ต่อยอดนวัตกรรมเพื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชน
สสค. ร่วมกับ มูลนิธิร่มฉัตร ร่วมพัฒนาสมรรถนะการอ่าน สร้างความสุขและความสนุกในการเรียนรู้แก่เยาวชน
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ร่วมกับ มูลนิธิร่มฉัตร ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 1 โดยได้รับเกียรติจาก พลเอกสุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายแพทย์สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน ร่วมเปิดการประชุม
ดร.อุบล เล่นวารี หัวหน้าโครงการฯ มูลนิธิร่มฉัตร เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นการต่อยอดการดำเนินงานจาก “โครงการนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ระดับประถามศึกษา” ที่มุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาเด็กนักเรียนใน 3 ประเด็นคือ พัฒนาสมรรถนะการอ่าน พัฒนาความสุขและความสนุกในการเรียนรู้ และเสริมสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ซึ่งพบว่าร้อยละ 80 สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาผู้เรียนได้ประสบความสำเร็จมีผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ
“เพื่อให้เกิดการขยายผลออกไปในวงกว้าง จึงได้คัดเลือกโครงการที่น่าสนใจจำนวน 46 โครงการจากทั้งหมด 475 โครงการ โดยทาง สสส. ได้เข้ามาสนับสนุนงบประมาณเพื่อขยายผลที่เกิดขึ้นด้วยการนำนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อพัฒนานักเรียนใน 3 ด้าน มาผสมผสานเข้ากับการเสริมสร้างความรู้ด้านสุขภาวะให้แก่ผู้เรียนทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ป้องกันและลดพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาวะ ควบคู่ไปกับการขยายฐานความรู้ในด้านสุขภาวะออกไปสู่ครอบครัว และชุมชน ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับโรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศในการนำไปขยายผลสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นในโรงเรียนหรือชุมชนของตนเอง”
นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สสส.พร้อมสนับสนุนให้เกิดโรงเรียนสุขภาวะในทุกประเด็น เพื่อสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมายทั้งในกลุ่มเด็กประถมไปจนถึงระดับมัธยมศึกษา ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ของโครงการนี้ เป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีที่สุด เพราะครูและผู้อำนวยการโรงเรียนเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดและคลุกคลีกับการพัฒนาและดูแลเด็กอยู่แล้ว
“การทำงานในพื้นที่กับโรงเรียนต่างๆ เป็นช่องทางที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจนมากที่สุด และเกิดประโยชน์กับเด็กในอนาคต ซึ่ง สสส ตั้งเป้าว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าจะพัฒนาเครือข่ายให้เกิดเป็นโรงเรียนสุขภาวะเพิ่มขึ้นทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 2,500 แห่ง เพื่อพัฒนาเด็กทุกคนให้มีทักษะที่พึงประสงค์สำหรับศตวรรษที่ 20 มีทักษะวิชาการที่ดี มีทักษะชีวิต และทักษะการเรียนรู้เรื่องสุขภาวะ และต้องการที่จะเห็นโรงเรียนเป็นสถานที่ๆ มีสุขภาวะ ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ ให้กับสำคัญกับสุขภาวะของเด็ก มีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี และทำงานร่วมกับชุมชนและเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อยกระดับไปสู่การเป็นโรงเรียนสุขภาวะ”
โดยกิจกรรมภายในงานมีการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 16 โรงเรียนจากภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ พร้อมนำเสนอผลงานและนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ ของผู้เรียน ที่สอดคล้องกับการเรียนรู้เพื่อสุขภาวะ ซึ่งจะส่งผลต่อการยกระดับและพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน
ที่มา: สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน