ต่อยอด ลิเก-หมอลำ ฉบับชาวซับใหญ่
ชุมชนบ้านซับใหญ่ อำเภอซับใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ เป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัด ลพบุรี และนครราชสีมา จึงทำให้มีการเดินทางไปมาหาสู่และค้าขายของผู้คนหลากหลาย วัฒนธรรม ทำให้ดนตรีและการแสดงพื้นบ้านของชุมชนแห่งนี้ มีการผสมผสานระหว่างกลิ่นอายของ "หมอลำ" ภาคอีสาน ดนตรี "ลูกทุ่ง" และ "ลิเก" แบบภาคกลางไว้ด้วยกันจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น
คณะครูโรงเรียนซับใหญ่วิทยาคม นำโดย ครูสมชิด เทียนชัย ได้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรม ที่หลากหลาย บวกกับปัญหาความยากจน และขาดโอกาสในการเรียนต่อของเด็กๆ จึงได้นำ การแสดงพื้นบ้านที่มีเอกลักษณ์ และนาฏศิลป์อันงดงามมาบูรณาการเพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ รากเหง้าวัฒนธรรม และยังช่วยให้เด็กๆ กล้าคิด กล้าแสดงออก มีสมาธิ รู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เกิดเป็นทักษะชีวิตที่สามารถต่อยอดเป็นอาชีพผ่าน "วงดนตรีลูกทุ่งซับใหญ่วิทยาคม" พร้อมจัดทำ "โครงการผลิตเครื่องดนตรีพื้นบ้านและเครื่องประดับนาฏศิลป์อีสาน" ภายใต้โครงการ "ส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ" ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ดร.จิมมี่ ทองพิมพ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนซับใหญ่วิทยาคมเปิดเผยว่า พื้นที่ชุมชนบ้านซับใหญ่เป็นแนวกันชนระหว่างลพบุรีและโคราช เป็นเขตแดนที่ 2 วัฒนธรรมคือ หมอลำและลิเก แต่เดิมนั้นในชุมชนยังไม่มีวงดนตรีเป็นเรื่องเป็นราวมีแค่คณะรำวงของผู้สูงอายุ จนอ.สมชิดเข้ามาดูแลสอนให้นักเรียนเล่นดนตรี ร้องเพลง ฟ้อนรำ สร้างเป็นชมรมจนเกิดเป็นวงดนตรีลูกทุ่งซับใหญ่วิทยาคมขึ้น
"อาจารย์สมชิดมาจากครอบครัวศิลปินท้องถิ่นอีสาน จึงได้นำความรู้มาต่อยอดพัฒนาให้เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยใช้ดนตรีมาเป็นแนวทางในการศึกษาทั้งเรื่องของ ธรรมชาติ งานช่าง งานประดิษฐ์ ศิลปะ ดนตรี การฟ้อนรำ ทำให้เราได้พบว่า เด็กที่นี่มีแววด้านดนตรีไม่ต่ำกว่าครึ่ง" อาจารย์จิมมี่ระบุ
นอกจากการเรียนดนตรีพื้นบ้านแล้ว คณะครูโรงเรียนซับใหญ่ฯ ยังได้ต่อยอดการเรียนรู้ ให้นักเรียนเข้าถึงเครื่องดนตรี โดยมีการสอนการผลิตเครื่องดนตรีต่างๆ เช่น ผืน (ลูก) ระนาดเอก, ระนาดทุ้ม, โปงลาง, ซออู้, ซอด้วง, กรับ ที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้จากการนำเศษวัสดุ ในชุมชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดด้วย
สมชิด เทียนชัย รองผอ. ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า ถ้าเราหาเครื่องดนตรีมาให้เด็กๆ เขาก็จะไม่มีจิตสำนึกรักและหวงแหนวัฒนธรรม ไม่ได้เรียนรู้ และไม่ได้สร้างสรรค์ จึงให้นักเรียนออกไปหาเศษวัสดุมาใช้ในชุมชน ไปเรียนรู้ว่าต้นไม้อะไรใช้ทำอะไรได้บ้างเพราะแต่ละชนิดมีคุณสมบัติต่างกัน แทนที่จะแค่เอาไม้ไปเผาถ่าน และพวกเขายังได้ฝึกการใช้เครื่องมือช่างอีกด้วย เช่นเดียวกันกับเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ซึ่งเด็กๆ จะต้องเรียนรู้และฝึกการทำ ตั้งแต่เลือกผ้าออกแบบ ตัดเย็บ ปักเลื่อม ทำเครื่องชฎา โดยมีการนำผ้าพื้นเมืองจากที่ต่างๆ มาประยุกต์ใช้ควบคู่ไปกับการเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมจากผู้
สำหรับลูกศิษย์รุ่นแรกที่เรียนนาฏศิลป์และทำเครื่องดนตรีไทยเอง อย่าง "ปอ" วิภาวัตน์ จันทร์จีน อดีตหัวหน้าวงดนตรีลูกทุ่งโรงเรียนซับใหญ่ฯ เล่าว่า จากตอนแรกที่ครอบครัวไม่เข้าใจ ว่า ส่งมาเรียนหนังสือแล้วทำไมถึงต้องมาเต้นกินรำกิน แต่เมื่อ อบต.ซับใหญ่ จัดงาน และเชิญให้วงของพวกเธอไปเล่น เมื่อพ่อแม่ได้เห็นผู้ชมชื่นชมลูก ก็เลยไม่คัดค้านอีกต่อไป โดยเฉพาะเมื่อเห็นว่า ผลการเรียนไม่ได้ตกลง
ส่วน "จุ๊บ" นริศรา อินปัน นักเรียนชั้น ม.5 ตัวแทนฝ่ายผลิต เล่าถึง การเรียนรู้เรื่องไม้ ซึ่งครูจะสอนว่าไม้แต่ละอย่างมีคุณสมบัติอย่างไร มีเสียงต่างกันอย่างไร ต้องเริ่มตั้งแต่หากิ่งไม้ จากธรรมชาติ ต้องเลือกไม้ไผ่บงว่า ลำไหนเสียงดีเหมาะกับทำระนาด หรือเครื่องมือชนิดไหน "เราเริ่มฝึกทำจากไม้ตีระนาด ต้องหัดกลึงไม้ประดู่มาทำเป็นหัว ด้ามเป็นไม้ไผ่ ต่อมา ก็หัดทำ ระนาดเอก ระนาดทุ้มทุ้ม โปงลาง ซออู้ ซอด้วง และการทำลูกระนาดที่ต้องฝึกฟังเสียงเทียบเสียงทีละอัน" จุ๊บบอก
ขณะที่ "หยี" ภัทรสุดา อ้มหอม นักเรียนชั้น ม.4 สาวผู้รักการฟ้อนรำและฝันอยากเป็น ครูสอนนาฏศิลป์ ก็เล่าถึงการได้ฝึกทำเครื่องดนตรีชนิดแรกเป็นคือ โปงลาง จริงๆ แล้วนักเรียนทุกคนจะได้เรียนและเล่นทุกอย่าง การเล่นเป็นวงต้องใช้ความสามัคคีมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้เรารู้จักการเล่น รู้จักตัวโน้ตมากขึ้น รู้จักจังหวะของดนตรี นอกจากจะไม่คิดว่าดนตรีพื้นบ้านเป็นเรื่องเชยแล้ว เธอยังเห็นว่า นี่คือ วัฒนธรรมที่เธอและเพื่อนๆ ต้องช่วยกันรักษา.
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต