ติดอาวุธทางปัญญา พัฒนาตำบลแม่กาสู่ชุมชนสุขภาพ

ไอเดียเก๋ คิดหลัก 6 อ.ช่วยสร้างเสริมสุขภาพ

 

ติดอาวุธทางปัญญา พัฒนาตำบลแม่กาสู่ชุมชนสุขภาพ

          สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลต้องการพัฒนาเมืองไทยให้เข้มแข็งน่าอยู่ โดยเฉพาะในด้าน “สุขภาพ” จึงเกิดเป็นไอเดีย 6 อ.ขึ้น ได้แก่ ออกกำลังกาย อาหารปลอดภัย อนามัยสิ่งแวดล้อม อารมณ์ดี ลดอบายมุขเหล่า – บุหรี่ และอโรคยา หรือการลดโรค ดังนั้นการมีสุขภาพดีจะต้องมี 3 อย่างคือ สุขภาพจิต สุขภาพกาย สุขภาพสังคม เพราะทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานขอประชาชนทุกคนที่ควรจะได้รับ!!!

 

          “มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พะเยา” จึงต้องสานต่อแนวคิดโดยมีหน่วยงานสุขภาพอย่าง “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)” คอยเป็นพี่เลี้ยงและรับหลักการเพื่อนำมาปฏิบัติพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็น “มหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ” ที่มีสำนักวิชาแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พะเยา เป็นหลักในการพัฒนานิสิตและบุคลากรให้เป็นแกนนำสร้างเสริมสุขภาพและขยายองค์ความรู้ที่ได้รับเพื่อนำมาสานต่อพัฒนาสุขภาพของชุมชนในเทศบาลตำบลแม่กา ภายใต้โครงการ “มน.พะเยาสร้างสุขภาพ สู่เทศบาล ต.แม่กาสร้างสุขภาพ” ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสเจริญพระชนมพรรษาครบ 83 พรรษา 5 ธันวาคม 2553 นี้

 

          นับว่าโครงการนี้เป็นการพัฒนาบุคลากรให้ทำหน้าที่ดูแลปัจจัยเรื่องสุขภาพ และการดำเนินชีวิต ส่งเสริมสุขภาพการเฝ้าระวังด้านอาหาร ระบบสุขาภิบาล การจัดการสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในระบบไม่ให้เกิดผลเสีย การเฝ้าระวังสถานการณ์ของโรคระบาด การให้ความรู้ทางด้านสุขศึกษาอนามัยแม่และเด็ก ผู้สูงอายุ ถึงแม้การสื่อสารเพื่อให้ชาวบ้านทำตามจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่การกระตุ้นอย่างต่อเนื่องจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด

 

          นพ.วิชัย เทียนถาวร รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารและคณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน กล่าวว่า งานสร้างเสริมสุขภาพจะสำเร็จได้ก็ดีต้องอาศัยทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์เป็นหลัก โดยการให้เป็นอาสาสมัครในมหาวิทยานเรศวร หรือ อสมน. เพื่อให้นิสิตเป็นหัวเลี่ยวหัวแรงเข้าไปให้ความรู้กับชาวบ้านได้ทั้งอาจารย์ และอสมน.โดยจะพัฒนาไปเรื่อยๆ ด้วยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โดยเอามหาวิทยาลัยเป็นต้นแบบสร้างเสริมสุขภาพไปสู่เทศบาลโดยช่วงปลายปี 2553 นี้ต้องมีการประเมินผลว่าสิ่งที่ลงแรงไปประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด

 

          ด้านนายประกาศิต ทอนช่วย นักศึกษาสำนักวิชาแพทยศาสตร์ สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า จากที่เข้าไปสำรวจข้อมูลพบว่าเทศบาลตำบลแม่กา มี 18 หมู่บ้าน 4,346 หลังคาเรือน ประชากรจำนวน 17,150 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ซึ่งในด้านสุขภาพ ประชาชนยังเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังทีเกิดจากพฤติกรรมสุขภาพ อาทิ การบริโภคอาหาร ขาดการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงวัย

 

          “การลงพื้นที่แต่ละครั้ง ถือว่าได้ประสบการณ์เหมือนเป็นการไปฝึกงาน ที่สำคัญได้ทำหน้าที่เหมือน อสม.โดยให้ความรู้เรื่อง 6 อ. เป็นหลัก ผมคิดว่าสามารถปรับพฤติกรรมให้ชาวบ้านหันมารักษาสุขภาพตัวเองได้ ซึ่งเคล็ดลับของผมคอยิ้มแย้มแจ่มใส จึงทำให้เข้ากับชาวบ้านได้เป็นอย่างดีและเมื่อเห็นชาวบ้านมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงยิ้มแย้มแจ่มใส ทำให้เป็นแรงบันดาลใจในการทำหน้าที่ตรงนี้ได้เป็นอย่างดี” นายประกาศิต กล่าว

 

          จะเห็นได้ว่างานส่งเสริมสุขภาพสามารถนำมาเชื่อมโยงกันได้อย่างลงตัว เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย เพราะนอกจากมหาวิทยาลัยจะได้พื้นที่ในการทำงานแล้วยังสามารถได้ใจชาวบ้านตำบลแม่กาไปเต็มๆ!!!

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

Update 23-02-53

 

อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

Shares:
QR Code :
QR Code