ตามไปดู “ศูนย์อเนกประสงค์ผู้สูงอายุหนองตองพัฒนา”
เตรียมความพร้อมสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างเข้มแข็ง
จากการสำรวจข้อมูลประชากรในปี 2548 พบว่า มีประชากรผู้สูงอายุ ราว 7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10.4 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยคาดว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 11.7 ในปี 2553 และร้อยละ 13.4 ในปี 2558 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากมีจำนวนประชากรที่มีอายุสูงกว่า 65 ปี มากกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ ถือได้ว่าเป็น “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างแท้จริง
การเปลี่ยนแปลงสู่สังคมผู้สูงอายุ ได้ส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆ ของประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบสวัสดิการผู้สูงอายุที่ต้องมีการเตรียมการต่างๆ ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุในอนาคต โดยในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 ก็ได้เน้นในกระบวนการเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นในทุกๆ ด้าน
“โครงการศึกษามาตรฐานขั้นต่ำสำหรับที่พักอาศัย และสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุ” โดยการสนับสนุนของ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย, คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเกิดขึ้นเพื่อศึกษาถึงแนวทางพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมและปลอดภัยต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับผู้สูงอายุ
รศ.ดร.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงที่มาของงานวิจัยซึ่งนำมาสู่แนวคิดและการดำเนินงานเพื่อจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุในหลายๆ พื้นที่ๆ ในปัจจุบันไว้ในหนังสือ “สู่สังคมไม่ทอดทิ้งกัน บนเส้นทางการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ” ว่าการเตรียมความพร้อมเพื่อสังคมผู้สูงอายุนั้นมีหลายด้าน แต่ด้านที่สำคัญมากก็คือเรื่องของสุขภาพ ทำอย่างไรที่จะดูแลสุขภาพให้แข็งแรงมีอายุยืนได้ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรจึงเป็นโจทย์หลักของการดูแลผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
“คำว่าสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรหมายถึงสภาพแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้ เมื่อรวมกับคำว่าผู้สูงอายุ จึงหมายถึงสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวันและไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับผู้สูงอายุ เพราะตัวแปรของโจทย์นี้ก็คือการเกิดอุบัติเหตุ เพราะถ้าสิ่งแวดล้อมปลอดภัย ก็จะลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ และทำให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายได้อย่างมีความสุข” อ.ไตรรัตน์ระบุ
เทศบาลตำบลหนองตองพัฒนา อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้ตระถึงและให้ความสำคัญกับประชากรผู้สูงอายุ ภายหลังจากการสำรวจจำนวนประชากรทั้งหมด 9,021 คนในปี 2551 พบว่ามีผู้สูงอายุถึง 1,488 คนคิดเป็นร้อยละ 16.49 จึงเริ่มหันมาศึกษาในเรื่องการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เพราะในอนาคตจำนวนประชากรผู้สูงอายุในพื้นที่จะมีมากขึ้นเป็นลำดับ
นายมานพ ตันสุภาย รองนายกเทศมนตรีฯ กล่าวว่า เมื่อเห็นตัวเลขดังกล่าวทำให้เราเริ่มตระหนักและเห็นความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ นอกจากแค่การมอบเบี้ยยังชีพ แจกผ้าห่ม หรือช่วยเหลือเมื่อทุกข์ยาก เราจำเป็นจะต้องมีสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสมาพบปะ แลกเปลี่ยน ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ผู้สูงอายุไม่เครียด หรือได้มาถ่ายทอดความรู้ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของตนเองให้กับลูกหลาน จึงเกิดแนวคิดที่พัฒนาอาคารเรียนเก่าที่ถูกปล่อยทิ้งร้างให้เป็น “ศูนย์อเนกประสงค์ผู้สูงอายุเทศบาลตำบลหนองตองพัฒนา” ที่ได้มีการพัฒนาปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมและมีความปลอดภัยในการใช้งานของผู้สูงอายุ
เพราะที่ผ่านการก่อสร้างต่างๆ ไม่ได้คำนึงถึงการจัดสภาพสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต นอนอยู่ที่บ้าน ส่วนใหญ่เกิดมาจากสภาพสิ่งแวดล้อมภายในบ้านที่ไม่เหมาะสมไม่ว่าจะเป็นจากบันได ทางเดิน ห้องน้ำ ที่เกิดจากความลื่น แสงสว่างไม่เพียงพอ และไม่มีราวจับ จุดนี้ทำให้ทางเทศบาลฯ ตระหนักว่า นอกจากจะสร้างศูนย์ฯ แห่งนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นสถานที่ออกกำลังกายทำกิจกรรมต่างๆ แล้วเรายังมุ่งเน้นในเรื่องของการจัดการสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัยกับผู้สูงอายุ
“เมื่อผู้สูงอายุได้มีสถานที่ๆ ได้มาทำกิจกรรมร่วมกันก็จะทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิต และสุขภาพกายที่ดี ทั้งในด้านอารมณ์ สังคม สติปัญญา และที่สำคัญก็คือจิตวิญญาณของผู้สูงอายุจะดีขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ผู้สูงอายุเหล่านั้นไม่ไปเป็นภาระของครอบครัว ไม่เป็นภาระให้สังคม ไม่เป็นภาระให้กับท้องถิ่น แต่ถ้าเราไม่สนับสนุนและไม่ตระหนักกันแบบนี้ ผู้สูงอายุจะกลับมาเป็นภาระให้กับลูกหลานและสังคม แต่ในขณะเดียวกันถ้าผู้สูงอายุมีสุขภาพดี เขาจะกลับมาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าต่อสังคมและสังคมนั้นจะเป็นสังคมที่เข้มแข็ง และครอบครัวก็จะมีความสุขกันถ้วนหน้า” นายมานพ ระบุ
และในปี 2553 แนวคิดนี้ยังถูกขยายผลลงไปในระดับครัวเรือน โดยทางเทศบาลฯ มีนโยบายที่จะเข้าไปปรับปรุงสภาพของบ้านเรือนสิ่งแวดล้อมภายในบ้านของผู้สูงวัยในหมู่บ้านต่างๆ ให้มีความปลอดภัยต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้สูงอายุในชุมชน
แพทย์หญิงลัดดา ดำริการเลิศ ผู้จัดการแผนงานวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ สสส. เปิดเผยว่าปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุอยู่ร้อยละ 11 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่คนปกติทั่วไปใช้ชีวิตอยู่อาจจะไม่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงต้องมีการจัดการสภาพแวดล้อมใหม่ที่เหมาะสมโดยเฉพาะสถานที่ๆ คนวัยเกษียณแล้วจะไปรวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ
“หากสิ่งแวดล้อมไม่เอื้อสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้พิการ ให้เข้าถึงและใช้บริการได้ ก็ส่งผลให้ผู้สูงอายุเหล่าจะต้องอยู่แต่ในบ้าน จะไปไหนก็ไม่ได้ ไม่สะดวก ลูกหลานก็ไม่ให้ไป ไปวัดก็บอกว่าอย่าไปเลยเดี๋ยวหกล้ม ราวจับอะไรก็ไม่มี ห้องน้ำก็นั่งแล้วลุกขึ้นมาหน้ามืด ฉะนั้นเมื่อผู้สูงอายุต้องจับเจ่าอยู่แต่ในบ้าน สิ่งที่ตามมาก็คือขาดการปฏิสัมพันธ์กับสังคม ขาดการใช้สมอง ขาดการทำกิจกรรมที่ต้องใช้การเคลื่อนไหว ผลลัพธ์ก็คือสุขภาพที่เสื่อมโทรมลงทั้งกายและใจ
ซึ่งการทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดการใช้ความคิด ใช้สมอง ได้รับประทานอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกายที่เหมาะสม ก็จะช่วยชะลอสภาวะสุขภาพที่เสื่อมโทรมลงได้ จึงต้องคำนึงถึงสถานที่ด้วย เพราะผู้สูงอายุเวลาหกล้มหรือบาดเจ็บจะทำให้เกิดสุขภาพทรุดโทรม เกิดภาวะทุพลภาพ และเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการป้องกันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ทาง สสส. จึงได้ให้การสนับสนุนในเรื่องแปรวมทั้งในเรื่องของความรู้ การจัดสถานที่ และการรณรงค์สร้างความตระหนักในเรื่องของสังคมผู้สูงอาย เพื่อสังคมตื่นตัวกับเรื่องของสังคมสูงอายุมากขึ้น” แพทย์หญิงลัดดา กล่าวสรุป
ที่มา: สำนักข่าวสสส.
update: 12-10-09
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร