ถอดบทเรียนต้านข่าวลวง Fake News ของไต้หวัน
ที่มา : เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา
ภาพโดย สสส.
การต่อต้านข่าวลวง Fake News สิ่งแรกทีไต้หวันทำ คือเรื่องของเวลา ตอบสนองทันเวลา เมื่อเรารับข้อมูลเท็จหรือข้อมูลที่ผิดพลาด เราจะต้องแถลงแก้ไขหรือชี้แจงข่าวภายในหนึ่งชั่วโมงหรือหกสิบนาที
วันที่ 17 มิ.ย. 2562 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), องค์การกระจายเสียง และแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS), คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ จัดงานเสวนาแลกเปลี่ยนบทเรียนระหว่างประเทศ “International Conference on Fake News” เพื่อรับมือกับปัญหาข่าวลวง ข่าวปลอม ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ้๊นเซส กรุงเทพฯ
ช่วงหนึ่งในงาน ออเดรย์ ถัง (Audrey Tang) รัฐมนตรีดิจิทัลของไต้หวัน กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาข่าวลวง ข่าวปลอม ว่า ก่อนจะมาทำงานกับรัฐบาลไต้หวัน เป็นนักแฮกเกอร์มาก่อน ทุกภาคส่วนล้วนมีบทบาทและหน้าที่ของตนเอง อาทิ ภาครัฐมีหน้าที่ในส่วนการให้ความปลอดภัยในการสื่อสาร นักข่าวมีหน้าที่ในเรื่องของการค้นหาความจริงของข้อมูล
สำหรับไต้หวันมีค่านิยมที่อิสระและเปิดกว้าง มีเสรีภาพในการพูดหรือแสดงความคิดเห็น ข่าวลือ ข่าวลวงหรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำร้ายสังคม ทำร้ายประชาชน ซึ่งไต้หวันจะมีกฎหมายในการปกป้อง ไม่เพียงแต่รัฐบาลที่ต้องการข้อมูลที่โปร่งใส แต่ประชาชนหรือภาคสังคมก็เช่นเดียวกัน
ส่วนการต่อต้านข่าวลวง Fake News สิ่งแรกทีไต้หวันทำ
1. เวลา ตอบสนองทันเวลา เมื่อเรารับข้อมูลเท็จหรือข้อมูลที่ผิดพลาด เราจะต้องแถลงแก้ไขหรือชี้แจงข่าวภายในหนึ่งชั่วโมงหรือหกสิบนาทีโดยเฉลี่ยในทุกกระทรวง
2. การตรวจสอบความร่วมมือ (Collaborative Checking) ในไต้หวันมี CoFacts community and bots และการตรวจสอบข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ทางไต้หวันมีศูนย์ตรวจสอบข้อมูลผ่านทางแอพพลิเคชั่น LINE
และ 3. กฎหมายการเลือกตั้งและการลงประชามติ เนื่องจากไต้หวันมีกฎหมายด้านการบริจาคที่โปร่งใส จึงมีการออกกฎหมายว่าด้วยการโฆษณาต่าง ๆ โดยเฉพาะการบริจาคเงินให้พรรคการเมือง ถือเป็นข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อปกป้องการฟอกเงิน ยิ่งหากมีการรับเงินจากองค์กรภายนอกประเทศ รับเงินจากต่างประเทศ ไต้หวันจะถือเป็นการแทรกแซงการเมืองภายในไต้หวัน
“ไต้หวันมีสื่ออิสระจำนวนมากที่ตรวจสอบการเงิน การบริจาคเงินให้กับพรรคการเมือง มีการตรวจสอบ มีการทำงานร่วมกัน เรียกว่า greenhub ขณะที่การทำงานของรัฐบาลไต้หวัน ทุกกระทรวงหากมีการยื่นรายชื่อ หรือล่ารายชื่อ ไม่ต่ำกว่า 5 พันคน เสนอทางออนไลน์ กระทรวงนั้น ๆ ต้องหยิบเรื่องนั้นขึ้นมาพิจารณา ตรวจสอบ และชี้แจง”
ออเดรย์ ถัง ยังกล่าวถึงการทำงานระหว่างรัฐบาลไต้หวันกับบริษัทไลน์ เช่น ไลน์ทูเดย์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผู้คนสามารถเช็คข่าวลือหรือข่าวลวงได้
ทั้งนี้ รัฐบาลไต้หวันยังมีการใช้งบประมาณเพื่อส่งเสริมการรับรู้ของประชาชน (Public Awareness) ในเรื่องข่าวหลอก ข่าวลวง เริ่มตั้งแต่ระดับอนุบาล 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ทั้งสอนผ่านการจัดทำเป็นทีวีซีรี่ย์ เพราะข่าวลือ ข่าวหลอก ข่าวลวง เรามองเสมือนกับเป็นโรคระบาด
“เราทำงานมา 20 ปี ต่อต้านข่าวลวง อีเมล์ขยะ (junk email) สแปม (Spam) ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่แก้ไขได้ด้วยรัฐบาล แต่ Hotmail Gmail ต้องร่วมมือกัน ดังนั้น เราสามารถป้องกันได้ โดยทุกส่วนมีส่วนรวมทั้งภาครัฐ สื่อ และประชาชน”