ติดหวาน น้ำตาลสูง เสี่ยงโรค
ที่มา : ผู้จัดการสุดสัปดาห์
แฟ้มภาพ
เครื่องดื่มรสหวานต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนปี 2562 พบว่า โดยเฉลี่ยในแต่ละวัน คนไทยดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเฉลี่ยกว่า 3 แก้ว หรือ 519.3 มิลลิลิตร โดยผู้ชายดื่มมากกว่าผู้หญิงและพบว่าในกลุ่มเด็กอายุ 6-14 ปี เป็น กลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลเฉลี่ยต่อสัปดาห์มากที่สุด!!! ซึ่งพบว่ามีเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาลที่วางจำหน่ายในประเทศไทย พบมีปริมาณน้ำตาลสูงมาก เฉลี่ย 9-19 กรัม/100มิลลิลิตร ในขณะที่ปริมาณที่เหมาะสม คือ ไม่ควรมีน้ำตาลมากกว่า 6 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เพราะจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนและโรคติดต่อเรื้อรังได้ในระยะยาว
พญ.พรรณพิมล วิปุสากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า การบริโภคน้ำตาลที่เป็นส่วนประกอบของอาหารและเครื่องดื่มที่มากเกินไป จะก่อให้เกิดโรค เช่น โรคอ้วน เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด และฝันผุ เป็นต้น โดยปริมาณน้ำตาลที่คนไทยได้รับ ส่วนใหญ่มาจากขนมและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล
ทางด้านทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสิรฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า น้ำตาลเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของแบคทีเรียในการผลิตกรดที่ทำลายผิวฟันจนลุกลามไปเรื่อยๆหากไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยการเน้นบริโภคผักหรือผลไม้ที่มีเส้นใยเซลลูโลส เพราะมีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งการเคี้ยวเส้นใยจะช่วยกระตุ้นให้มีน้ำลายมากขึ้น สามารถเจือจางสภาพความเป็นกรดได้เป็นอย่างดี รวมทั้งอาหารกลุ่มโปรตีน เช่น ถั่วต่างๆ นมที่มีแคลเซียมและฟอสเฟตสูง หากต้องการดื่มเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล แนะนำให้สั่งสูตรหวานน้อยเพื่อลดปริมาณน้ำตาลส่วนเกิน ทั้งนี้เครื่องดื่มที่ดีที่สุดสำหรับร่างกาย คือ น้ำเปล่า โดยควรดื่มอย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน เพราะจะช่วยชะล้างเศษอาหารที่ตกค้างในช่องปาก ทำให้ปากไม่แห้ง ลดปัญหากลิ่นปากเป็นผลดีต่อสุขภาพฟันไม่ก่อให้เกิดฟันผุ
ทั้งน้ำอัดลม ทั้งชานมไข่มุก หากกินมากและถี่บ่อยเกินไป ย่อมเกิดผลเสียต่อร่างกาย ลดได้ก็ลดเลี่ยงได้ก็เลี่ยงจะดีที่สุด เพราะน้ำตาลให้แต่พลังงานไม่ได้ให้สารอาหารอื่นใดอีกเลย