ติดอาวุธป้องกันมลภาวะใกล้ตัว Home Pollution
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ชวนมาติดอาวุธด้วยการเสริมความรู้ที่ถูกต้องเพื่อ หลีกเลี่ยง ป้องกัน บรรเทา มลพิษใกล้ตัว
วันนี้ ชวนมาติดอาวุธด้วยการเสริมความรู้ที่ถูกต้องเพื่อ หลีกเลี่ยง ป้องกัน บรรเทา มลพิษใกล้ตัว กับข้อมูลสุดสะพรึง รับรองว่า ได้ฟังแล้วต้อง ตะลึงตึง ตึง กันทีเดียว จาก ผศ.นพ.มาศ ไม้ประเสริฐ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กับเสวนาเล็กๆ แต่เรื่องไม่เล็กอย่าง Home Pollution อีกกิจกรรมดีๆ ที่จัดขึ้น ณ Event Hall ชั้น 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเร็วๆ นี้
ในบ้านกับนอกบ้าน อะไรน่ากลัวกว่า
"พูดถึงฝุ่นนอกบ้านก่อน เรื่องจริงที่ว่าฝุ่นบางชนิดสามารถทำลายเนื้อปอดเรา ที่สำคัญมันทำลายถาวร ทำให้ไม่สามารถกลับคืนมาปกติ ความจริงฝุ่นมีอยู่ทุกวันอยู่แล้ว แต่ที่คุณเห็นฝุ่นขาว ๆ นี่แปลว่าความเข้มข้นมากขึ้น เรียกว่าฝุ่นขาว ๆ นี่เรารับวันเดียวอาจเท่ากับการที่เรา ได้รับฝุ่นควันมลพิษเกือบทุกวันเป็นเวลาหนึ่งปี"
ผศ.นพ.มาศ เอ่ยต่อว่า ฝุ่นที่ขนาด PM 2.5 จะเล็กและเบามาก มันจึงไม่ตกสู่พื้นและลอยอยู่ในอากาศ เวลาตื่นเช้ามาจึงเห็นเป็นหมอก
"ยิ่งเล็กเท่าไหร่ ยิ่งผ่านทางเดินหายใจเราไปลึกมากเท่านั้น เล็ดลอดผ่านขนจมูกเข้าไปสู่ปอด" ฝุ่นเหล่านี้ร่างกายพยายามขจัด บางประเภทสามารถขจัดได้ แต่บางประเภทมีสิทธิ์ทำให้ปอดเสียหาย ซึ่งจะไม่มีอาการทันที
"โดยเฉพาะหากประเภทที่เป็นสารดูดซึมมันจะไม่อยู่เพียงแค่ปอด แต่สามารถดูดซึมสู่กระแสเลือด ขึ้นอยู่กับการสะสม ระยะยาว อย่างฝุ่นที่ปนเปื้อนกลุ่มโลหะหนัก เราพบว่าพวกเรามีเกือบทุกคน แค่มากน้อยต่างกันไป ซึ่งกลุ่มนี้ทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ สมองทำงานผิดปกติ และต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติ"
ต้องยอมรับว่า เวลานี้คนไทยต้องเผชิญวิกฤติสุขภาพ เรื่องมลพิษทางอากาศที่อันตรายสูงถึง 9-10 เท่า ทำให้หลายคนจึงคิดว่าหากเปลี่ยนการอยู่นอกบ้านนาน ๆ มาอยู่ในบ้านน่าจะปลอดภัยกว่า
แต่คุณเองมั่นใจแค่ไหนว่าในบ้านที่คุณ อยู่นั้น "ปลอดภัย" จริง
"วันนี้การอยู่นอกบ้านน่ากลัวก็จริง แต่ถ้าคุณไม่ concern ตรงนี้ ปล่อยให้มีมลพิษในบ้านสะสมระยะยาว ก็น่ากลัว ไม่แพ้กัน" ผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาวิชาวิทยาการชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ ให้ข้อมูล
เขาชี้ว่า ผลจากการที่มนุษย์ประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อแก้ข้อบกพร่องของธรรมชาติ กลับกัน เราจำเป็นต้องแลกกับ "ของแถม" ที่ติดมา ซึ่งหากได้ฟังแล้วอาจหวาดผวากับชีวิต
มลพิษในบ้าน
ลองเริ่มต้นจากจุดแรกในบ้าน หากกวาดสายตาสแกนไปโดยละเอียดแล้วจะเจอ "สารเคมี" แทรกซึมอยู่ทุกอณูพื้นที่
ผู้ร้ายรายดังตัวแรกที่คุณหมอมาศ เล่าถึงคือ "ฟอร์มาลีน" สารระเหย ที่ใส่เพื่อป้องกันปลวก และสารพัด แต่ข้อเสียคือสามารถแปรเปลี่ยนเป็นฟอร์มัลดีไฮด์ ซึ่งคุณจะได้แถมทุกครั้งเมื่อขนซื้อเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่เข้าบ้าน หรือแม้แต่ผนังวอลล์เปเปอร์ ที่คุณกำลังยืนพิงอยู่ตอนนี้
"ตามมาตรฐานฟอร์มัลดีไฮด์ บอกว่าถ้าจะให้ดีต่อสุขภาพ ควรมีค่าไม่เกิน 0.01 ppm แต่หากเมื่อไหร่ที่เราเดินผ่านแล้ว ได้กลิ่นฉุนของฟอร์มาลีนให้ประมาณการ ได้เลยว่ามันน่าจะมีอย่างน้อย 0.1 ppm ซึ่งแปลว่าอันตรายต่อสุขภาพแล้ว ไม่ควรอยู่ใกล้" ผศ.นพ.มาศเอ่ย
"ทีนี้เราซื้อเฟอร์นิเจอร์มาแล้วทำไงล่ะ หากเป็นไปได้ควรตั้งทิ้งไว้ให้ห่างตัว จนสารระเหยจนหมดแล้วค่อยนำมาใช้ แต่ในความเป็นจริงใครจะทำแบบนั้นได้ อีกทางเลือกคือปัจจุบันมีเฟอร์นิเจอร์บางแบรนด์ที่พูดถึงว่าไม่มีฟอร์มัลดีไฮด์ ซึ่งจริง ๆ แล้วเขาไม่ได้ไม่ใส่นะ แต่เขาทิ้งระยะเวลาไว้จนกว่าจะระเหยหมดตั้งแต่ 6 เดือน – 1 ปี เรียกว่ารอกลิ่นหมด แน่นอนว่าย่อมทำให้เฟอร์นิเจอร์นี้ราคาจะแพงกว่า
ซึ่งถามว่าผลข้างเคียงคืออะไร เริ่มจาก อาการแรกที่พอเราสูดดมเข้าไปจะรู้สึกแสบตา คัดจมูก ระคายเคือง นอกจากนี้ยังส่งผลให้ ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน เวียนหัว ซึ่งเราไม่รู้ว่า ในระยะยาว หากสะสมในร่างกายจะเกิดอะไรขึ้น"
ผู้ร้ายตัวที่สอง ที่น่าเกรงกลัวไม่แพ้กัน คือกลุ่มประกอบที่มี คลอรีน ซึ่งพบในสารพัดผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็น ในพลาสติก เรซิน ยาฆ่าแมลง ด้วยคุณสมบัติเป็นสารทำละลายของมัน ทำให้คลอรีนนิยมถูกนำมาใช้ เพื่อทำความสะอาดชะล้างน้ำมันเครื่อง หรือเคมีที่น้ำชำระล้างไม่ออก จะต้องใช้คลอรีนเป็นตัวทำละลาย ที่สำคัญ อย่าลืมนึกด้วยว่า เรายังพบ "คลอรีน" ในน้ำประปาบ้านเราเช่นกัน
สำหรับเรื่องสารปนเปื้อนทางน้ำเป็นอีกประเด็นที่ ผศ.นพ.มาศ เอ่ยอย่างหนักใจ เขาชี้ว่า น้ำฝนควรเลิกบริโภคเลยเด็ดขาด เพราะชะเอาทั้งฝุ่นและสารเคมีในอากาศปนเปื้อนในน้ำ ที่มาจากมลพิษโรงงานอุตสาหกรรม จากควันพิษมาเจือปนกัน อย่างสนุกสนาน
"ส่วนน้ำกรอง ตามบ้านทั่วไปกรองด้วยท่อสเตนเลสคู่ สามารถใช้ได้ แต่ยังเป็นกระบวนการกรองหยาบทำหน้าที่แค่กรองน้ำ กระด้าง เช่นน้ำบาดาล หรือน้ำที่มีหินปูนเยอะ ๆ ให้เป็นน้ำอ่อนเท่านั้น ยังไม่เพียงพอเหมาะสำหรับการกิน แม้จะกินได้"
ส่วนหากถามถึงเทคโนโลยีอะไรที่ได้รับการยอมรับว่ากรองได้ละเอียด ได้แก่ หนึ่ง ไส้กรองคาร์บอนขนาดเล็ก สอง เครื่องกรอง แบบรีเวิร์สออสโมสิส หรือที่คนทั่วไปเรียกอาร์โอ (RO) ส่วนการต้มฆ่าได้ไหม ทำได้แต่ยังมีเชื้อบางชนิดที่ทนอุณหภูมิสูงได้ อาทิ เชื้อรา ซึ่งจะต้มให้ตายคือต้มให้ถึง 100 องศาและต้มต่อไปอีก 5 นาทีแล้วค่อยดับไฟ นอกจากนี้ "คลอรีน" เป็นหนึ่งในสารที่นำมาใช้ในการฆ่าเชื้อด้วย
"ปัญหาคือคลอรีนไม่ได้มีอันตราย แต่เมื่อรวมกับสารประกอบธรรมชาติใน น้ำประปา แล้วจะกลายเป็นคลอโรฟอร์มซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะการนำ น้ำประปาไปต้มยิ่งทำให้สารประกอบในน้ำรวมตัวกับคลอรีนและกลายเป็นคลอโรฟอร์มมากยิ่งขึ้น คลอรีนสามารถระเหยได้ แต่เมื่อใดที่กลายเป็นสารตัวใหม่ คือ คลอโรฟอร์มแล้ว กลับไม่สามารถระเหยได้ จึงไม่แนะนำ ยกเว้นน้ำที่กรองแล้วสะอาดมาต้มไม่เป็นไร
ถ้าเลือกได้ น้ำแร่ ดีกว่าน้ำบรรจุขวดธรรมดานะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำบรรจุขวดที่ผ่านการกรองด้วยระบบรีเวิร์ส ออสโมสิส เพราะกระบวนการนี้มันเอาแร่ธาตุออกหมดเลย ที่ผ่านระบบรีเวิร์สออสโมสิส ก็เหมือนการกินน้ำกลั่น เมื่อร่างกายคนเราบริโภคน้ำพวกนี้ไปนาน ๆ อาจมีความเสี่ยงเป็น โรคหัวใจ กระดูกผุ
แต่หลายคนอาจสงสัยว่า อ้าว แล้วทำไมอย.ให้ผ่านน่ะหรือ คำตอบคือผลกระทบเหล่านี้ มันไม่ได้ทำให้ก่อโรคในทันที แต่มีผลระยะยาวสะสมที่ต้องพิสูจน์อีกนาน ซึ่งปัจจุบันมีรายงานยังถกเถียงกันอยู่ เพราะบางฉบับบอกว่ามีผล แต่บางฉบับระบุว่าไม่มีผล แต่สรุปคือ น้ำที่ดีต่อสุขภาพสำหรับการบริโภค มีการยอมรับแล้วว่า ควรเป็นน้ำที่มีแร่ธาตุอยู่บ้างจะดีกว่า"
ทฤษฎีร่างกายที่ต้องรู้
เมื่อเอ่ยเรื่องนี้ ผศ.นพ.มาศ ย้อนกลับมา อธิบายเสริมเล็กน้อยถึงเพื่อให้เข้าใจถึง เรื่อง "น้ำ" ในร่างกายคนเราว่า ปกติแล้วร่างกายคนเรามีค่า PH 7.4 คือมีความเป็นด่างนิดๆ
"ดังนั้นเราควรบริโภคสิ่งที่ช่วยปรับให้ร่างกายเราอยู่ในภาวะสมดุล นั่นคือภาวะด่าง ได้แก่ เกลือแร่ แร่ธาตุ จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมน้ำแร่จึงดีต่อสุขภาพมากกว่า น้ำธรรมดา ซึ่งในสภาวะที่ร่างกายเป็นกรด คือค่าพีเอชน้อยกว่า 7.4 จะไม่ค่อยดี เพราะเป็นภาวะเป็นพิษต่อเซลส์ และเป็นภาวะที่มะเร็งชอบมากและเติบโตได้ดีเมื่อร่างกายเป็นกรด แต่ถ้าเป็นร่างกายเป็นด่างเซลส์มะเร็งจะอยู่ไม่ค่อยได้ และภูมิคุ้มกันร่างกายจะแข็งแรงขึ้น"
ดังนั้นการบริโภคผักผลไม้ช่วยส่งเสริมให้ร่างกายมีสภาวะเป็นด่าง ในขณะที่ เนื้อสัตว์นั้นทำให้ร่างกายเกิดกรด เป็นเหตุว่า ทำไมคนเป็นมะเร็งหมอถึงไม่ให้กินเนื้อสัตว์ โปรตีนทำให้เลือดเป็นกรด ของหวานของเลวทั้งหลายทำให้เลือดเป็นกรด
อีกเรื่องที่เราคิดไม่ถึงคือสารเคมี ส่วนใหญ่จะแบ่งเป็นละลายในน้ำ และละลายในไขมัน ซึ่งสารพิษส่วนใหญ่จะละลาย ในไขมัน เมื่อร่างกายมีสารพิษตกค้าง ร่างกาย ขจัดออกไม่ได้ เพราะสารพิษพวกนี้ไม่ละลาย และถูกขับออกมากับปัสสาวะ แต่กลับไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อไขมัน ดังนั้นไขมันในร่างกายเรายังเป็นที่สะสมสารพิษที่ตกค้างในร่างกายด้วย เวลาที่เราออกกำลังกาย ไขมันเหล่านี้จึงไม่หายไป
"มีทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า เพราะร่างกาย ไม่ต้องการให้สารพิษเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย จึงเก็บมันไว้ในไขมัน ทำให้ไขมันพวกนี้สลายตัวไม่ได้ รวมถึงบริเวณต่อมไร้ท่อ รังไข่ อัณฑะ ต่อมหมวกไต ขณะที่ ตัวกาว ที่อยู่ในเฟอร์นิเจอร์ พบว่าทำไตอักเสบ สมองเสื่อม ส่วนสารที่อยู่ในฉนวนกัน ความร้อน มีทั้งพีวีซี โพลียูรีเทน หรือแร่ใยหิน ที่เมื่อเสื่อมอายุมาก ๆ จะเปื่อยยุ่ย หล่นลงมา และเราก็สูดดมระเหยเข้าไปทำให้มีผล กับปอด
ซึ่งหากบางคนที่สงสัยว่าตัวเองไม่เคยสูบบุหรี่เลยตลอดชีวิตทำไมถึงเป็นมะเร็งปอดเป็นถุงลมโป่งพองได้ เพราะสูดดมสารบางอย่างเข้าไปจนทำลายเนื้อเยื่อปอด หลอดลมอักเสบเรื้อรังนี่เอง
แล้วฉันเลือกอะไรได้ไหม?
ถามว่าอะไรทางเลือกที่ปลอดภัยที่สุดต่อสุขภาพ ผศ.นพ. มาศย้ำว่า "ธรรมชาติ" เท่านั้นคือคำตอบ
"เพราะมันไม่ทำร้ายเราเท่าเคมี หรือเกิดปัญหาต่อสุขภาพน้อยกว่า หลักการคือเลือกเครื่องใช้ในบ้านง่ายๆ คือ ให้นึกว่า เอาวัสดุที่มาจากธรรมชาติหรือเป็นธรรมชาติ ไว้ก่อน"
ผศ.นพ.มาศ ยังยกตัวอย่างการเลือกผลิตภัณฑ์ในบ้านง่ายๆ เช่น หากอยากได้พื้นที่ดีต่อสุขภาพควรเลือก เช่น หินแกรนิตแทนหินเทียม เลือกไม้เก่าแทนไม้ใหม่เพื่อลดการสัมผัสสารเคมีที่ชุบไม้ เปลี่ยนมาใช้แชลแล็กหรือสารเคลือบมันธรรมชาติแทนโพรียูรีเทน หรือเลือกกระเบื้อง ปูนเปลือย สีทาบ้านที่เป็นสีธรรมชาติกว่า คือสีน้ำ แต่คนส่วนใหญ่ไม่นิยมใช้ เพราะเลอะเทอะสกปรกง่าย ไม่ทนทานนี่แหละ และอย่าเอาสีทาภายนอกมาทาภายในบ้าน แม้แต่ผ้าที่ทำเฟอร์นิเจอร์ หรือเราใช้และสัมผัสประจำทุกวัน แนะนำให้ใช้ผ้าจากใยธรรมชาติมากกว่าใยสังเคราะห์ อาทิ คอตต้อน 100%
"รวมถึงผลิตภัณฑ์จานชาม หม้อที่เป็นอลูมิเนียม เวลาใช้แล้วสึกกร่อนได้ สารวัสดุโลหะต่าง ๆ เหล่านี้จะหลุดลอก ตกค้างปนเปื้อนมากับอาหาร แม้แต่เทฟลอน ใช้ไปนาน ๆ ก็หลุดร่อนได้ ถ้าหม้อที่ปลอดภัยที่สุดคือหม้อแม่นากนี่แหละแต่ข้อเสียมันแตกง่าย มีตัวเลือกรองลงมาคือสเตนเลสสตีล 18/10 เป็นวัสดุที่ไม่หลุดลอกตลอดอายุใช้งาน แม้แต่เตาแก๊ส หากใครใช้ในบ้านควรมีฮูดขึ้นมา เพราะจะได้ไม่โดนควันก๊าซที่เผาไหม้ออกมาโดยตรง แต่ก็อาจล่องลอยอยู่ในบ้านคุณแทนได้ ครัวไทยสมัยก่อนจึงนิยมทำนอกบ้าน
อีกเรื่องคือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า รู้หรือไม่ว่าสายไฟฟ้าแรงสูง อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด มีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหมด แต่อุปกรณ์ไหน ที่กินไฟ หรือใช้กำลังไฟน้อยก็มีน้อยกว่า ดังนั้นเมื่อไหร่ที่ไม่ใช้งานควรอยู่ให้ห่างจากอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด"
ท้ายสุด ผศ.นพ.มาศ ย้ำว่า ข้อมูลเหล่านี้นอกจากจะเป็นสิ่งที่เราควรรู้ และป้องกันตัวเองไม่พอ แต่ต้องอย่าทำให้เกิดมลพิษมากขึ้น เพราะสุดท้ายผลกระทบเหล่านี้ ย้อนกลับมาที่เราอยู่ดี