ติดเชื้อจาก “รพ.” เรื่องที่ป้องกันได้

หวัด-วัณโรค ติดง่ายกว่าเชื้อที่ทำตาบอด

 

 

ติดเชื้อจาก “รพ.” เรื่องที่ป้องกันได้สถานที่ที่คนส่วนใหญ่ไว้วางใจและหวังจะให้เป็นที่พึ่งให้ชีวิตในยามเจ็บป่วยโดยคิดว่าน่าจะช่วยเหลือและทำให้ชีวิตปลอดภัยที่สุด..แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกรณีที่มีผู้ป่วยด้วยโรคต้อกระจก หลายรายตาบอดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซูโดโมแนส ออรูจิโนซ่าภายหลังเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียม ที่ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง กลับทำให้การไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นเรื่องที่ ต้องคิดหนัก มากขึ้น

 

แต่!อย่าเพิ่งคิดหนักจนกลัวการไปโรงพยาบาลซะก่อน…เพราะทุกโรงพยาบาลจะมีกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานและคุณภาพ โดยมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งจะพิจารณาดูปัญหาและแนวทางในการแก้ไขที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ ในส่วนของห้องผ่าตัดจะมีการตรวจสอบเป็นประจำทุกเดือน เพื่อให้ทราบถึงอัตราการติดเชื้อภายในห้องผ่าตัดว่ามีกี่เปอร์เซ็นต์ เกิดจากสาเหตุใดและมีการแก้ปัญหาอย่างไร และในโรงพยาบาลเองก็จะมีแผนกฆ่าเชื้อคอยทำความสะอาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ ด้วยเครื่องอบที่อุณหภูมิกว่า 260 องศาเซลเซียส ซึ่งทางการแพทย์ระบุว่าเป็นอุณหภูมิที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ทุกชนิด

         

            อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีมาตรการป้องกัน แต่เรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นได้เสมอ!…ทำให้ในแต่ละปีมีผู้ป่วยที่นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 4 ล้านคน จะมีผู้ป่วยโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลอย่างน้อย 3 แสนคน ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอัตราตายประมาณร้อยละ 5.9 ของทั้งหมด คิดเป็นจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตประมาณ 1.8 หมื่นคน ซึ่งการติดเชื้อที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง พบร้อยละ 43.2 การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะร้อยละ 25 และการติดเชื้อบาดแผลผ่าตัดร้อยละ 20.5 สำหรับเชื้อก่อโรคที่พบมากที่สุดคือ Klebseilla spp ร้อยละ 25 Escherichia coli ร้อยละ 9.1 และ ซูโดโมแนส ออรูจิโนซ่า พบร้อยละ 6.823

 

เกี่ยวกับเจ้าเชื้อแบคทีเรีย ซูโมนาส เออรูจิโนซ่านั้น ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม หน่วยโรคติดเชื้อและระบาดวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้อธิบายว่า เชื้อโรคดังกล่าวเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาปฏิชีวนะระดับรุนแรง เป็นโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลที่พบบ่อยที่สุดและพบได้เป็นประจำ ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ทั้งนี้ มีโอกาสเสี่ยงสูงในผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนานๆ หรือมีโรคประจำตัว ภูมิต้านทานต่ำ เบาหวาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยมีอาการชัดเจนสามารถตรวจพบได้เร็ว โอกาสรอดชีวิตก็จะสูงขึ้น สำหรับอาการผู้ป่วยที่ติดเชื้อมักจะมีไข้ แต่อาการโรคจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่าติดเชื้อที่อวัยวะส่วนใด เนื่องจากสามารถติดเชื้อได้หลายทางทั้ง การติดเชื้อทางเดินหายใจ การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อที่บาดแผลผ่าตัด การติดเชื้อที่ผิวหนังและเนื้อเยื้อใต้ผิวหนัง และการตัดเชื้อระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น

 

นอกจากเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวแล้ว ในโรงพยาบาลยังมีเชื้อโรคสารพัดนับร้อยๆ ชนิด ส่วนเชื้อโรคที่มีความรุนแรงมีเกือบ 10 ชนิด ซึ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทางโรงพยาบาลไม่อยากให้เกิดขึ้น ดังนั้น ในโรงพยาบาลทุกแห่งจึงมีระบบการเฝ้าระวังกันอย่างเข้มงวด เพราะถือเป็นเรื่องที่ต้องสนใจดูแล โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ต้องล้างมือให้สะอาด อุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ น้ำ สิ่งแวดล้อมทั้งหมด รวมถึงญาติที่มาเยี่ยมผู้ป่วยที่โรงพยาบาลก็ต้องรักษาความสะอาดล้างมือด้วยเช่นกัน ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นวิธีป้องกันแต่ก็ไม่สามารถป้องกันได้ 100%ผศ.นพ.กำธร กล่าวอธิบาย

      

                สอดคล้องกับ นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ที่บอกว่า ผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ผู้ป่วยที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์อยู่ในร่างกาย ผู้ป่วยที่เป็นเจ้าชายนิทรา ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ ส่วนการไปพบแพทย์เพื่อรักษาโรคที่มุ่งหวังให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บนั้น อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อตามมาได้เช่นกัน โดยเฉพาะการรักษาที่ใช้เครื่องมือสอดใส่เข้าร่างกาย หรือการรักษาที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคลดลง การรักษาที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อแทรกซ้อน การฟอกไต เช่น การใส่สายสวนปัสสาวะ การผ่าตัด การใช้เครื่องช่วยหายใจ การให้สารน้ำเข้าทางหลอดเลือด การฉีดยา การเจาะเลือด การเจาะตรวจต่างๆ เป็นต้น จะต้องดูแลผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวเพื่อป้องกันติดเชื้อด้วย แต่สำหรับผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง หรือรักษาโรคทั่วไปโอกาสที่จะเป็นโรคติดเชื้อมีน้อยมาก

          

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขเองก็ยังตามไขปริศนาต่อไปว่า จริงๆ แล้วสาเหตุของการสูญเสียดวงตาของผู้ป่วยต้อกระจกนั้น เกิดขึ้นจากสาเหตุใดกันแน่ ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่าจะสามารถทราบผลที่แน่ชัดภายในสัปดาห์นี้ แต่!สิ่งที่แน่นอนที่สุด นั่นก็คือ ในโรงพยาบาลที่หลาย ๆ คนได้เข้าไปแวะเวียน ไม่ว่าจะป่วยเอง หรือไปเยี่ยมผู้ป่วยก็ตาม ล้วนมีเชื้อโรคปะปนอยู่ด้วย…และแน่นอนว่า หนึ่งในโรคที่ต้องระวังเมื่อไปโรงพยาบาล นั่นก็คือ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ อย่างโรค ไข้หวัด  ไข้หวัดใหญ่” “ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009และ วัณโรคปอดที่ลอยละล่องอยู่ในอากาศ และกระจายสู่คนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่งได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่ไอจามรดกัน หรือเอานิ้ว มือที่สัมผัสเชื้อโรคมาขยี้หู ขยี้ตา หรือหยิบอาหารเข้าปาก เพียงเท่านี้ก็สามารถติดโรคได้แล้ว

 

นอกจากนี้ การแพร่เชื้อโรคจากแหล่งของเชื้อโรคเข้าสู่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเกิดจาก การสัมผัส การแพร่ทางอากาศ เชื้อที่แพร่ทางอากาศได้ คือเชื้อก่อโรคระบบทางเดินหายใจและผิวหนัง เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ฯลฯ โดยทั่วไปเชื้อในอากาศมีจำนวนน้อย และเป็นเชื้อไม่ก่อโรค นอกจากจะมีแหล่งของเชื้อที่แพร่ได้ดีทางอากาศ เช่น มีผู้ป่วย ติดเชื้อไวรัสที่แพร่ทางระบบทางเดินหายใจ วัณโรคระยะติดต่อ เป็นต้น ส่วนการแพร่โดยสัตว์พาหะนำโรคอย่างแมลงวัน แมลงสาบ ยุง ฯลฯ

 

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้ป่วย ผู้เยี่ยมไข้ และโรงพยาบาลไม่อยากให้เกิดขึ้น ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์จึงต้องล้างมือ อุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ น้ำ สิ่งแวดล้อมให้สะอาดทั้งหมด เพราะขณะที่ให้การพยาบาลมือของบุคลากรมีโอกาสได้รับเชื้อโรคจากการสัมผัสกับผู้ป่วย ตลอดจนอุปกรณ์เครื่องใช้ที่สัมผัสกับเลือดและสารคัดหลั่งต่าง ๆ มือจึงเป็นพาหะอย่างดีในการแพร่กระจายเชื้อในโรงพยาบาล การล้างมือที่ถูกต้องตามหลักวิธีจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดและประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคติดเชื้อที่เกิดในโรงพยาบาลได้

 

ไม่เพียงเท่านี้ ญาติและมิตรสหายที่มาเยี่ยมผู้ป่วยที่โรงพยาบาลก็ต้องรักษาความสะอาดล้างมือด้วยเช่นกันเพราะการล้างมือเป็นการกำจัดสิ่งสกปรกและเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ชั่วคราว โดยการล้างมือด้วยสบู่ให้ทั่วทุกด้าน เริ่มจากถูฝ่ามือ ถูหลังมือ ถัดมาก็นิ้วมือและซอกนิ้ว หลังนิ้วมือและฝ่ามือ จากนั้นก็ถูหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ และไล่มาที่ปลายนิ้วขวางฝ่ามือ และจบด้วยการถูรอบข้อมือ จากนั้นก็เช็ดมือด้วยกระดาษทิชชู เพียงแค่นี้ก็ทำให้ห่างไกลโรคได้มากแล้ว

 

            นอกเหนือจากนี้ก็ควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อรู้ตัวว่าไม่สบายเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจ เพื่อเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย หรือหากไม่มีหน้ากากจริงๆ ก็ควรใช้กระดาษทิชชูแทนและทิ้งทันทีในถังขยะ หรือไม่ก็หันหน้าจามใส่ไหล่ของตนเอง อย่าเอามือปิดปาก เพราะจะทำให้เชื้อโรคไปอยู่ที่มือ เวลาไปหยิบจับอะไรก็เป็นการแพร่เชื้อโรคไปโดยไม่รู้ตัว

 

อย่างไรก็ตาม ป้องกันไว้ก่อน ย่อมดีกว่าแก้! เพราะไม่ว่าเราจะเจอกับโรคร้ายสักร้อย สักพันชนิด แต่หากเราดูแลร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อน ออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ เชื่อได้ว่าเจ้าภูมิคุ้มกันในร่างกายก็จะสามารถต่อสู้กับโรคร้าย ช่วยให้ร่างกายเราปลอดภัยได้ในที่สุดค่ะ…^^

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์ Team content www.thaihealth.or.th

 

 

Update 12-01-53

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code