ติด “บุหรี่” ป่วยตาย รัฐ-ผู้ป่วยแบกรายจ่ายอื้อ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี
ข้อมูลวิจัยพบ ติดบุหรี่ ป่วย-ตาย ชี้เกิดภาระที่ผู้ป่วยและรัฐต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ถึง 5 หมื่นล้านบาทต่อปี เกือบครึ่งป่วยจากการสูบยาเส้น หนุนรัฐเก็บภาษียาเส้นพันธุ์พื้นเมือง อย่าปล่อยให้สูบแพร่หลาย
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพฯ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมการยาสูบ (ศจย.) สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดงานแถลงข่าว เรื่อง “ภาระโรคและต้นทุนที่สูญเสียจากการสูบบุหรี่” โดย ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตที่ป้องกันได้ที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ โดยในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ทั่วโลก 5.4 ล้านคนและเสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง 6 แสนคน โดยในจำนวนโรคที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต 8 อันดับแรกมีถึง 6 โรคที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ ตามแนวโน้มการสูบบุหรี่ที่เป็นอยู่ทั่วโลกในขณะนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่จะเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านคนต่อปีใน ค.ศ. 2030 สำหรับประเทศไทยมีคนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ในปี พ.ศ.2547 45,136 คน และในปี พ.ศ.2552 50,710 คน ซึ่งเซอร์ริชาร์ด ปีโต แห่งมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด เคยประมาณการณ์ว่า จำนวนคนไทยที่เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่จะเพิ่มขึ้นเป็น 8 หมื่นคนต่อปี ตามแนวโน้มจำนวนผู้สูบบุหรี่ที่มีอยู่และประชากรที่สูบบุหรี่ของไทยมีอายุเพิ่มขึ้น ในประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ปีละ 443,000 คนและก่อให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละ 203 พันล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับหกล้านเก้าหมื่นล้านบาท หรือประมาณ 3 เท่าของงบประมาณประเทศไทยในแต่ละปี
โดย ดร.ทพญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ หัวหน้าแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาดัชนีประเมินภาระโรคและสุขภาพประชากรไทย เปิดเผยข้อมูล จากการศึกษาภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาดัชนีประเมินภาระโรคและสุขภาพประชากรไทย ซึ่งมีการประมาณการว่าประเทศไทยสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์จากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ในปี พ.ศ.2552 เป็นเงิน 52.2 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 0.5 % ของ GDP โดยในจำนวนนี้คิดเป็นค่าใช้จ่ายโดยตรงทางการแพทย์ 10,137 ล้านบาท หรือประมาณ 20 % ค่าใช้จ่ายโดยอ้อมทางการแพทย์ 1,063 ล้านบาท หรือประมาณ 2 % นอกจากนี้การที่ผู้ป่วยต้องขาดงานทำให้เกิดการสูญเสียผลิตภาพ 370 ล้านบาท (0.7%) ผู้ดูแลผู้ป่วยขาดงานทำให้สูญเสียผลิตภาพอีก 147 ล้านบาท (0.3%) การสูญเสียผลิตภาพจากการตายก่อนวัยอันควร 40,464 ล้านบาท (77%) โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความสูญเสียทางเศรษฐกิจนี้คิดเป็น 13% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด และเมื่อคำนวณปีสุขภาวะที่สูญเสียจากการสูบบุหรี่ พบว่า ผู้สูบบุหรี่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเฉลี่ย 12 ปี การสูบบุหรี่ทำให้คนไทยสูญเสียปีสุขภาวะจากการตายก่อนวัยอันควร 628,061 ปี และสูญเสียปีสุขภาวะจากการป่วยและความพิการ 127,148 ปี ซึ่งข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นถึงภาระที่ผู้ป่วยและรัฐบาลต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ตลอดจนความสูญเสียจากโรคอันเนื่องมาจากการสูบบุหรี่และสัมผัสควันบุหรี่
ด้าน ดร.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล ชี้ว่า การสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์จากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ 5 หมื่นล้านบาท นั้นเกิดจากการเจ็บป่วยของทั้งผู้ที่สูบบุหรี่ซิกาแรต และบุหรี่มวนเอง โดยสัดส่วนของผู้สูบบุหรี่มวนเองมีมากถึงร้อยละ 46.5 ของผู้สูบบุหรี่ทั้งหมด ซึ่งรัฐเก็บภาษีจากบุหรี่มวนเองน้อยมากในขณะที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ที่สำคัญคือบุหรี่มวนเองที่ทำจากยาสูบพันธุ์พื้นเมืองได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้นรัฐบาลควรนำยาสูบพันธ์พื้นเมืองเข้าสู่ระบบภาษีอย่างเร่งด่วน โดยให้ผู้ประกอบการยาเส้นเป็นผู้เสียภาษี ไม่ให้เป็นภาระกับเกษตรกร ซึ่งทำได้โดยการแก้ไข พรบ.ยาสูบ พ.ศ.2509 ด้วยการออกพระราชกำหนด
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข