมวกกันน็อคหรือคาดเข็มขัดนิรภัย รวมถึงมาตรการที่มีอยู่ ไม่ตอบสนองต่อพฤติกรรม เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมาย จะเน้นอยู่ในช่วงเวลากลางวัน แต่อุบัติเหตุมักเกิดช่วงกลางคืน เพราะคนเริ่มดื่มฉลองกันตอนเย็นและขับขี่ยานพาหนะในตอนดึกเพื่อทำกิจกรรม อาทิ เคาท์ดาวน์ “แต่ในปีนี้แบบแผนจะเปลี่ยนไป จำนวนผู้เสียชีวิตจะมากขึ้น จากช่วงเดินทางไม่ใช่ช่วงเฉลิมฉลอง เนื่องจากรัฐบาลประกาศให้หยุดถึงวันที่ 1 ม.ค. เท่ากับทุกคนต้องรีบเดินทางกลับในวันที่ 1 เพื่อมาทำงานในวันที่ 2 ซึ่งตรงกับ วันพฤหัสบดี ซึ่งแน่นอนว่าคืนวันที่ 31 ทุกคนต้องดื่มฉลองและอยู่เคาท์ดาวน์จนดึก พอตื่นมาก็ต้องขับรถกลับเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งปีที่แล้ว ในวันที่ 1 ก็มีผู้เสียชีวิตถึง 78 ศพ ฉะนั้นต้องเฝ้าระวังเรื่องความ อ่อนล้าจากการขับขี่เป็นพิเศษ ผมอยาก ให้มีจุดตรวจถี่ขึ้นเพื่อกระตุ้นผู้ขับขี่อยู่ เป็นระยะ”
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวต่ออีกว่า การแก้ไขปัญหาในช่วงเฉลิมฉลองต้องให้กฎหมายไปเข้มงวดในช่วงที่มีความเสี่ยง และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนของ ท้องถิ่นทำงานเชิงรุกมากขึ้น ไปเคาะ ประตูบ้านที่จัดกิจกรรม พร้อมเตือนไม่ให้ขับขี่บนท้องถนน เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงทั้งตนเองและผู้ร่วมใช้รถใช้ถนน
สำหรับอีกหนึ่งปัจจัยของการเกิดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลเกิดขึ้นที่จุดท่องเที่ยว เราพบว่าคนเดินถนนเสียชีวิตถึง 8% สำคัญคือเป็นคนในชุมชนละแวกนั้น แบบแผนนี้ชี้ให้เห็นว่า คนในชุมชนเกิด ความเสี่ยง เนื่องจากปริมาณรถของ นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนเพิ่มขึ้น แต่ ชาวบ้านยังข้ามถนนแบบเดิมไม่ได้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงร้านขายของข้างทางที่มักเกิดเหตุการณ์รถเสียหลักเข้าชน ปีนี้จึงอยากให้จุดที่มีแหล่งท่องเที่ยวเตรียมมาตรการรองรับ การจัดระเบียบร้านขายของริมทางให้พร้อม
ส่วนภาพรวมการเกิดอุบัติเหตุของ ทั้งประเทศ นพ.ธนะพงศ์บอกว่า จำนวน การเกิดอุบัติเหตุถือว่า ทรงตัว แต่จำนวน ผู้เสียชีวิตมากขึ้น เพราะดัชนีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยหลักเกิดจากความเร็วในการขับขี่และการใช้อุปกรณ์นิรภัยต่ำ ภาพรวมทั้งประเทศมีการใช้หมวกนิรภัยเพียง 43% ทั้งที่การสวมหมวกนิรภัยสามารถลดการบาดเจ็บจากเหตุรุนแรง 72%ลดความตายได้ถึง 40%
นอกจากปัจจัยในเรื่องของพฤติกรรมแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญอย่างเกี่ยวโยงกันและทำให้เกิดความดัชนีความรุนแรง เพิ่มมากขึ้นก็คือกายภาพทางท้องถนน นพ.ธนะพงศ์ ระบุว่า ผลการสำรวจจากกรมทางหลวงพบว่า 43% ของผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนไม่มีคู่กรณี แต่มีการ เสียชีวิตถึง 34% เท่ากับว่า 1 ใน 3 ของ การเสียชีวิตไม่ได้เกิดจากคู่กรณี แต่เกิดจากวัตถุอันตรายข้างทาง อย่างต้นไม้ เสาไฟ หิน หรือกายภาพของท้องถนน
ผู้จัดการศวปถ. กล่าวอีกว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นในถนนสายรองหรือ ถนนตามชุมชน แต่หากเปรียบเทียบเฉพาะการเสียชีวิต 67% หรือ 3 ใน 4 เกิดบริเวณถนนสายหลักหรือจุดที่เชื่อมกับถนนสายหลักมากกว่า เนื่องจากกายภาพของถนนสายหลักในประเทศไทย มีจุดเชื่อมทางแยกและมีจุดกลับรถกลางถนน “เราต้องทบทวนการออกแบบทางกายภาพ แก้ไขจุดเสี่ยงและทำให้ถนน บ้านเรามีลำดับชั้น อย่างเช่นถนนมอเตอร์เวย์ที่ไม่มีวัตถุอันตรายข้างทาง ไม่เอา รถความเร็วต่ำมาอยู่บนเส้นทางเดียวกัน ไม่มีที่กลับรถ ฉะนั้นมอเตอร์เวย์ถือเป็นถนนปลอดภัยเพียงเส้นเดียวที่ประเทศไทยมี เพราะความเป็นจริงถนนหลักของเรามีมอเตอร์ไซค์มาปน มีจุดเชื่อมเข้าหมู่บ้าน เข้าห้างสรรพสินค้าทุกๆ 50 เมตร มีที่กลับรถกลางถนนที่อันตราย ซึ่งถือว่าเป็นจุดสำคัญที่ต้องเร่งปรับปรุง”
‘เราต้องทบทวน การออกแบบ ทางกายภาพ แก้ไขจุดเสี่ยง และทำให้ถนนเรามีลำดับชั้น’
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