ติดตั้งเครื่องช็อกหัวใจไฟฟ้า ยกระดับการกู้ชีพ

ติดตั้งเครื่องช็อกหัวใจไฟฟ้า ยกระดับการกู้ชีพ thaihealth

          กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินฯ ติดตั้งเครื่องช็อกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติหรือเออีดี ให้ประชาชนใช้กู้ชีพคนหัวใจวายอย่างทันการณ์ ระหว่างรอทีม 1669 ยกระดับการกู้ชีพระบบสาธารณสุขไทย รับมือโรคเอ็นซีดีและสังคมผู้สูงอายุ สร้างความมั่นใจไทยและเทศ

          นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข พ.ต.อ.นพ.โสภณ กฤษณะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และนายแพทย์อนุรักษ์ อมรเพชรสถาพร ผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน ร่วมกันแถลงข่าวการติดตั้งเครื่องช็อกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือเออีดี (Automate External Defibrillator : AED) ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พัฒนาระบบการช่วยชีวิตผู้ที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ที่พบบ่อยที่สุดในโรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุให้คนไทยเสียชีวิตปีละประมาณ 54,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน สูงเป็นอันดับ 3 รองจากโรคมะเร็งและอุบัติเหตุ คาดว่าแต่ละปีมีคนไทยหัวใจวาย 60 คนต่อแสนคน  โดยผู้ป่วยประมาณครึ่งหนึ่งเสียชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาล อาจเป็นที่บ้านหรือที่ทำงาน ซึ่งเป็นการสนองนโยบายรัฐบาลในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้รับบริการอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และครอบคลุมทุกพื้นที่ ฟรีทุกสิทธิ์

          โดยได้นำเครื่องช็อกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือเออีดี (Automate External Defibrillator : AED) ซึ่งใช้ในต่างประเทศ เช่นญี่ปุ่นในขณะนี้ ติดตั้งเครื่องนี้ตามที่สาธารณะกว่า 450,000เครื่อง เช่น สถานีรถไฟ สนามบิน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม มหาวิทยาลัย ในชุมชน โบสถ์ ฟิตเนส รวมทั้งมีการจัดเตรียมพร้อม สำหรับการจัดแข่งขัดกีฬานัดสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะการแข่งขันวิ่งมาราธอน พบว่าได้ผลดี เพิ่มอัตรารอดชีวิตประชาชนถึงร้อยละ 45  ซึ่งไทยยังไม่เคยมีการติดตั้งเครื่องนี้ในที่สาธารณะมาก่อน

          จึงถือว่า เป็นการยกระดับมาตรฐานการกู้ชีพของระบบสาธารณสุขไทย ขยายไปสู่ภาคประชาชนให้สามารถใช้เครื่องนี้ช่วยชีวิตผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นได้อย่างทันการณ์ ระหว่างรอทีมแพทย์กู้ชีพ 1669จะทำให้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินมีความสมบูรณ์แบบ ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการกระตุ้นหัวใจให้กลับมาทำงานภายใน 3-5นาที จะช่วยให้รอดชีวิต หรือป้องกันความพิการจากสมองขาดออกซิเจน เป็นเจ้าชายเจ้าหญิงนิทราได้ โดยที่ผ่านมาพบว่า ประชากรในต่างประเทศเช่นแถบยุโรปและอเมริกา ร้อยละ 40-50 มีความรู้และทักษะในการช่วยชีวิตผู้ที่หัวใจหยุดเต้น ส่วนประชาชนไทยยังไม่มีความรู้ด้านนี้ จึงต้องเร่งพัฒนาความรู้เรื่องนี้และทักษะในการช่วยฟื้นคืนชีพเบื้องต้นและการใช้เครื่องเออีดีให้แพร่หลาย

          ขณะนี้ ได้ติดตั้งเครื่องเออีดีและจัดการฝึกอบรมในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานและการใช้เครื่องเออีดี สำหรับประชาชน ตามมาตรฐานของคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมโรคหัวใจฯ ในสถานที่ต่างๆ แล้ว 8 ประเภท ได้แก่ 1.สนามบิน ที่เชียงใหม่ และสุวรรณภูมิ 2.แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ที่พระธาตุดอยสุเทพ และวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้ว 3.สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 4.สำนักงานราชการ คือโครงการจราจรในพระราชดำริฯ สำนักงานเทศบาลเมืองชุมพร และกระทรวงสาธารณสุข 5.โรงแรม 5 ดาวในกทม.และภูเก็ต 6.บนเครื่องบินสายการบินไทยระหว่างประเทศ 7. แท่นขุดเจาะน้ำมัน ปตท. ในอ่าวไทย จ.ชลบุรี และ8.โรงพยาบาล ที่รพ.รามาธิบดี รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช รพ.กรุงเทพ ซึ่งคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมโรคหัวใจฯ ได้อบรมเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว

          ในการขยายผลอบรมประชาชนทั่วไปทั่วประเทศ ขั้นต่อไปกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับสมาคมโรคหัวใจฯ จัดทำหลักสูตร อบรมบุคลากรการแพทย์ พยาบาล ในโรงพยาบาลศูนย์ในสังกัดที่มี 33 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นครูต้นแบบ ใช้เวลา 2-3 วัน รุ่นละ 40 คน ในเร็วๆ นี้ เพื่อให้ครูต้นแบบไปขยายผลอบรมประชาชนทุกจังหวัดให้ได้มากที่สุด เช่น อสม. ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่แหล่งท่องเที่ยว/ห้างสรรพสินค้า ครูพละ ครูฟิตเนส นักเรียนระดับมัธยมศึกษาขึ้นไป เป็นต้น ให้ได้ครึ่งหนึ่งของประชากรไทยที่มี 64 ล้านคน หรือได้มากเท่าไหร่ยิ่งเป็นผลดีกับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โอกาสรอดชีวิตของคนหัวใจวายจะสูงขึ้น เป็นการวางระบบการรับมือกับโรคเอ็นซีดี เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ซึ่งขณะนี้คนไทยป่วยแล้วรวมกว่า 10 ล้านคน และรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุของไทย ซึ่งจะทำให้การเกิดโรคเอ็นซีดีเพิ่มมากขึ้นด้วย เพิ่มความเชื่อมั่นระบบการแพทย์ฉุกเฉิน แก่คนไทยและชาวต่างชาติ เป็นการหนุนระบบเศรษฐกิจประเทศจากการท่องเที่ยวและการลงทุน โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ เช่น มูลนิธิหัวใจในพระบรมราชูปถัมภ์ สภากาชาดไทย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ฯ เป็นต้น

          ในการติดตั้งเครื่องเออีดี ควรตั้งในจุดที่สามารถมองเห็นได้ง่าย นำมาใช้ได้ภายใน 3-5 นาที และเข้าถึงได้ 24 ชั่วโมง สัญลักษณ์ของเครื่องที่สังเกตได้ง่ายคือ เป็นรูปหัวใจสีแดงและมีสายฟ้าพาดอยู่กลางหัวใจ และมีตัวหนังสือภาษาอังกฤษ AED อยู่เหนือรูปหัวใจ ในการช่วยฟื้นคืนชีพเมื่อพบผู้หมดสติ ก่อนใช้เครื่องเออีดี มีแนวปฏิบัติดังนี้ 1.ให้ตรวจสอบชีพจร หากพบว่าไม่มีชีพจร ให้โทรแจ้งทีมกู้ชีพ 1669 2.ดำเนินการปั๊มหัวใจ โดยการกดหน้าอกและช่วยหายใจอย่างถูกต้อง และ3.ให้ใช้เครื่อง เออีดี ช่วยกระตุ้นหัวใจ ซึ่งจะเป็นระบบอัตโนมัติมีขั้นตอนการใช้ง่ายและปลอดภัย เครื่องนี้จะสามารถตรวจสอบคลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำ ให้คำแนะนำเป็นเสียงผ่านลำโพง และมีสัญญาณไฟกระพริบ ตรงตำแหน่งสวิทช์ที่จะกดช็อก ทำให้การช่วยเหลือประสบผลสำเร็จมากขึ้น ระหว่างรอทีมแพทย์กู้ชีพฉุกเฉินรับไปดูแลต่อในโรงพยาบาล ซึ่งเครื่องนี้จะช่วยให้ผู้ที่หัวใจหยุดเต้นมีโอกาสรอดชีวิตถึงร้อยละ 50 -70 สูงกว่าการปั๊มหัวใจอย่างเดียวที่มีโอกาสรอดเพียงร้อยละ 3-5

          สามารถสั่งซื้อและติดตั้งได้ตามความต้องการ ขอรับคำปรึกษาได้ที่สมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ โทร 02 718 0060-4 สำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข โทร. 02 590 1771 และสายด่วน 1669 

 

 

        ที่มา : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

        ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code