ถอดบทเรียนธนาคารเวลา สร้างหลักสูตรเรียนรู้สังคมสูงวัย
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
สสส. จับมือ ม.สยาม – ภาคีเครือข่าย จัดมหกรรมไฮบริด ถอดบทเรียน “ธนาคารเวลา” ดัน นโยบายสาธารณะ ชูต้นแบบพื้นที่เขตภาษีเจริญ ออมเวลาแทนเงิน สร้างหลักสูตรเรียนรู้สังคมสูงวัย ทำความเข้าใจเด็ก-เยาวชน-นักศึกษา
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2565 ที่มหาวิทยาลัยสยาม โดยศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน (ศวพช.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเขตภาษีเจริญ และภาคีเครือข่าย จัดนิทรรศการไฮบริด สปีด…รับวิกฤติ…“สังคมสูงวัย”“ธนาคารเวลา สำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ” ทำที่ “ใช่” ให้ที่ “ชอบ” ออม “เวลา” แทน “เงิน” ขับเคลื่อนสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ เพื่อสุขภาวะที่ดี
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้สูงอายุในประเทศเกือบร้อยละ 20 ของประชากร หรือประมาณ 13 ล้านคน โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี การทำให้ผู้สูงอายุมีความเป็นอยู่ที่ดี สามารถดูแลตัวเองได้ และสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างวัยผู้สูงอายุกับคนวัยอื่น ๆ ถือเป็นเป้าหมายของ สสส. และได้จึงสนับสนุนโครงการพัฒนาการดำเนินงานธนาคารเวลาเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ในเขตภาษีเจริญ ภายใต้แนวคิด ทำที่ “ใช่” ให้ที่ “ชอบ” ออม “เวลา” แทน “เงิน” มีเป้าหมายสำหรับทุกกลุ่มวัย ที่จะได้รับผลกระทบจากการเป็น “สังคมสูงวัย” ส่งเสริมให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูล และสร้างกระชับความพันธ์ระหว่างคนในชุมชน “ธนาคารเวลา” ให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ขยายแนวคิดให้ยั่งยืนไปยังพื้นที่ต่าง ๆ และเป็นส่วนหนึ่งเพื่อเสริมนโยบายรองรับสังคมสูงวัยของภาครัฐที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ โดยเฉพาะการผลักดันประเด็นสังคมสูงวัยให้เป็น เพื่อให้เกิดการพัฒนาระบบและส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุภายใต้ระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่องสังคมสูงอายุ โดยธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัยเป็น 1 ใน 10 ประเด็นเร่งด่วน ที่จะดำเนินการขับเคลื่อนให้เกิดผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม
“สถานการณ์สังคมสูงวัยของประเทศไทยขยายตัวต่อเนื่อง อีกไม่ถึง 20 ปีข้างหน้า จะมีผู้สูงอายุ มากขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด นั่นคือ ไทยจะเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัยระดับสูงสุด” (Super – aged society) หากไม่เตรียมความพร้อม อาจมีผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือต้องการผู้ดูแล สสส. ตระหนักและให้ความสำคัญกับผลกระทบของ “สังคมสูงวัย” ที่ส่งผลต่อสุขภาวะของคนไทย จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนารูปแบบการดำเนินงาน “ธนาคารเวลาเพื่อรองรับสังคมสูงวัย” ที่สอดรับกับบริบทพื้นที่ แต่ยึดหลักการ ความเชื่อ แนวคิดเดียวกัน ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมทางสังคมที่มีคุณค่าในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้าน เครือญาติที่ห่างหายไป ก่อให้เกิดสังคมของความเอื้ออาทรช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้มีการพัฒนาในพื้นที่และเครือข่ายต่าง ๆ กว่า 50 แห่ง
โดยในพื้นที่เขตภาษีเจริญมีสถาบันการศึกษา ศวพช. ม.สยาม และเครือข่ายที่ เป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือจากผู้คนในพื้นที่ชุมชน หน่วยงานทุกภาคส่วน และระดมพลังถอดบทเรียน เพื่อก้าวต่อ ซึ่ง สสส. พร้อมหนุนเสริม และคาดหวังจะขยายผลไปสู่พื้นที่เขตอื่น ๆ ของ กทม. ซึ่งหากมีการหนุนเสริมจากภาคนโยบายของ กทม. ชุมชนและทุกฝ่ายอย่างบูรณาการ จะนำมาซึ่งพลังการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีต่อไป" นางภรณี กล่าว
ผศ.ดร.เนตร หงษ์ไกรเลิศ รองประธานมูลนิธิวิจัยเพื่อพัฒนามนุษย์และชุมชน และในฐานะเลขานุการร่วมในคณะกรรมการกำกับทิศทางธนาคารเวลาเพื่อรองรับสังคมสูงวัย สสส. กล่าวว่า แนวคิด “ธนาคารเวลา” ออกแบบขึ้นมาเพื่อปรับกระบวนทัศน์สังคม ให้มีแผนรับมือกับสังคมสูงวัยในประเทศไทย ด้วยการทำให้ทุกคนเห็นว่า การ “ออมเวลา” สำคัญไม่น้อยไปกว่าการ “ออมเงิน” และทุกคนมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน ก็สามารถทำให้ชีวิตประจำวันของตัวเองมีคุณค่าได้ทุกช่วงวัย ในเขตภาษีเจริญได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากเป็นพื้นที่เดิมที่ สสส.เคยสนับสนุนการทำงานด้านเครือข่าย นำร่อง 8 พื้นที่ 1 สถานประกอบการ มีสมาชิกธนาคารเวลาจำนวน 160 คน แบ่งกลุ่มย่อยตั้งแต่กลุ่มละ 9 – 30 คน จากสภาพพื้นที่ชุมชนกึ่งเมือง มีทั้งบ้านจัดสรร ชุมชนบ้านมั่นคง และสถานประกอบการ โดยคนทุกช่วงวัยที่สนใจต้องระบุคุณสมบัติเพื่อสมัครเป็นสมาชิก อาทิ ขับรถ ซ่อมไฟฟ้า เปลี่ยนก๊อกน้ำ ตัดต้นไม้ ทำความสะอาดบ้าน ดูแลสัตว์เลี้ยง ย้อมผม ตัดผม แม้กระทั่งตัดเล็บ เพราะมีผู้สูงอายุบางคนที่ตัดเล็บเท้าตัวเองไม่ได้ จากนั้นจะแบ่งกลุ่มแล้วจัดสรรเวลาดูแลผู้สูงอายุต่อไป
“โควิด-19 ที่ผ่านมา ธนาคารเวลาปรับกลยุทธ์จัดทำศูนย์พักคอยในชุมชน ช่วยทำอาหาร ไปซื้อของให้ผู้ติดเชื้อ ถ้าผู้ป่วยเป็นสมาชิกเก็บเวลาแลกกันไป ถ้าไม่เป็นสมาชิกก็ทำให้โดยไม่คิดเวลา เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ธนาคารเวลา ทำให้คนในชุมชนคนรู้จักกันมากขึ้น ที่สำคัญลดค่าใช้จ่าย เช่น ไม่ต้องเสียเงินจ้างช่างไฟฟ้า ไม่ต้องเสียเงินตัดต้นไม้ ครั้งละ 2,000-3,000 บาท เป้าหมายสุดท้ายของธนาคารเวลาคือ สร้างสังคมที่เข้มแข็ง สำหรับพื้นที่อื่นที่ต้องการทำ ไม่ต้องรีบร้อน เริ่มจากเล็กๆ อย่าให้มีระบบการสั่งการจากผู้นำ ต้องสร้างความเข้าใจก่อน ธนาคารเวลาถ้ามีการบังคับกันจะไปต่อกันไม่ได้” ผศ.ดร.เนตร กล่าว
ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวว่า การได้รับโอกาสให้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน “ธนาคารเวลา” เพื่อรองรับสังคมสูงวัยในเขตภาษีเจริญ ซึ่งขณะนี้มีทั้งหมด 9 สาขาในพื้นที่ ทำให้มหาวิทยาลัยสยามพัฒนาหลักสูตร “สังคมสูงวัย” ขึ้นมา เพื่อบรรจุเข้าไปในเนื้อหาการเรียน การสอน เพื่อให้นักศึกษาทุกคนเรียนรู้สถานการณ์ ความสำคัญ ปัญหา และสร้างความเข้าเรื่องผู้สูงอายุ ในภาวะที่ประเทศไทยเข้าสู่ยุคสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ “ธนาคารเวลา” คือจุดเริ่มต้นที่จะทำให้คนทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะเด็ก-เยาวชน มีจิตสาธารณะ คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคม จึงเสนอให้สถาบันการศึกษาในกรุงเทพมหานคร และทั่วประเทศ นำแนวคิดนี้ไปใช้ในหลักสูตรการเรียนการสอน
นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัด กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ถึงเวลาที่ทุกคนในสังคมต้องตระหนัก และหันมาวิเคราะห์ถึงผลกระทบของโครงสร้างประชากรแต่ละวัยที่เปลี่ยนไปอย่างน่าตกใจ จนส่งผลให้เกิดเป็น “สังคมสูงวัย” และดูว่าจะก้าวไปสู่การเป็น “สังคมสูงวัยระดับสูงสุด” อย่างไรในอนาคต ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร เห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่ต้องปรับกระบวนการพัฒนาและวิธีคิด เพื่อให้คุณค่ากับ “ทักษะ”ของคนที่มีดีอยู่ในตัวเอง ให้สามารถนำออกมาใช้ได้ และส่งเสริมให้เกิดการ “ออม” ยามจำเป็น ในรูปแบบ “เวลา” โดยไม่ต้องใช้ “เงิน” ให้มากขึ้น เพื่อช่วยให้ทุกคนในพื้นกรุงเทพมาหานครมีความสัมพันธ์ที่ดี
“น่ายินดีที่ขณะนี้ ก่อเกิดธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ นำร่องแล้ว 9 สาขา ซึ่งอาจมีเส้นทางการพัฒนาที่แตกต่างกันออกไป แต่ทุกย่างก้าวคือบทเรียนที่มีค่า กทม. พร้อมหนุนเสริมทุกมิติ และจะร่วมถอดบทเรียน ขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนา “ธนาคารเวลา” รองรับสังคมสูงวัยของ กทม. ผ่านการพัฒนาแบบเร่งสปีดเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ เพราะต้องเรียนและรู้ไปด้วยกัน และแต่ละพื้นที่ต่างมีบริบทที่แตกต่างกันออกไปด้วย” นายเฉลิมพล โชตินุชิต กล่าว