‘ต้นแบบเมืองเรียนรู้’ โมเดลเปิดประตูสู่อาเซียน

 

'ต้นแบบเมืองเรียนรู้' โมเดลเปิดประตูสู่อาเซียน

“qua cau gio bay” เพลงพื้นบ้านของชาวเวียดนาม ที่ลอยออกมาจากห้องประชุมภายในสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) อุบลราชธานี

ดึงดูดให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ที่เพิ่งเสร็จสิ้นการเป็นสักขีพยานพิธีเปิด “โครงการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนแบบบูรณาการระดับจังหวัด” เดินตามเสียงนั้นเข้าไปในห้อง ประหนึ่งได้รับการเชื้อเชิญ

ห้องดังกล่าวเนรมิตเป็นห้องกิจกรรมย่อยที่ 7 “การเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน” และทันทีที่เพลงจบ อาจารย์ นักศึกษา จากศูนย์อาเซียน ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มรภ.อุบลฯ จึงนำผู้สังเกตการณ์เข้าสู่โหมดกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้เห็นถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม ที่คล้ายคลึงกันของไทยและเวียดนาม ผ่านบทเพลงที่ถ่ายทอดถึงชายหนุ่มที่พบรักหญิงสาว ถึงขนาดมอบเสื้อ มอบแหวน เป็นของกำนัล พอกลับถึงบ้านก็โกหกมารดา เกี่ยวกับสิ่งของที่หายไป

โดยวิทยากรอธิบายถึงความละม้ายคล้ายกันของคนสองชนชาติ ไล่ตั้งแต่ “ความรัก” ที่มอบแหวนให้แทนใจ “ความห่วงใย” ที่มอบเสื้อให้อนงค์นาถได้คลุมกายคลายความหนาว หรือ “การโกหก” เพื่อลดความรุนแรง ความขัดแย้ง

ทั้งหลายทั้งปวงของกิจกรรมห้องย่อยนี้ ก็เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม เกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างมั่นคงในอนาคตอันใกล้

และนี่ก็คือ 1 ใน 7 กิจกรรมย่อยที่ จัดขึ้นภายในงานพิธีเปิดโครงการ ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจของจังหวัดอุบลราชธานี มรภ.อุบลฯ ภาคีเครือข่ายจัดงานมหกรรมวันเยาวชนแห่งชาติ จ.อุบลฯ สำนักส่งเสริมและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ภายใต้แนวคิด “เรียนรู้ แบ่งปัน สร้างสรรค์ สู่อาเซียน” เพื่อรังสรรค์ให้ “เมืองดอกบัว” กลายเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชนแห่งแรกของประเทศไทยภายในปี 2557 เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปีถัดไป

“โครงการขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนแบบบูรณาการระดับจังหวัด ที่จัดใน จ.อุบลราชธานี เกิดจากแนวคิดที่ว่าการขับเคลื่อนโครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ควรเป็นงานระดับจังหวัด”

เพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. อธิบายมุมมองแนวคิดพร้อมแจกแจงถึงการผลักดันให้เมืองต้นยางนากลายเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนว่า ก่อนหน้านี้ สสส.ได้ทำ “โครงการสร้างสำนึกพลเมืองเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น” ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 40 แห่งครอบคลุม 10 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน อุบลฯ ยโสธร สงขลา ตรัง นนทบุรี สมุทรสาคร และฉะเชิงเทรา ก่อนพบว่างานด้านเด็กและเยาวชนของ จ.อุบลฯ มีความโดดเด่นอย่างมาก

สภาเด็กและเยาวชนของอุบลฯ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2549 จากแนวคิดของท่านผู้ว่าฯ ในขณะนั้น เพื่อให้มีองค์กรกลางที่คอยส่งเสริม สนับสนุน ตลอดจนพัฒนาศักยภาพให้กับเด็กและเยาวชน ที่ผ่านมามีกิจกรรมโดดเด่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมพัฒนาศักยภาพแกนนำเด็กและเยาวชน การเชื่อมสัมพันธ์ไทย-ลาว การรณรงค์งดเหล้า ยาเสพติด และการค้ามนุษย์ ตลอดจนมีพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน เป็นต้น

เพ็ญพรรณ เล่าว่า นอกจากนี้ยังมีองค์กรต่างๆ ด้านเด็กและเยาวชนอย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ตลอดจน มรภ.อุบลฯ คอยสนับสนุนจนมีความพร้อมและเข้มแข็งอยู่ก่อนแล้ว ฉะนั้น อุบลฯ จึงมีความพร้อมที่จะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ดังนั้น สสส.จึงเข้ามาช่วยให้การทำงานขององค์กรต่างๆ สามารถหลอมรวมเชื่อมเข้าหากันได้

“วิชาการ กิจกรรม และการสนับสนุนด้านนโยบาย คือ 3 องค์ประกอบหลักที่อุบลฯ ใช้ขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชน โดย สสส.เข้ามามีบทบาทเชื่อมจุดเด่นทั้ง 3 ด้านให้กลายเป็นภาพใหญ่ โดยมีโจทย์ว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้เด็ก เยาวชน หรือแกนนำ สามารถรวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง และผลักดันให้งานด้านเด็กและเยาวชนเป็นงานระดับจังหวัด”

สอดคล้องกับ ผศ.อานนท์ สุริยา รองอธิการบดี มรภ.อุบลฯ ที่ร่วมเล่าถึงการผลักดันงานด้านเด็กและเยาวชนให้เป็นงานระดับจังหวัดว่า การทำงานให้ครอบ คลุมทุกพื้นที่จำเป็นต้องมีข้อมูลที่ใช้งานได้จริง มหาวิทยาลัยจึงเสนอตัวเป็นศูนย์วิชาการด้านเด็กและเยาวชน เพราะแต่ละคณะของ มรภ.อุบลฯ มีจุดเด่นที่ดึงมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น คณะไหนที่ทำงานเกี่ยวกับชุมชน ก็จัดส่งนักศึกษาลงไปทำงานในพื้นที่เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลจริงที่เป็นประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชน โดยโครงการนี้มหาวิทยาลัยจะทำงานร่วมกับ 5 ภาคีเครือข่ายต่อเนื่องไปจนถึงปี 2557

ผศ.อานนท์แจกแจงภารกิจของ 5 ภาคีเครือข่าย ปิดท้ายว่า “หน่วยงานภาครัฐ” ทำหน้าที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเด็กและเยาวชน “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน “เครือข่ายด้านวิชาการ” ผลิตบัณฑิตให้กับชุมชนท้องถิ่น และให้บริการวิชาการแก่ชุมชน “องค์กรที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชน” ซึ่งมีอยู่ 9 เครือข่ายคอยช่วยคิดช่วยทำ และ “สภาเด็กและเยาวชน” คอยพัฒนาองค์กรและแกนนำเด็กและเยาวชนให้เข้มแข็ง เพื่อขยายผลไปสู่เครือข่ายระดับท้องถิ่นได้

เมื่อถึงวันเปิดประเทศ จุดเริ่มต้นเล็กๆ ในวันนี้ คงเติบโตเป็นต้นแบบที่มีคุณภาพให้ จังหวัดอื่นๆ ได้เดินตามอย่างแน่นอน

 

         

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

Shares:
QR Code :
QR Code