ต้นแบบเด็กไทยไม่กินหวาน ลดเด็กอ้วนด้วยสภาพแวดล้อม

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ต้นแบบเด็กไทยไม่กินหวาน ลดเด็กอ้วนด้วยสภาพแวดล้อม thaihealth


แม้จะมีมาตรการต่าง ๆ ออกมากมายเพื่อให้คนไทยลดการบริโภคน้ำตาลลง แต่ถ้าจะให้ได้ผลดีและเห็นเป็นรูปธรรมที่ยั่งยืน คือ ต้องเริ่มที่ "อนาคตของชาติ"


กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกันรณรงค์ลดพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลในเด็กไทยอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การดำเนินงานของ "เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน" มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 และ ที่จังหวัดราชบุรีถือเป็นจังหวัดต้นแบบของ "เด็กไทยไม่กินหวาน" ด้วยการจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการลดการบริโภคน้ำตาล ลดความหวานในรั้วโรงเรียน


ทพญ.มัณฑนา ฉวรรณกุล หัวหน้ากลุ่มงานทันตสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี ให้ข้อมูลว่า หลังจากเฝ้าระวังปัญหาเรื่องฟันผุในโรงเรียนมาระยะหนึ่งก็พบว่าปัญหายังไม่ลดลง และยังพบด้วยว่าเด็กเป็นโรคอ้วนกันมากขึ้นจากการรับประทานขนมและของหวานต่าง ๆ จึงต้องรณรงค์การไม่กินหวานเพิ่มขึ้นด้วย เพราะเป็นผล เกี่ยวเนื่องกัน


เมื่อแก้พฤติกรรมไม่ได้ก็ต้องแก้ที่สภาพแวดล้อม ทางทีมทันตสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดราชบุรี  จึงสนับสนุนให้โรงเรียนแต่ละแห่งเป็นที่โรงเรียนปลอดน้ำอัดลมและงดจำหน่ายขนมกรุบกรอบ ยกระดับสู่การเป็น "โรงเรียนอ่อนหวาน" แต่ในกระบวนการนี้อาจจะจับต้องได้ยากเพราะยังมีตัวแปรอื่น ๆ เช่น ร้านค้า รถเข็นขายของหน้าโรงเรียน เป็นต้น ดังนั้นจึงหันมาใส่ใจในสิ่งที่โรงเรียนสามารถควบคุมได้ คือ โรงอาหารอ่อนหวาน


องค์ประกอบของการเป็นโรงอาหารอ่อนหวาน ได้แก่ ขนมและเครื่องดื่มที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ไม่วางเครื่องปรุงน้ำตาล มีการจัดมุมให้ความรู้เรื่องการบริโภค มีจุดบริการน้ำดื่มสะอาด และปลอดสื่อโฆษณาขนมและเครื่องดื่ม


ที่โรงเรียนวัดอมรญาติสมาคม อ.ดำเนินสะดวก เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-ประถมศึกษา  เคยประสบปัญหานักรัยนมาภาวะอ้วนมากที่สุดใน อ.ดำเนินสะดวก มากกว่า 100 คน จากจำนวนนักเรียน 836 คนจึงเข้าร่วมโครงการ "โรงเรียนอ่อนหวาน" ซึ่งมีการจัดการสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการลดน้ำตาลได้อย่างน่าสนใจและได้ผล


ต้นแบบเด็กไทยไม่กินหวาน ลดเด็กอ้วนด้วยสภาพแวดล้อม thaihealth


บุญฤทธิ์ เกียรติมงคล ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดอมรญาติสมาคม กล่าวถึงการแก้ปัญหาเด็กอ้วนในโรงเรียนว่า  อย่างแรกคือการปฏิเสธน้ำอัดลมและผลประโยชน์จากร้านค้าต่าง ๆ ที่จะเข้ามาเช่าพื้นที่เพื่อขายของ เพราะถ้าอนุญาตการจัดการยิ่งเป็นไปได้ยาก ทางโรงเรียนจึงยอมเสียผลประโยชน์ซึ่งถือว่าน้อยมากหากเทียบกับสิ่งที่เด็ก ๆ จะได้


