ถอดบทเรียนทีมแพทย์ จอมบึงมาราธอน

ในวงการวิ่งมาราธอน ว่ากันว่าหากคุณเป็นนักวิ่งแล้วจะต้องลองมาพิชิตสนามจอมบึงมาราธอนให้ได้สักครั้ง ซึ่งงานจะจัดในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี เพราะชื่อเสียงของการจัดงานที่เป็นระบบ อีกทั้งเหล่ากองเชียร์ตัวน้อยและชาวบ้านที่ตั้งแถวส่งแรงเชียร์ให้นักวิ่งตลอดทางกลายเป็นสีสันของงาน จึงไม่ต้องแปลกใจเมื่อเปิดรับสมัครเพียง 3 วัน มีนักวิ่งสมัครเข้ามาร่วมถึง 8,000 คนจนต้องปิดรับสมัครทันที


ถอดบทเรียนทีมแพทย์ จอมบึงมาราธอน thaihealth


งานวิ่ง สสส.จอมบึง ครั้งที่ 31 ที่จัดขึ้นในวันที่ 17 ม.ค. 2559 ที่ผ่านมา ในปีนี้เหล่านักวิ่งได้เห็นความก้าวหน้าของการจัดงาน สิ่งหนึ่งที่ตอกย้ำความเป็นมาตรฐานของงานวิ่งชาวบ้านมาตรฐานสากล คือเรื่องของทีมแพทย์ดูแลนักวิ่ง สนามนี้ได้แพทย์ผู้มีประสบการณ์จากบอสตันมาราธอนมาดูแลนักวิ่งตั้งแต่ก่อนการแข่งขัน ทำงานตั้งแต่ตี 3 จนนักวิ่งคนสุดท้ายเข้าเส้นชัยในตอนบ่ายสองโมง


นพ.ภัทรภณ อติเมธิน แพทย์ด้านการกีฬา สาขาอาการบาดเจ็บจากการวิ่ง รพ.สมิติเวช ในฐานะผู้มีประสบการณ์ร่วมทีมแพทย์งานในสนามวิ่งบอสตันมาราธอน สหรัฐอมริกา เล่าถึงการเตรียมการเรื่องทีมแพทย์ในงานสนามจอมบึงมาราธอนว่า งานนี้มีทีมแพทย์ 60 คนและอาสาสมัคร กู้ภัย กู้ชีพรรวมแล้ว 100 ชีวิตต่อปริมาณนักวิ่งร่วมหมื่นคน (รวมนักวิ่งไร้เบอร์) แตกต่างจากบอสตันมาราธอนที่มีทีมแพทย์จำนวน 400-500 คนในจำนวนนักวิ่งที่หลักหมื่นคน แต่งานวิ่งสสส.จอมบึงก็ถือว่าเป็นงานวิ่งที่มีการเตรียมการเรื่องทีมแพทย์ ทีมกู้ชีพที่ดี และการสื่อสารอย่างเป็นระบบ มีทั้งทีมกู้ชีพจักรยาน และมอเตอร์ไซค์ตลอดเส้นทางวิ่ง นับว่าสมบูรณ์ที่สุดในงานวิ่งของประเทศไทย


ทีมปฐมพยาบาลมีระบบการสั่งการแบบมีศูนย์กลาง โดยมีหัวหน้าทีมป็นผู้ตัดสินใจในการนำรถพยาบาล สั่งการเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันการผิดพลาด ต้องสั่งการอย่างรวดเร็วและแม่นยำที่สุดเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เพราะถือว่าเป็นเรื่องของวิกฤติ ถอดบทเรียนทีมแพทย์ จอมบึงมาราธอน thaihealthนอกจากนี้ในงานนี้ยังมีเครื่องมือที่ทันสมัย เครื่องฟื้นคืนชีพหัวใจ (AED) มาประจำสนาม


งานวิ่งสสส.จอมบึงครั้งนี้ได้เกิดอุบัติเหตุนักวิ่งชายวัย 29 ปี หัวใจหยุดเต้นก่อนถึงเส้นชัย 500 เมตรแต่โชคดีว่าเหล่าเพื่อนนักวิ่งเข้าไปปั๊มหัวใจทัน ขณะที่แพทย์ได้ใช้เครื่องฟื้นคืนชีพหัวใจ ทำให้ชีพจรกลับมา และส่งต่อรพ.สำเร็จ ในที่สุดแพทย์จากโรงพยาบาลอนุญาตให้คนไข้กลับบ้านได้ หลังจากทำแผลที่ใบหน้าและแขนหลังจากหกล้ม ผู้ประสบเหตุบอกว่าอาจเพราะนอนน้อย และพยายามเร่งฝีเท้า ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่มีโรคประจำตัวและไม่เคยเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้


นพ.ภัทรภณ กล่าวว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โอกาสที่นักวิ่งจะหัวใจหยุดเต้นนั้นมี ดังนั้นเครื่องฟื้นคืนชีพหัวใจควรจะมีคู่กับสนามวิ่ง เพราะการปั๊มหัวใจคือการยื้อชีวิตเมื่อคนไข้ช็อก แต่ทั้งนี้นักวิ่งต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ นักวิ่งควรฝึกซ้อมอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่าเร่งความเร็วในขณะที่ร่างกายไม่พร้อม ถ้าวิ่งแบบค่อยเป็นค่อยไปร่างกายจะแข็งแรงขึ้น เรื่อย ๆ อาการบาดเจ็บจะไม่เกิดขึ้น


หมอผู้เชี่ยวชาญอาการบาดเจ็บจากการวิ่ง บอกว่าอาการฉุกเฉินที่เกิดขึ้นจากการวิ่งที่พบคือ ผู้วิ่งเป็นลมหมดสติ ขาดน้ำ ขาดเกลือแร่ อาการที่ร่างกายร้อนเกินไป เย็นเกินไปหรือว่าหัวใจหยุดเต้น สิ่งสำคัญต้องเข้าถึงตัวผู้ป่วยให้เร็วที่สุด และประเมินด้วยวิธีง่าย ๆ ว่ารู้สึกตัวหรือไม่ ถ้าไม่รู้สึก ไม่ได้หายใจ ต้องเพิ่มขั้นตอนการกู้ชีพ


นอกจากนี้ยังพบว่านักวิ่งมีอาการปวดเข่า ปวดข้อ ปวดน่อง เป็นตะคริว อาการตะคริวจัดการในเบื้องต้นด้วยวิธีการนวด โดยแพทย์จะประเมินว่าสามารถวิ่งต่อไปได้หรือไม่ หากนักวิ่งฝืนกล้ามเนื้อจะอักเสบได้


สำหรับคนที่น้ำหนักตัวเยอะอยากวิ่งออกกำลังกายหมอผู้เชี่ยวชาญอาการบาดเจ็บจากการวิ่ง แนะนำว่าก่อนที่จะเริ่มวิ่งถอดบทเรียนทีมแพทย์ จอมบึงมาราธอน thaihealthควรออกกำลังกายอย่างอื่นก่อน เช่น ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ หรือเดิน แต่ต้องทำให้สม่ำเสมอจนน้ำหนักตัวเริ่มลงจึงเริ่มใส่การวิ่งเข้าไป


"จากงานวิจัยการวิ่งไม่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น แต่น้ำหนักตัวต่างหากที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง น้ำหนักตัวจะลดลง จะช่วยชะลอเรื่องข้อเข่าเสื่อมด้วยซ้ำ"


นพ.ภัทรภณ กล่าวอีกว่า ท่าวิ่งก็มีผลต่ออาการบาดเจ็บจากการวิ่ง การก้าวเท้าที่เร็วขึ้นในเพซเท่าเดิมทำให้เท้าใกล้ลำตัวมากที่สุด จะลดแรงกระทำของเท้าให้ลดลง การลงเท้าที่ผิดคือการลงส้นเท้าขณะที่เข่ายังตึงอยู่ทำให้เกิดแรงกระทำที่เข่าเรียกว่าโอเวอร์ สไตรท์ จึงเกิดอาการบาดเจ็บตามมา


จอมบึงมาราธอนครั้งที่ 31 จบลงด้วยความชื่นมื่น ปีหน้าจะปรับให้ได้มาตรฐานกว่านี้ สุดท้าย นพ.ภัทรภณ ฝากไว้ว่าควรเพิ่มจำนวนของเวชภัณฑ์โดยเฉพาะสเปรย์ลดปวด งานนี้เตรียมสเปรย์ไว้ 200 ขวดแต่ไม่พอ เพราะนักวิ่งเป็นตะคริวจำนวนมาก เช่นเดียวกับการเตรียมตัวของนักวิ่งที่ต้องซ้อมอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งเรียนรู้เทคนิคการวิ่งที่ถูกต้องจะช่วยให้เข้าเส้นชัยโดยไม่มีอาการบาดเจ็บติดตัวกลับบ้าน.


 


 


ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ 


ภาพประกอบจาก Volunteer AED Club และแฟ้มภาพ

Shares:
QR Code :
QR Code