ตุ้มโฮม-โรมแนม สื่อพื้นบ้านอีสาน
เชื่อมภูมิปัญญาคนหลายรุ่น
ดังในงานมหกรรม “ตุ้มโฮม โรมแนม ฮูปแต้มศิลป์ ถิ่นอีสาน” ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันจัดขึ้นตามโครงการขับเคลื่อนสื่อพื้นบ้าน เพื่อสุขภาวะเยาวชน
ครั้งนี้เป็นการรวบรวมเอาสื่อพื้นบ้านอีสานมากถึง 11 กลุ่ม จาก 8 จังหวัด ประกอบด้วย อุบลราชธานี ศรีสะเกษ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา สุรินทร์ นครพนม และบุรีรัมย์ โดยเปิดการแสดงที่วัดโพธาราม หรือวัดบ้านดงบัง ต.ดงบังอ.นาดูน จ.มหาสารคาม
คำว่า “ตุ้มโฮม” เป็นภาษาถิ่นอีสาน หมายถึง การมารวมกัน ส่วนคำว่า “โรมแนม” เป็นภาษาถิ่นโคราช หมายถึง การมาดูของดี และคำว่า “ฮูปแต้ม” ก็คือภาพวาด นั่นเอง
รศ.ดวงพร คำนูญวัฒน์ ผอ.สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย กล่าวถึงที่มาของงานครั้งนี้ว่า เริ่มต้นเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วเพื่อหวังให้สื่อพื้นบ้านที่มีอยู่มากมายในสังคมไทย กลับมามีบทบาทเป็นเครื่องมือสื่อสารภายในสังคมระดับชุมชน โดยเฉพาะเยาวชน ที่จะได้เรียนรู้สื่อพื้นบ้านในชุมชนของตัวเอง ส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน ช่องว่างระหว่างผู้สูงอายุและเด็กรุ่นใหม่แคบลง รวมถึงคนในชุมชนก็ได้พบกัน และพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน
นอกจากนี้ ยังสร้างเครือข่ายคนทำงานสื่อพื้นบ้าน ที่จะได้มาพบและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันด้วยการนำสื่อพื้นบ้านของแต่ละพื้นที่มาอวดกัน โดยเฉพาะงานนี้ที่กลุ่มสื่อพื้นบ้านภาคอีสาน 11 กลุ่ม จาก 8 จังหวัด มาอยู่ร่วมกัน 2 วัน
“สิ่งที่ได้ทำร่วมกันคือ เยาวชนจะเป็นพระเอกนางเอกของงาน โดยนำสื่อของตัวเองมาอวดกันมีพ่อครู แม่ครูมาเป็นกำลังใจ เด็กๆ จึงจะได้รู้ว่านอกจากสื่อของตัวเองแล้ว ก็ยังมีสื่อของคนอื่นด้วยเหมือนกัน จึงจะได้เข้าใจความหลากหลายด้วย และเห็นความงามในความหลากหลายความแตกต่าง เยาวชนจะจดจำ และไม่ละเลยคุณค่าอันงดงามที่ชุมชนมี” รศ.ดวงพร กล่าว
ก่อนเปิดฉากการแสดง เริ่มด้วยพิธีไหว้ครูและบายศรีสู่ขวัญให้แก่คณะนักแสดง นักเรียนและนักศึกษาที่เป็นเยาวชนรุ่นใหม่ของภาคอีสานร่วมร้อยชีวิต เข้าร่วมพิธี
หลังจากนั้นตั้งขบวนแห่กลองยาว “ตุงชัยพื้นบ้าน สืบสาน สร้างสรรค์ สานสุข” ของกลุ่มนักแสดงเยาวชน เคลื่อนเข้ามาภายในวัด
ชาวบ้านโดยรอบที่มารอการแสดงตั้งแต่ช่วงเย็น ฆ่าเวลาด้วยการเดินเลือกซื้อเสื้อผ้า ย่ามทำมือ กระเป๋าที่มีลวดลาย ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากฮูปแต้ม ภาพเขียนโบราณในสิม หรือโบสถ์ของชาวอีสาน ของนักศึกษาหลักสูตรสาขาวิชาศิลปกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ผ้าทอมือ จากโครงการผ้าทอต่อจากแม่ หัตถกรรมสร้างสรรค์ จากกลุ่มลูกหมากถึงกลุ่มช่อหมาก อ.เมือง จ.นครราชสีมา
แสงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ไฟนีออนเวทีใหญ่เปิดเริ่มการแสดง โดยเยาวชนสร้างสรรค์ สื่อพื้นบ้าน เพลงโคราช จ.นครราชสีมา ที่สมาคมเพลงโคราช จัดกิจกรรมให้เยาวชนรุ่นใหม่ 6 โรงเรียน มาเรียนต่อกลอน ขับร้อง เพลงโคราชที่ทั้งท่วงทำนองถอดมาจากต้นแบบอย่างไม่ผิดเพี้ยน แต่ประยุกต์เนื้อเพลงให้เข้ากับยุคสมัยเกี่ยวกับการรณรงค์ลด ละ เลิกบุหรี่ สุรา
ต่อด้วยการแสดงที่ขนนักแสดงมาแน่นทั้ง 3 เวที ทั้งโปงลางและหมอลำ จากโครงการเยาวชนสืบทอดสื่อภูมิปัญญาศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี
หนังตะลุงอีสาน หรือ “หนังบักตื้อ” จากคณะเพชรอีสาน เยาวชนจาก จ.มหาสารคาม หมอลำท้องถิ่นเยาวชนทุ่งกุลา อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
โครงการลิเกพื้นบ้านสุรินทร์ อ.เขวาสินรินทร์ จ.สุรินทร์ ละครหุ่นร่วมสมัยจากฮูปแต้ม จ.มหาสารคาม การแสดงพื้นเมืองโส้ทั่งบั้ง ชาวไทโส้แห่งบ้านโพนจาน จ.นครพนม
ในส่วนเวทีย่อยก็ไม่น้อยหน้าเวทีใหญ่ เป็น “กันตรึมวัยใส” จากเยาวชน อ.เมือง จ.สุรินทร์ ที่มีดนตรีสนุก เร้าใจผู้ชม ให้รำไปกับท่วงทำนองของซออู้ และกลองกันตรึม พร้อมกับเนื้อหาของเพลงที่เน้นสุขภาวะของเยาวชน
งานจบลงด้วยรอยยิ้มทั้งของนักแสดงตัวน้อย ผู้ใหญ่นั่งชมมีความสุข ระคนความเสียดายว่าเมื่อไหร่จะมีอีก เพราะได้อรรถรส เปี่ยมด้วยสุขภาวะ ทั้งยังสืบสานภูมิปัญหา และการละเล่นท้องถิ่นเป็นสื่อที่เข้าถึงชุมชนได้อย่างแท้จริง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
update : 10-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร