“ตู้อบ” ช่วยชีวิตทารกแรกเกิด
ที่มา : MGR Online
แฟ้มภาพ
ผู้หญิงหนึ่งคนยอมละทิ้งทุกอย่าง เพื่อดูแลทะนุถนอมให้ชีวิตน้อยๆ ให้ค่อยๆ สร้างพัฒนาการจนเติบใหญ่ในครรภ์ตลอด 40 สัปดาห์ เพื่อให้ลูกน้อยได้ลืมตาดูโลกภายนอกอย่างสมบูรณ์ครบ 32 ประการ
นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า จากรายงานขององค์การอนามัยโลก พบว่า ในภูมิภาคอาเซียน สาเหตุการตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ร้อยละ 72 มาจากการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งมักมีภาวะพิการแต่กำเนิดร่วมด้วย ส่วนประเทศไทยในแต่ละปีมีทารกเกิดใหม่ปีละ 700,000 คน ในจำนวนดังกล่าวเป็นทารกเกิดก่อนกำหนดประมาณ 100,000 คน และยังพบภาวะพิการแต่กำเนิดถึง 3% อาทิ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ภาวะแขนขาพิการ ปากแหว่งเพดานโหว่ กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม และภาวะน้ำคั่งในสมองแต่กำเนิด เป็นต้น นับเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิต ซึ่งทารกกลุ่มนี้ต้องเข้ารับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดภายในควบคุมอุณหภูมิร่างกายทารกเรียกสั้นๆ ว่า “ตู้อบ”
ในปัจจุบัน สถาบันฯ มีตู้อบเพียง 65 ตู้ ซึ่งใช้งานมากว่า 12 ปี ถึง 25 ตู้ โดยใช้ตู้อบจำนวน 45 ตู้ในใช้ดูแลทารกที่ไม่มีการเจ็บป่วยรุกรามมากนัก และตู้อบอีก 10 ตู้ ในการดูแลทารกภาวะวิกฤตที่ต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์มากมาย เพราะทารกกลุ่มนี้มักมีอาการแทรกซ้อนต่างๆ อาทิ ภาวะปอดไม่สมบูรณ์ ทำให้หยุดหายใจ ภาวะโรคปอดเรื้อรัง ปัญหาลำไส้ การติดเชื้อในกระแสเลือด การมองเห็น การได้ยิน รวมทั้งพัฒนาการโดยรวมและน้ำหนักตัวที่น้อยของทารก เป็นต้น ซึ่งบางรายอาจต้องผ่าตัดหรือช่วยชีวิตทารกอย่างเร่งด่วน
ข้อดีตู้อบสมัยใหม่ เพื่อช่วยเหลือทารกคลอดก่อนกำหนด มีคุณสมบัติดังนี้ มีระบบควบคุมอุณหภูมิทารก ทั้งวิธีใช้ อุณหภูมิกาย (skin mode) หรือใช้อุณหภูมิสิ่งแวดล้อมในตู้อบ (air mode) มีระบบปรับความชื้น (humidity) ให้เหมาะสมกับน้ำหนักและอายุครรภ์ทารก มีระบบการชั่งน้ำหนักทารก และสามารถเก็บบันทึกเพื่อติดตามการเจริญเติบโตของทารกได้ โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายทารก ทั้งนี้เพราะทารกวิกฤตมักจะมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตติดตามตัวมากมายหลายชนิด การเคลื่อนย้ายทารกอาจทำให้เกิดอันตรายได้
Incubator with radiant warmer มี 2 ระบบ คือ เป็น incubator และ เปิดฝาตู้อบขึ้น จะสามารถเปลี่ยนเป็น radiant warmer (เครื่องให้ความอบอุ่นสำหรับทำหัตการ)ได้ ทำให้ไม่ต้องเคลื่อนย้ายทารกออกจากตู้อบเพื่อทำหัตถการต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มทารกน้ำหนักน้อยซึ่งมีความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนจากภาวะตัวเย็นได้
มีไฟส่องขณะทำหัตถการต่างๆที่สำคัญ เช่น การใส่สายสวนสะดือ การใส่สายสวนหลอดเลือดใช้ระบบ touch screen ในการตั้งค่าต่างๆ และมีระบบเก็บข้อมูลสามารถเปิดดูย้อนหลังได้ ซึ่งนับเป็นผู้ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของทารกได้
นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า การควบคุมอุณหภูมิกายของทารกเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ทารกที่บอบบางต้องได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิร่างกายที่ไม่คงที่ ตู้อบจะช่วยควบคุมอุณหภูมิทารกให้คงที่ โดยที่แพทย์จำเป็นต้องสังเกตอาการของทารกที่นอนในตู้อบ โดยไม่ใส่เสื้อ ตลอดจนการให้อาหารทางสายในทารกตัวน้อยที่ยังดูดกลืนไม่เป็น แพทย์ก็ต้องสังเกตการรับนมทางหน้าท้อง และเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างใกล้ชิด จนกระทั่งทารกมีความพร้อม สามารถหายใจได้เอง ไม่หอบ น้ำหนักตัวดีขึ้น สามารถดูดกลืนเองได้ดี ออกจากตู้อบและอุณหภูมิตามปกติ ไม่มีภาวะแทรกซ้อน รวมทั้งให้แม่ได้ฝึกเลี้ยงทารกจนมั่นใจว่าสามารถดูแลที่บ้าน แพทย์ติดตามและนัดตรวจสุขภาพร่างกาย ทุก 1-2 สัปดาห์ เพื่อติดตามและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
