ต้นทุนของสังคมสูงวัย

ขณะนี้เรากำลังอยู่ในช่วง "ศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ"  ต้องเตรียมรับมือกับต้นทุนของสังคมสูงอายุ


ต้นทุนของสังคมสูงวัย thaihealth


แฟ้มภาพ


ทุกวันนี้คนไทยเริ่มรับรู้ว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคม สูงวัยแล้ว แต่ปรากฏการณ์นี้ไม่ใช่เกิดขึ้นแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ขณะนี้โลกกำลังอยู่ในช่วง "ศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ" เนื่องจากประชากรในวัยกว่า 60 ปี มีสัดส่วนเกินร้อยละ 10 แล้ว ประเทศไทยก็เช่นกัน เพราะสัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในกว่า 20 ปีที่ผ่านมา และพีระมิดประชากรเริ่มเปลี่ยนสัณฐานจากรูปทรงเจดีย์เป็นแจกัน และเราเข้าสู่สังคมสูงวัยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอีก 7-8 ปี ข้างหน้า (ประมาณ พ.ศ.2564) คือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป สูงถึงร้อยละ 14


และต่อจากนี้ไปอีก 10 ปี (พ.ศ.2574) ก็จะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-aged society) คือมีประชากรสูงวัย (65 ปี) ถึงร้อยละ 20 (ปราโมทย์ ประสาทกุล, 2557) เพราะประชากรรุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เรียกกันว่า "รุ่นเกิดล้าน" (Million birth cohort) หรือที่รู้จักกันในนาม Baby boomers จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ภาวะสูงวัย และภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว อายุเฉลี่ยที่ยืนยาวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชากรไทยแก่ลงอย่างรวดเร็วมาก


คลื่นสึนามิประชากร (ยอดคลื่น รูปที่ 1) กำลังเคลื่อนตัวไปอยู่ฝั่งผู้สูงอายุ ในขณะที่ยุโรปใช้เวลาเกือบ 100 ปี และญี่ปุ่นใช้เวลา 50 ปี ประเทศไทยจึง "แก่" ก่อน "รวย" สาเหตุหลักที่ทำให้ประชากรสูงวัยคือ การที่คนไทยมีลูกน้อยลง และสาเหตุรองคือ การที่คนไทยมีอายุยืนขึ้น แต่ที่เรายังไม่เห็นชัดเจนในเวลานี้คือต้นทุนของสังคม


จากตารางที่ 1 ผลพวงของการเข้าสู่สังคมสูงวัยก็คือ เรามีผู้สูงวัยที่ทุพพลภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกัน แต่ละครอบครัวก็มีลูกน้อยลง การจัดสรรทรัพยากรในครัวเรือนและในประเทศก็ต้องย้ายมาสู่ยุคการดูแลผู้สูงวัย ผลิตภาพการผลิตของประเทศอาจลดลง ความท้าทายเชิงนโยบายอีกประการที่จะเกิดจากสังคมสูงวัยก็คือ หากประเทศไทยต้องการคนหนุ่มสาวเพื่อเพิ่มพลังขับเคลื่อนมากขึ้นคนไทยจะยอมเปิดรับลูกหลานคนงานก่อสร้างข้ามชาติและลูกหลานที่เกิดขึ้นในเมืองไทยหรือไม่ อย่างไร


ในระดับชุมชน ต้นทุนของสังคมสูงวัยเริ่มชัดเจนแล้ว การศึกษาผลกระทบของสังคมสูงวัยต่อกองทุนสวัสดิการชุมชนของสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะซึ่งดำเนินการโดย คุณณัฏฐาภรณ์ เลียมจรัสกุล ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผู้สนับสนุนพบว่า กองทุนสวัสดิการที่ตำบลม่วงน้อย จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นกองทุนที่มีการบริหารจัดการที่ดี ภายในระยะเวลา 5 ปี จากปี พ.ศ.2557-2561 จำนวนสมาชิกผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะเสียชีวิตมากขึ้น ทำให้ผลประโยชน์ทดแทนที่กองทุนจะต้องจ่ายเพิ่มขึ้น เฉพาะกรณีการเสียชีวิตขยายตัวขึ้น 4.89 เท่า


อย่างไรก็ดี เนื่องจากกองทุนนี้ยังมีกระแสรายรับเข้ามาค่อนข้างสูงกว่ารายจ่ายเพราะมีสมาชิกวัยแรงงานมาก เพราะชุมชนได้ออกกฏว่าผู้ต้องการเป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน (มีสิทธิกู้เงินได้) ต้องเป็นสมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชนและจ่ายเงินเข้ากองทุน ในขณะที่กองทุนอื่นๆ ซึ่งก็มีการบริหารจัดการที่ดีมีธรรมาภิบาลดี แต่สมาชิกส่วนใหญ่สูงวัยและไม่ได้มีกติกาให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม เริ่มเห็นแนวโน้มของการขาดดุลในอนาคตอันใกล้ ภายในเวลา 5 ปี ที่น่าเป็นห่วงกองทุนหลายกองทุนที่มีธรรมาภิบาลเข้มแข็งในปัจจุบัน แต่ไม่มีระบบข้อมูลสมาชิกดี เพียงพอที่จะประเมินแนวโน้มความยั่งยืนในอนาคต


ดังนั้น โอกาสที่จะเห็นกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ตอนนี้เป็นเกรด A ล่มสลายไปจึงมีอยู่และทำให้ประชาชนสูงวัยในชนบทของเรากลายเป็นชนชายขอบที่ประชาชนที่ปราศจากที่พึ่งพิงได้


ในปัจจุบันการวิจัยด้านสังคมศาสตร์ของเรามักจะเป็นการศึกษาว่าจะจัดสวัสดิการให้ดีได้อย่างไร แต่ต้องไม่ลืมศึกษาว่า ประเทศที่แก่ก่อนรวยอย่างเราจะรับมือกับต้นทุนของสังคมสูงอายุได้อย่างไร


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน 

Shares:
QR Code :
QR Code