ติดอาวุธจิตอาสา กู้ชีพทางน้ำ

ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง


ติดอาวุธจิตอาสา กู้ชีพทางน้ำ thaihealth

แฟ้มภาพ


รพ.เกาะสมุย เตรียมความพร้อมเพิ่มทักษะป้องกันและช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ประสบอุบัติเหตุทางน้ำ สามารถเข้าถึงการรักษาได้โดยเร็ว และถูกวิธี


น.พ.ธีระศักดิ์ วิริยานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะสมุย กล่าวว่า ข้อมูลการเสียชีวิตจากการเล่นน้ำ จมน้ำตามชายหาดต่างๆ รวมถึงการสัญจรทางน้ำของโรงพยาบาลเกาะสมุย ในปี 2558 มีจำนวน 14 ราย และในปี 2559 เพิ่มเป็น 23 ราย จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยและช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น สำหรับสถานที่และสาเหตุที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิตบริเวณชาดหาดและทะเล ได้แก่ พิษจากแมงกะพรุน โรคน้ำหนีบที่เกิดจากการดำน้ำ การจมน้ำ การถูกคลื่นทะเลดูด และอุบัติเหตุทางน้ำต่างๆ เป็นต้น


สำหรับการฝึกอบรมในครั้งนี้มี พันจ่าเอก กฤษณะ พิมพานนท์ เจ้าหน้าที่ปรับบรรยากาศกองเวชศาสตร์ใต้น้ำและการบิน กรมแพทย์ทหารเรือ มาช่วยเป็นผู้ฝึกสอนขึ้นตอนการเตรียมความพร้อมในการลำเลียงผู้ป่วยขึ้นจากน้ำ การช่วยเหลือเบื้องต้น ตลอดจนการดูทิศทางคลื่นลมในระหว่างให้การช่วยเหลือเพื่อความปลอดภัย รวมถึงการสังเกตรอยบาดเจ็บจากสาเหตุต่างๆ


"หลักสำคัญในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยคือต้องรู้สาเหตุที่แน่ชัด โดยเฉพาะการช่วยคนจากการจมน้ำส่วนใหญ่มีปัญหาที่สมองภายใน 4 นาทีแรกต้องช่วยหายใจโดยการฝายปอดเพื่อเติมออกซิเจนเข้ากระแสเลือดและปั้มหัวใจเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองสลับกันจนกว่าคนไข้จะฟื้นจากนั้นนำส่งโรงพยาบาลทันที นอกจากนี้ผู้ให้การช่วยเหลือจำเป็นต้องรู้ทิศทางคลื่นลม และการลำเลียงคนไข้ขึ้นจากน้ำ เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและผู้ให้การช่วยเหลือจึงจำเป็นต้องมีการฝึกอย่างถูกวิธี" พันจ่าเอก กฤษณะ กล่าว


ในส่วนของผู้บาดเจ็บและจำเป็นต้องรับการรักษาพยาบาลสามารถเข้ารับการรักษาภายใต้สิทธิประโยชน์กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ รวมถึงการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงอย่างโรคน้ำหนีบที่เกิดจากความดันในร่างกายผิดปกติที่ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาด้วยออกซิเจนความดันสูง (Hyperbaric Oxygen Therapy) ซึ่งบอร์ด สปสช.ได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ให้หน่วยบริการเบิกจ่ายค่ารักษาได้ตามจริงไม่เกินชั่วโมงละ 12,000 บาท


 


          

Shares:
QR Code :
QR Code