ถอดบทเรียนตัวอย่างยืดเวลา เกษียณอายุ

ปี 2556 นี้เป็นปีที่คนไทยได้ยินเรื่องราวของสังคม ผู้สูงอายุ กันอย่างหนาหู เมื่อสำนักงานสถิติและสำนักประชากรศาสตร์ออกมายืนยันผลสำรวจที่ตรงกันว่า อัตราการเกิดของเด็กไทยมีจำนวนน้อยลงกว่าเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้ว อย่างน่าตกใจ ครอบครัวสมัยใหม่นิยมมีบุตรเพียง 1-2 คน เท่านั้น แตกต่างจากในยุคเบบี้บูมที่ครอบครัวในยุคนั้น มีบุตรโดยเฉลี่ยถึง 6 คน

การลดลงของอัตราเด็กเกิดใหม่ส่งผลให้ประชากรที่กำลังอยู่ใน วัยทำงานในปัจจุบันเป็นฐานของประชากรไทย ในขณะเดียวกัน หากเรามองไปที่อนาคตในอีก 20 ปี ข้างหน้า เราจะเข้าใจได้ทันทีว่า ฐานของประชากรวัยทำงานกลุ่มนี้จะกลายเป็นประชากรกลุ่มสูงอายุ และเด็กเกิดใหม่ที่มีอยู่น้อย จะขยับเข้าสู่วัยทำงาน ซึ่งวันทำงานนี้เองที่จะเป็นกลุ่มที่สามารถขับเคลื่อนประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคมได้

แต่ด้วยปริมาณคนในวัยทำงานที่มีอยู่น้อย ประกอบกับคน วัยสูงอายุที่มีมากขึ้นอัตราการเสียชีวิตน้อยลงเนื่องจากคุณภาพชีวิตและมาตรฐานการจัดการด้านสุขภาวะที่ดีขึ้น ทั้งหมดนี้ คือ ปัญหาเร่งด่วนที่แม้จะเป็นการมองไปยังอนาคต อีก 2-3 ทศวรรษข้างหน้า แต่ก็เป็นความจำเป็นที่หน่วยงานด้านต่างๆ ในบ้านเราจะต้องเริ่มตระหนักรู้ และมองหามาตรการในการรองรับสังคมผู้สูงอายุที่คืบเข้ามาใกล้ตัวเราเร็วกว่าที่คิด

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้ร่วมกับมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย จัดเวทีเสวนาวิชาการ เผยความจริงที่ไม่ควรมองข้าม พร้อมทั้งเร่งเดินหน้าหามาตรการสำหรับสังคมไทยในอีก 20 ปี ข้างหน้า ภายใต้หัวข้อ “การขยายอายุการทำงาน : บทเรียนจากต่างประเทศ และบริบทสำหรับสังคมไทย” โดยมีนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเสนอแนะแนวทาง และชี้แจงข้อเท็จจริง รวมทั้งยกตัวอย่างการจัดระเบียบสังคมของผู้สูงอายุในต่างประเทศเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ

ดร.สวรัย บุณยมานนท์ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าประสบการณ์การขยายอายุเกษียณของประเทศสิงคโปร์ ว่า สิงคโปร์เองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการขยายตัวของประชากรต่ำมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ดังนั้น วันนี้รัฐบาลสิงคโปร์จึงเริ่มมองหามาตรการเพิ่มจำนวนบุคลากรในภาคแรงงาน ด้วยการขยายเวลาเกษียณอายุ จากเดิมที่ 60 ปี ไปเป็น 65 ปี การมีงานทำของคนในวัยนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างความมั่นคง ให้กับชีวิตแล้ว ยังทำให้ประเทศชาติไม่ขาดแคลนทรัพยากรบุคคลในวัยทำงานด้วย

“ประชากรสูงอายุในสิงคโปร์จำนวนมากที่ยังคงทำงานอยู่ เพื่อเป็นหลักประกันว่าตนเองจะมีรายได้อย่างพอเพียงในยามเกษียณ มาตรการขยายอายุการทำงานเป็น 65 ปีในปัจจุบัน ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบ หากจะมีก็แต่การปรับเปลี่ยนทัศนคติของวัยหนุ่มสาวที่ยังมองว่า ผู้สูงอายุจะมีความสามารถลดลง ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้สูงอายุหางานได้ยาก” ดร.สวรัยกล่าว

ด้าน รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าบทเรียนประสบการณ์ทางนโยบายขยายอายุ การทำงานจากประเทศญี่ปุ่น ว่า ในปัจจุบันอายุเกษียณของผู้ที่เป็นลูกจ้าง ในประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่ 65 ปีและเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2556 นี้เป็นต้นไป

“การขยายอายุเกษียณมีความสัมพันธ์กับอายุเริ่มบำนาญ ดังนั้นการออกมาตรการจำเป็นต้องพิจารณาระบบบำนาญ และทิศทางของระบบบำนาญในอนาคตควบคู่ไปด้วย รวมถึงการกำหนดกติกาเกี่ยวกับ รูปแบบการจ่ายเงินบำนาญกรณีที่มีอายุการขยายอายุเกษียณ” รศ.ดร.วรเวศม์ เสริมทิ้งท้าย

ด้าน อ.วิจิตรา วิเชียรชม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้ให้ผลประโยชน์ทั้งในส่วนของนายจ้างที่จะได้ ผลผลิต และกำไร ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดประโยชน์ และคุณค่าในตัว ของลูกจ้างที่เป็นผู้สูงอายุเช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรจะมององค์ประกอบ ให้รอบด้าน และทำอย่างรอบครอบ เริ่มจากการปรับเปลี่ยนกฏหมายที่เกี่ยวข้องทั้งระบบ โดยเฉพาะกฏหมายแรงงาน และสวัสดิการสังคม

ก่อนที่บ้านเราจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ แนวทาง และนโยบายต่างๆ จากบทเรียนของประเทศเพื่อนบ้าน น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่จะสามารถ ช่วยผลักดันให้อนาคตของประเทศไทยเดินไปได้อย่างไม่สะดุด แม้จะมีการเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้างของประชากรก็ตาม

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

Shares:
QR Code :
QR Code