ต่อมาคือการจัดการโรงอาหาร เพราะนักเรียนทานรสจัด หวาน มัน เค็ม จึงมีการปรับรสชาติอาหารให้อ่อนลง  ไม่ให้วางเครื่องปรุงไว้บนโต๊ะโดยเฉพาะน้ำตาล มีผลไม้ จะไม่มีขนมกรุบกรอบหรือน้ำอัดลมอย่างเด็ดขาด ทางโรงเรียนยังได้ส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อให้ได้เผาผลาญพลังงาน ลดพุง ลดโรค ร่างกายแข็งแรง ช่วยส่งผลดีต่อการเรียนด้วย โดยเริ่มจากคัดเลือกเด็กอ้วนซึ่งมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาออกกำลังกายด้วยการเต้นฮูลาฮู้ปทุกวัน แล้วจดบันทึกน้ำหนักจนครบ 3 เดือน ก็พบว่าทุกคนน้ำหนักตัวลดลงมากบ้าง น้อยบ้าง แต่ก็ถือว่าลดลงทุกราย


ส่วนที่โรงเรียนแย้มวิทยาการ สถานศึกษาเอกชนในพื้นที่ อ.โพธาราม มีการจัดทำ "โรงอาหารอ่อนหวาน" เพื่อให้เด็ก ๆ ได้รับประทานอาหารที่ถูกต้องตามโภชนาการ พร้อมทั้งสร้างเยาวชนแกนนำ "ยุวทูตอ่อนหวาน" มาช่วยขยายความรู้


ต้นแบบเด็กไทยไม่กินหวาน ลดเด็กอ้วนด้วยสภาพแวดล้อม thaihealth


พญ.กมลทิพย์ ภู่สว่างผู้อำนวยการ โรงเรียนแย้มวิทยาการ กล่าวว่า ทางโรงเรียนมีการประเมินคุณภาพอาหารทุกสัปดาห์ สิ่งที่เลือกมาให้รับประทานในโรงอาหารต้องเป็นสิ่งมีประโยชน์ เราสอนเด็กให้รู้จักการเลือกว่าอะไรควรทานและอะไรไม่ควรทาน


ขณะเดียวกันได้สร้าง "ยุวทูต อ่อนหวาน" ซึ่งเป็นการคัดเลือกเด็กจำนวน 10 คน มาอบรมให้ความรู้เรื่องการบริโภคอาหารรวมไปถึงการอ่านฉลากบนบรรจุภัณฑ์ โดยทุกคนจะต้องทำหน้าที่ในการเผยแพร่ความรู้นี้ ไปยังพี่ ๆ น้อง ๆ ในโรงเรียนรวมถึงที่บ้านด้วย


ปัจจุบันในจังหวัดราชุบรีมีโรงเรียนที่สามารถจัดทำโรงอาหารอ่อนหวานได้แล้ว 200 แห่ง จากทั้งหมด 400 แห่ง ซึ่งจากการสำรวจพบว่า เด็กมีฟันผุและเด็กอ้วนก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การขับเคลื่อนการลดการบริโภคน้ำตาลให้ได้ผลจะต้องมาจากนโยบายต่อเนื่องของผู้บริหาร ความร่วมมือผู้ปกครองและหน่วยงานที่เข้าไปหนุนเสริมจึงจะทำให้เป้าหมายที่วางไว้ประสบความสำเร็จ


"โรงอาหารอ่อนหวาน" จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่ทำกับเด็กตัวเล็ก ๆ นี้ จึงเป็นหนึ่งในแนวทางลดการบริโภคน้ำตาลในสังคมไทยได้อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรมมากที่สุด

Shares:
QR Code :
QR Code