ตำบลสุขภาวะต้นแบบ ด้วยพลังพลเมืองจิตอาสา
การพัฒนาคุณภาพของคนในระดับชุมชนท้องถิ่นที่เป็นฐานรากของประเทศ ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและความเข้มแข็ง ด้วยทุนทรัพยากรและศักยภาพที่มีอยู่แล้ว โดยการขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการพัฒนาคนไปสู่ความเป็น "พลเมือง" เป็นประชาชนที่มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นให้มีศักยภาพในการจัดการตนเองและเป็นพลังของสังคมและประเทศชาติ
ในเวทีผู้นำชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ครั้งที่ 4 กรณีสิทธิพลเมืองสู่การจัดการตนเอง ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จัดขึ้นได้นำตัวอย่างตำบลสุขภาวะของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ขึ้นมาแลกเปลี่ยน 2 แห่ง คือ ตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน และ ตำบลบ้านแฮด อำเภอบ้านแฮด จังหวัดลำพูน
เริ่มที่ นายขยัน วิพรหมชัย นายกเทศมนตรีตำบลอุโมงค์ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน และนายกสภามหาวิชชาลัยอุโมงค์สร้างพลเมือง หนึ่งในตำบลสุขภาวะที่ได้ชื่อว่าสามารถบริหารจัดการตนเองได้เป็นอย่างดี โดยเน้นพัฒนาศักยภาพคนให้เป็น 'อาสาสมัคร' จนมีการยอมรับในชุมชนเพื่อดูแลกันและกันอย่างถึงที่สุด
นายขยันเล่าว่า ปัจจุบันตำบลอุโมงค์มีกลุ่มอาสาสมัครจิตอาสา ชื่อกลุ่มว่า "อาสาปันสุข คนอุโมงค์ไม่ทอดทิ้งกัน" ซึ่งก่อตั้งได้ประมาณ 1 ปี โดยการรวมตัวกันของคนที่พอมีเวลาว่างจากงานหลักหรืองานประจำ เพื่อออกไปบริการสาธารณะให้กับคนในชุมชนสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เช่น ไปดูแลคนเจ็บ คนป่วยติดเตียง ติดบ้าน ไปช่วยจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้าน ซักผ้า อาบน้ำ ตัดผม ตัดเล็บให้ นอกจากนั้นยังแวะเวียนไปเยี่ยมคนป่วยในโรงพยาบาล โดยจะเน้นให้กำลังใจเพื่อให้คนเหล่านั้นเห็นว่ายังมีคนในชุมชนที่คอยห่วงใยและไม่ทอดทิ้งกัน
"กลุ่มอาสาปันสุขเริ่มจากสมาชิกเพียง 40-50 คน ตอนนี้เพิ่มเป็นกว่า 100 คน เพราะเมื่อคนในชุมชนได้เห็นคนอื่นทำความดี ช่วยเหลือคนอื่น ก็อยากมาร่วมด้วย จะเห็นได้ชัดว่าการมีจิตสาธารณะ แค่เริ่มต้นจากตัวเราเองและชวนคนอื่นมาร่วมกันทำ เมื่อคนในพื้นที่ดูแลตัวเองและแบ่งปันความสุขให้กับคนอื่นที่ลำบากกว่าได้ สังคมเอื้ออาทรมันก็จะเกิดขึ้น ผมจะบอกทุกคนเสมอว่า ตำบลอุโมงค์เป็นของทุกคน เราต้องช่วยกันดูแล เทศบาลเป็นส่วนช่วยกระตุ้นและคอยสนับสนุน หลายๆ เรื่องชุมชนสามารถบริหารจัดการตนเองได้เป็นอย่างดี" นายขยัน เล่า
ขณะที่ นายศิริพงษ์ อรุณเดชาชัย นายกเทศมนตรีตำบลบ้านแฮด บอกว่า คนในชุมชนล้วนมีประสบการณ์ที่ดีมากมาย เพียงแต่อาจจะขาดองค์ความรู้ด้านวิชาการเท่านั้น ดังนั้นการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนจึงเป็นเรื่องสำคัญ
"ผมออกแบบโมเดลเอาไว้ 2 ส่วน คือ พัฒนาองค์ความรู้และพัฒนาสิ่งแวดล้อม แล้วใช้ฐานคิดที่ว่าทำอย่างไรจะให้เกิดชุมชนดี สุขภาวะและสิ่งแวดล้อมดี ในส่วนของคนเริ่มจากการพัฒนาคนให้มีองค์ความรู้ที่ดี หลักวิชาการที่ถูกต้อง เพื่อไปสู่การปฏิบัติที่ง่ายและเข้าใจ จนเกิดเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ อีกส่วนหนึ่งคือ เรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้การบริหารจัดการขยะเป็นตัวนำ ผลที่ได้ไม่ใช่แค่เรื่องทำให้ขยะลดลงเท่านั้น แต่จะส่งผลต่อการปกครองในหมู่บ้าน เรื่องสังคม เศรษฐกิจ เรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามา โดยเฉพาะเรื่องของสุขภาวะองค์รวมของประชาชน" นายกเทศ มนตรีบ้านแฮดบอกเล่าถึงการพัฒนาชุมชน
นายกเทศมนตรีบ้านแฮดบอกอีกว่า เมื่อคนในชุมชนเกิดความเข้าใจและเห็นประโยชน์ จะเกิดการจัดการตนเองได้อย่างแท้จริง และในอนาคตไม่ว่าใครจะเข้ามาทำงานในส่วนของท้องถิ่นก็สามารถบริหารงานได้อย่างราบรื่น เพราะถือว่าเข้ามาอยู่ในระบบ และทุกอย่างจะดำเนินการไปเอง
นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. กล่าวถึงการทำงานของ สสส.ว่า สสส.สนับสนุนชุมชนให้ทำกิจกรรมหลัก คือ สนับสนุนให้ชุมชนทำชุดข้อมูล ทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ โดยในกระบวนการทำข้อมูลนี้จะพัฒนาคนไปพร้อมๆ กันด้วย
นางสาวดวงพรเล่าต่อว่า เราเข้าไปพัฒนานักวิจัยชุมชนหรือที่เรียกว่า "นักวิชาการชุมชนท้องถิ่น" รวมถึงพัฒนานักจัดการข้อมูล นักสื่อสาร พัฒนานายกฯ ผู้บริหาร นักจัดกระบวนการ อันนี้อยู่ในกระบวนการเดียวกัน โดยแต่ละตำบลจะมีคนเหล่านี้อยู่ประมาณ 10-15 คน แต่แกนนำที่ผ่านระบบพัฒนาของเราประมาณ 150-250 คนแล้วแต่ขนาดของตำบล ถือว่าเราไปสร้างคน สร้างความพร้อมให้ชุมชนกลับไปจัดการเรื่องสุขภาวะในชุมชนของตัวเอง
เมื่อพัฒนาคนแล้วก็ต้องทำเรื่องเครือข่าย เพราะการไปศึกษาเรียนรู้และดูงานจากที่อื่นๆ หรือจากเครือข่ายที่ทำงานในเรื่องเดียวกันจะช่วยให้หาทางออกในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้มากขึ้น โดยอาศัยชุดข้อมูลข้างต้นมาผ่านการเรียนรู้และรณรงค์
"ถ้าเราทำแค่สำรวจปัญหา เขาก็จะเอาแต่พึ่งคนอื่น แต่ถ้าเราเข้าไปสนับสนุนศักยภาพ เขาจะสามารถจัดการได้ว่าใครต้องรับผิดชอบปัญหาไหน เช่น กลุ่มแม่บ้านรับผิดชอบเรื่องท้องไม่พร้อม เรื่องอ้วนต้องเป็นกลุ่มผลิตอาหารและร้านค้าต้องรับผิดชอบ เรื่องคนยากจน สวัสดิการรับผิดชอบ เขาจะแจกงานได้ ส่วนเราเป็นเพียงผู้หนุนให้ภาคประชาชนจัดการตนเอง เลยเรียกว่าชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง เป้าหมายสุดท้ายของเราคือต้องการให้มีชุมชนสุขภาวะ (Healthy Community) หรือชุมชนท้องถิ่นที่มีสุขภาพที่ดีในทุกมิติ"
งานของชุมชนจะเน้นการพัฒนาให้ระบบมีความเข้มแข็งในการช่วยเกื้อหนุนให้คนในพื้นที่มีสุขภาวะที่ดี เราไปสร้างคนไว้ให้ แต่จะเน้นให้คนในท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองให้มากที่สุด.
"การมีจิตสาธารณะ แค่เริ่มต้นจากตัวเราเองและชวนคนอื่นมาร่วมกันทำ เมื่อคนในพื้นที่ดูแลตัวเองและแบ่งปันความสุขให้กับคนอื่นที่ลำบากกว่าได้ สังคมเอื้ออาทรมันก็จะเกิดขึ้น…"
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์