“ปัจจุบัน ด.ญ.อลินนา ศรีประเสริฐ หรือน้องอันนา วัย 1 ขวบ 5 เดือน เป็นเด็กที่คลอดก่อนกำหนดด้วยภาวะครรภ์เป็นพิษ เมื่ออายุครรภ์เพียง 6เดือน น้ำหนักแรกคลอด 500 กรัม และมีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ต้องอยู่ในตู้อบที่อาจมีค่าใช้จ่ายสูง อย่างไรก็ตามด้วยการดูแลรักษาจากโรงพยาบาลเด็ก ทำให้ลูกสาวของพ่อวริษฏ์ ศรีประเสริฐและแม่ปิยะพร มลชัยกุล มีสุขภาพแข็งแรง”นพ.สมเกียรติ กล่าว
แม้ว่าความเจริญทางการแพทย์จะสามารถช่วยให้เด็กที่คลอดออกมาก่อนกำหนดมีชีวิตอยู่รอดได้มากขึ้นกว่าในอดีต แต่ก็ยังพบว่ามีทารกอีกจำนวนมากที่มีความพิการหรือเสียชีวิต จึงมีความจำเป็นที่จะต้องป้องกันไว้ก่อน ดังนี้ ส่งเสริมสุขภาพของคุณแม่ให้ดีก่อนการตั้งครรภ์ และเมื่อตั้งครรภ์แล้วควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อฝากครรภ์และปฏิบัติตนตามที่ได้รับคำแนะนำ รวมถึงไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งอย่างสม่ำเสมอ
หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง อาทิ งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงความเครียด ลดการทำงานหนักหรือออกกำลังกายเป็นเวลานานๆ หรือยกของหนัก และไม่เดินทางไกลโดยไม่จำเป็น
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างสมดุล เพราะจากการศึกษาที่พบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์น้อยหรือมีภาวะขาดสารอาหาร และมีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวน้อยตลอดการตั้งครรภ์ จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการคลอดก่อนกำหนด
เสริมแคลเซียมเพื่อช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูงและอาการแทรกซ้อนจากภาวะครรภ์เป็นพิษได้แล้ว การได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอในแต่ละวันยังช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดในผู้หญิงที่มีประวัติหรือมีความเสี่ยงสูง รวมทั้งดื่มน้ำให้ได้วันละ 8 แก้วเป็นอย่างต่ำ เพื่อรักษาความชุ่มชื่นของร่างกาย รับประทานวิตามินที่จำเป็นระหว่างตั้งครรภ์
ป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ไม่อั้นปัสสาวะเพราะการอั้นปัสสาวะบ่อย ๆ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะได้
ระวังเรื่องน้ำหนักตัว น้ำหนักตัวของคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ที่เพิ่มมากเกินไปหรือน้อยเกินไป อาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงให้คุณแม่คลอดลูกก่อนกำหนดและลูกที่มีน้ำหนักตัวน้อยได้ คุณแม่จึงควรมีการเพิ่มน้ำหนักขึ้นในระดับที่เหมาะสม พยายามหลีกเลี่ยงหรืองดการมีเพศสัมพันธ์ และการใช้ยาลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อมดลูกตามที่สูติแพทย์แนะนำ หรือตรวจคัดกรองเพื่อดูว่าคุณแม่มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดหรือไม่
นพ.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า สถาบันสุขภาพเด็กฯ ได้วางนโยบายเพื่อเป็น ศูนย์ดูแลทารกแรกเกิดป่วยและพิการครบวงจร ประกอบด้วย 1. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านทารกแรกเกิด 2. ศูนย์ความเป็นเลิศโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด และ 3. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านศัลยกรรมทารกแรกเกิด และศูนย์ความชำนาญพิเศษ (COSE: Center of Special Expertise) อีก 6 ศูนย์ ได้แก่ ตา, โสต ศอ นาสิก, กระดูกและข้อ, กายภาพบำบัด, พัฒนาการเด็ก และนมแม่ ซึ่งแต่ละปีมีผู้ป่วยเด็กที่เข้ารับการรักษาและรับส่งต่อมารักษาจากโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มากกว่า 2,000 คน โดยมีเตียงรองรับได้เพียง 100 เตียง และตู้อบทารกแรกเกิดเพียง 65 ตู้ ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการรองรับและให้บริการของสถาบันฯ ดังนั้น สถาบันฯ จึงได้จัดตั้งโครงการ “ให้โอกาสความรัก ให้โอกาสชีวิต (Give love a chance, Give life a chance)” เพื่อระดมทุนจัดซื้อเครื่องมือและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ชั้นสูง ในการสนับสนุนการรักษาและบริการของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โดยสามารถร่วมบริจาคผ่านช่องทาง โทร.0888744671