ถกแก้ปัญหาสุราชุมชนเถื่อน

ก.คลัง ผนึก กมธ.เด็ก สตรีฯ-ศวส. ถกแก้ปัญหาสุราชุมชนเถื่อน หลังระบาดหนัก ระบุคนเหนือเป็นเหยื่อนักดื่มมากที่สุด พบโรงกลั่นสุราชุมชนเกือบ 100% ลักลอบขายสุราเถื่อนไม่ติดแสตมป์คละมาด้วยกว่า 2 ใน 3 ชี้ราคาถูกกว่าครึ่ง เร่งส่งตรวจหาสารปนเปื้อน หลังพบชายวัย 60 แฉกระบวนการต้มเหล้าผสมยาฆ่าแมลง ป่วยเดินเซไม่หาย

เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่โรงแรม เดอะสุโกศล คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุและผู้พิการ สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) จัดเสวนา เรื่อง “แนวทางการแก้ไขปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับชุมชน” โดยมีหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น และภาควิชาการ กว่า 50 คนเข้าร่วมเสวนาเพื่อระดมความเห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาสุราพื้นบ้าน

โดยนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทยอยู่ลำดับ 5 ของโลก แต่พบว่าประเทศที่มีอัตราการดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าประเทศไทยกลับไม่มีผลกระทบทางสังคมเท่าไทย โดยเฉพาะเรื่องอุบัติเหตุ ซึ่งหมายถึง มาตรการทางกฎหมายของไทยยังไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องร่วมแก้ปัญหา ไม่ปล่อยให้ผลกระทบจากการดื่มแอลกอฮอล์เป็นเพียงหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขในการรักษา หรือเป็นหน้าที่ของกรมสรรพสามิตร ในการดูแลเรื่องภาษี หรือให้เพียง สสส. รณรงค์ทางสังคมให้ได้ผลเท่านั้น แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องช่วยกันดูแลเพื่อบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพ ทั้งนี้จำเป็นต้องทำเรื่องดังกล่าวให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

น.ส.อรุณี ชำนาญยา ประธานกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของคนไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2554 พบว่า อัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรไทยนั้นมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะเขตจังหวัดภาคเหนือ มีสัดส่วนของผู้ที่ดื่มสุราสูงที่สุด และ จ.พะเยา มีจำนวนผู้ดื่มเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้ตระหนักถึงผลกระทบ จึงจำเป็นต้องเร่งหารือและระดมความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาสู่การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระดับประเทศต่อไป

ด้าน น.ส.กนิษฐา ไทยกล้า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการศึกษาตัวอย่างโรงกลั่นสุรา 32 แห่ง และร้านจำหน่าย 142 แห่ง จาก 51 หมู่บ้าน ในพื้นที่ตัวอย่าง 7 ตำบล ใน 3 อำเภอในจังหวัดพะเยาในช่วงระหว่างวันที่ 10 – 21 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา พบว่า โรงกลั่นเกือบทั้งหมดมีการลักลอบจำหน่ายสุราแบบไม่เสียภาษี(ไม่ติดแสตมป์) หรือสุราเถื่อน จำนวน 30 แห่งจาก 32 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 94 ของโรงกลั่นที่ศึกษา ขณะเดียวกันร้านจำหน่ายสุราจำหน่ายสุราแบบไม่เสียภาษีเพียง 3 แห่งจาก 142 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 2 และพบการลักลอบนำสุราไม่เสียภาษีข้ามมาจากจ.แพร่ด้วย โรงกลั่นขายสุรามีกำลังการผลิตเฉลี่ย 528 ขวดต่อเดือน แต่ขายสุราแบบติดแสตมป์เฉลี่ยเพียงโรงละ 189 ขวดต่อเดือนหรือ ร้อยละ 31 เท่านั้นที่เสียภาษี และนำสุราไม่ติดแสตมป์มาขายในราคาถูกลงครึ่งหนึ่งของสุราติดแสตมป์ คือ เฉลี่ยขวดละ 30 บาท โดยขณะนี้มีการเก็บตัวอย่างสุราชุมชนที่ผลิตและจำหน่ายแบบไม่เสียภาษี ตรวจหาสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายแล้ว

น.ส.กนิษฐา กล่าวต่อว่า มีกรณีตัวอย่างของผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง ที่คาดว่าเกิดจากการดื่มสุราที่มียาฆ่าแมลงเจือปนเป็นชายอายุ 60 ปี จาก จ.พะเยา ซึ่งรับการรักษาไปถึง 7 ครั้งแล้ว ปัจจุบันมีอาการเดินแล้วทรงตัวไม่ได้ เซตลอดเวลา โดยได้ระบุว่า การผลิตเหล้าเถื่อนในพื้นที่ จ.พะเยา ระหว่างกระบวนการหมักจะมีการใส่ยาฆ่าแมลงลงไปในถังหมัก และใช้ไม้ไผ่เหลาให้บางๆ นำไปจุ่มลงในถังสารเคมีที่เตรียมไว้ ซึ่งจะจุ่มลึกลงไปประมาณ 1 นิ้วของไม้ไผ่  จากนั้นนำไม้ไผ่ดังกล่าวไปคนในถังหมักที่เตรียมไว้  โดยเชื่อว่าการผสมยาฆ่าแมลงจะทำให้ได้ปริมาณแอลกอฮอล์มากขึ้น เช่น ปกติจะได้สุราแค่ 5 ขวด แต่หากเติมสารดังกล่าวลงไปแล้วสามารถทำให้เพิ่มปริมาณได้ถึง 8 ขวด และจากการทดลองดื่มสุราที่ใส่ยาฆ่าแมลง พบว่าหลังดื่มวันรุ่งขึ้นจะมีอาการคอแห้งรุนแรงและรู้สึกหิวน้ำมากอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ กรมสรรพสามิต จำเป็นต้องเข้มงวดในการตรวจจับการผลิตและจำหน่ายสุราแบบไม่เสียภาษี นอกจากเป็นการปกป้องสุขภาพของประชาชนแล้วยังช่วยลดปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชน และรัฐมีรายได้จากภาษีมากขึ้นด้วย

 

 

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

Shares:
QR Code :
QR Code