ติวเข้มหมอ-พยาบาลรับมือ“อีโบลา”
สธ.ติวเข้มบุคลากรทางการแพทย์รองรับ 'ผู้ป่วยสงสัยติดเชื้ออีโบลา' เล็งชง คสช.ของบกลางรับ 3 มาตรการเร่งด่วน ขณะเดียวกันอาการของหญิงไทย ที่รักษาตัวในสถาบันบำราศนราดูร เตรียมเจาะเลือดยืนยันผลตรวจซ้ำ
ที่สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ. อธิบดีกรมการแพทย์ และอธิบดีกรมควบคุมโรค ประชุมเตรียมความพร้อมทางด้านการรักษาพยาบาลเพื่อรองรับผู้ป่วยสงสัยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา รวมถึงด้านการบริหารจัดการ การตรวจวินิจฉัย การรักษาพยาบาล และสอบสวนโรค เพื่อสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า สธ.ได้เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โดยมีมาตรการสำคัญ คือ การเฝ้าระวังโรคทั้งในคนและในสัตว์ การเตรียมพร้อมของโรงพยาบาล ซึ่งเน้นมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยของแพทย์ พยาบาล และการเตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการ ให้มีความสามารถในการชันสูตรด้วยความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติ โดยในส่วนกลางได้จัดเตรียมโรงพยาบาลรองรับ หากมีผู้ป่วยสงสัยโรคติดชื้อไวรัสอีโบลา คือ สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี และสถาบันสุขภาพเด็กฯ กรณีมีผู้ป่วยสงสัยที่เป็นเด็ก ในส่วนภูมิภาค จะเตรียมโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไปทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีสนามบิน และด่านชายแดน ผลการเฝ้าระวังจนถึงวันนี้ไทยยังไม่พบผู้ในข่ายสงสัยโรคนี้
ทั้งนี้ ในวันที่ 26 ส.ค.นี้ สธ.จะเสนอของบกลาง เพื่อการเตรียมความพร้อมในระยะเฉพาะหน้าต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สำหรับมาตรการเร่งด่วน 3 เรื่อง คือ การจัดหาอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยของบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน การพัฒนามาตรฐาน และความปลอดภัยของระบบตรวจชันสูตรทางห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป รวมทั้งการให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนควบคู่กันไป เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกและสร้างร่วมมือกันในทุกภาคส่วน เพื่อการป้องกันโรค
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า อาการหญิงไทยที่พักดูอาการที่สถาบันบำราศนราดูร ตั้งแต่เย็นวันที่ 20 ส.ค.57 จนถึงวันนี้ มีอาการทั่วไปปกติ ไม่มีไข้ ซึ่งวันนี้จะตรวจเลือดยืนยันซ้ำอีกครั้ง ส่วนผลการตรวจคัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาด ตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย.57 จนถึงวันนี้ ได้คัดกรองทั้งหมด 708 คน จากกินี 384 คน ไลบีเรีย 54 คน เซียร์ราลีโอน 35 คน ไนจีเรีย 231 คน และประเทศอื่นๆ 4 คน ไม่มีรายใดมีไข้ แต่ทุกคนอยู่ในระบบติดตามอาการทุกวัน
ขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานข้อมูลผู้ป่วยโรคอีโบลาถึงวันที่ 20 ส.ค.57 พบผู้ป่วย 2,615 ราย เสียชีวิต 1,427 ศพ ใน 4 ประเทศดังนี้ กินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน และไนจีเรีย เฉลี่ยอัตราผู้ป่วยรอดชีวิต ร้อยละ 47 ซึ่ง สธ.จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประชาชนไม่ควรตื่นตระหนก และโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลายังไม่พบว่ามีการกระจายออกนอกทวีปแอฟริกาด้านตะวันตก เชื้อโรคนี้ติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงกับเลือด น้ำเหลือง สิ่งคัดหลั่งของผู้ที่มีอาการป่วย เชื้อเข้าทางบาดแผลหรือรอยถลอก หรือ เข้าทางเยื่อเมือก เช่น เยื่อตา ไม่ติดต่อทางเดินหายใจ ประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่สายด่วน 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต