“ตำบลวอแก้ว จ.ลำปาง” จากชุมชนเปื้อนพิษสู่ตำบลอินทรีย์
ที่มา : แฟนเพจเฟซบุ๊กสุขภาวะชุมชน
ภาพประกอบจากแฟนเพจเฟซบุ๊กสุขภาวะชุมชน
ปัญหาการใช้สารเคมีในการเกษตร คือหนึ่งในความเคยชินที่อยู่คู่กับเกษตรกรไทยมาอย่างช้านาน ผลกระทบของสารเคมีดังกล่าว ไม่ได้ตกอยู่แค่กับผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังตกอยู่กับตัวผู้ปลูกเองด้วย
ชุมชนเกษตรอย่าง ต.วอแก้ว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง มีเกษตรกรมากถึง 900 ครัวเรือน (ราว 2,500 คน) ยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก และหลังเก็บเกี่ยวจะปลูกพืชเชิงเดี่ยวในปริมาณมากเพื่อจำหน่าย ทำให้มีการใช้สารเคมีในปริมาณมากตามมา นั่นทำให้ 70% ของเกษตรกรในชุมชนวอแก้วมีสารเคมีตกค้างในร่างกาย ทั้งยังมีอัตราของผู้ป่วยโรคมะเร็งในเกษตรกร ที่สัมผัสกับสารเคมีโดยตรงเพิ่มขึ้นเป็นปีละกว่า 10 คน
ทาง อบต.วอแก้ว จึงเริ่มทำการปฏิวัติระบบทั้งหมด โดยการค้นหาผู้ป่วย แล้วนำมาบำบัดด้วยสมุนไพรรางจืด ควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้ปรับเปลี่ยนจากเกษตรเคมีเชิงเดี่ยว เป็น ‘เกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน’ ใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ เลี้ยงไส้เดือนดิน โดยเริ่มจากการปลูกข้าวอินทรีย์ และปลูกผักปลอดสารตามฤดูกาลใช้บริโภคในครัวเรือน
แม้จะเริ่มต้นด้วยความยากลำบาก เพราะต้องหันมาใช้แรงงานคนเป็นหลัก ตั้งแต่การถอนหญ้า ดูแลแปลง คอยกำจัดแมลงที่มารบกวน หากเมื่อขับเคลื่อนได้ระยะหนึ่งก็พบว่า ผลผลิตจาก ‘เกษตรอินทรีย์’ เป็นที่ต้องการของตลาด ราคาดีกว่าเกษตรเคมี อาทิ ข้าวจากแปลงนาเคมี ตันละ 8,000-9,000 บาท แต่ข้าวจากนาอินทรีย์ ขายได้ตันละ 17,000-18,000 บาท แถมยังได้ลดต้นทุนการผลิตอีกด้วย
ผลที่ได้คือ ชาวบ้านเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพ นำพื้นที่มาผลิตอาหารปลอดภัยมากขึ้น ผลการตรวจหาสารเคมีในเลือดก็ดีขึ้น ผู้ที่เคยเป็นกลุ่มเสี่ยงก็กลับมาอยู่ในขั้นปลอดภัย ขณะที่ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อาทิ ความดัน เบาหวาน ไขมัน ก็ลดอัตราผู้ป่วยใหม่ลงอย่างเห็นได้ชัด
ปัจจุบัน ต.วอแก้ว เกิดแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์เพื่ออาหารสุขภาวะถึง 10 แห่ง กระจายอยู่ในทุกหมู่บ้าน ทั้งยังมีการสร้างหลักสูตรการเรียนรู้ “โครงการสานพลังเครือข่ายร่วมสร้างระบบอาหารชุมชนเพื่อสุขภาวะ” ที่ผ่านการรับรองจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสร้างเกษตรกรอินทรีย์รุ่นใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในชุมชนอย่างยั่งยืนอีกด้วย