ตามติด Child watch กลไกแก้ปัญหาเด็ก

 

child watch กลไกจับตาปัญหาเด็ก

เรื่องราวของเด็กและเยาวชนนั้นมีมากมาย แต่กระนั้นก็ตาม หลายหน่วยงานที่ทำงานภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็พยายามที่จะดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ในภาพรวม โดยเฉพาะกรณีของสถาบันรามจิตติ

อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ“อมรวิชช์ นาครทรรพ” ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ กล่าวว่า งานขับเคลื่อนของ child watch กลไกขับเคลื่อนเรื่องเด็กและเยาวชนในระดับท้องถิ่น ตอนนี้กำลังดำเนินการอย่างมีความคืบหน้า กำลังทำแผนภาพรวมให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพราะขณะนี้มีหน่วยงานที่ทำงานเรื่องเด็กเป็นจำนวนมาก

“โดยเรากำลังเอาผลวิจัยของทุกหน่วยงาน ซึ่งจะลดความซ้ำซ้อนและมาเสริมแรงหนุนในเรื่องต่างๆ ให้ประหยัดคุ้มค่าที่สุด คาดว่าอีก 5 เดือนจะทำแผนมหภาคให้ สสส.ได้สำเร็จ ส่วนปัญหาที่พบคือ เรื่องตัวเลขของสถานการณ์วัยรุ่นที่ซ้ำกันและยังไม่แชร์ข้อมูลกัน” อาจารย์อมรวิชช์ กล่าว

ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ กล่าวว่า โครงการของเราได้เก็บข้อมูลรายจังหวัดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ ทำให้เกิดการขับเคลื่อนงานในจังหวัดขึ้นเป็นรูปธรรม มีงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเรียบร้อยตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว มีการเสนอแนวทาง 4 คุณภาพเพื่อเด็กไทย ได้แก่ ครอบครัวคุณภาพ สื่อคุณภาพ การศึกษาคุณภาพ และพื้นที่คุณภาพ ให้กับรัฐบาลในสมัยนั้นรับไปปฏิบัติ

“การทำงานลักษณะนี้ทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนมาก ยกตัวอย่างเช่น หากสังคมเกิดเรื่องแคลงใจเกี่ยวกับนโยบายรัฐที่มีผลเกี่ยวกับเด็กก็จะใช้ข้อมูล child watch นำไปแก้ไข เช่น การจัดเรตติ้งโทรทัศน์ อิทธิพลกับสื่อที่มีต่อเด็ก อย่างเช่น ผลกระทบหวยออนไลน์ หวยบนดิน รัฐบาลใช้ข้อมูลเราไปชะลอหลายๆ เรื่องที่ยังคิดไม่รอบคอบ เพราะจะมีลูกค้าเด็ก 8 แสนถึง 1 ล้านคนได้รับผลกระทบ”

ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติกล่าวว่า ยังมีโครงการทำร่วมกับเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประมาณ 100 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัดทั่วประเทศ โดยใช้แนวคิดคนตัวเล็กทำงาน เพราะคนตัวโตทำงานต้องรอนโยบายของรัฐบาล กระทรวงต่างๆ อย่างเดียว จึงทำงานไม่ทันการณ์ หลังจากที่สถาบันเข้าไปสิ่งที่ได้รับ คือ เครื่องมือการทำงานของเด็กถูกพัฒนาให้ง่ายขึ้น

โดยจัดทำเนื้อหาแนวคิดการพัฒนาเด็กเข้าไปในหนังสือ เพียงเขาเปิดดูก็สามารถนำไปใช้ได้ โดยตั้งเป้าไว้ 3 ปี จะขยายเครือข่ายให้เป็นพันแห่ง และสามารถแก้ปัญหาของเด็กด้านอื่นๆ เช่น เด็กไม่มาโรงเรียน ไม่เรียนต่อ ปัญหาแม่วัยรุ่น

นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ เพราะพื้นที่ไม่ปกติ ครูไปสอนไม่ครบวัน นักเรียนมาเรียนไม่ครบวัน การเข้าไปสร้างเครือข่ายครูนักพัฒนาจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะได้ให้กำลังใจและใช้เทคนิควิธีการสอนผ่านพี่เลี้ยง ผ่านไปช่วยครู

โครงการพัฒนาการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

“อมรวิชช์” บอกว่า สำหรับโครงการเหล่านี้ ไม่มากก็น้อยช่วยบรรเทาความรุนแรงในพื้นที่ให้เย็นลงบ้าง ครูในพื้นที่มีเพื่อน มีพี่เลี้ยง มีคนไปให้กำลังใจ และพัฒนาการเรียนการสอนเด็กมีกิจกรรมใหม่พัฒนาการเรียนรู้ ตัวโรงเรียนและคนในท้องถิ่นก็ยินดี เพราะมีคนไปดูแลลูกหลานของเขา

ทางโครงการยังสร้างนวัตกรรมการสอนให้แก่ครู ที่น่าสนใจคือการเน้นเรื่องทักษะชีวิต ซึ่งหาไม่ได้จากในห้องเรียนที่จะนำไปสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่เป็นวิชาที่นำให้อยู่รอดปลอดภัยในสังคมได้ เป็นวิชารู้เท่าทันสื่อ รู้ทันการบริโภค เรื่องเพศ เรื่องอบายมุข เราเริ่มไป 3-4 จุดทั่วประเทศ

ยอมรับว่าสถานการณ์เช่นนี้เด็กต้องการ เพราะสามารถตอบโจทย์ได้ว่าเก่งวิชาการเข้ามหาวิทยาลัยได้ แต่ก็ไม่สามารถรู้เท่าทันการดำเนินชีวิตได้ ผมเชื่อว่าหากขยายผลไปเรื่อยๆ เกิดตัวอย่างการสอนทักษะการใช้ชีวิตเผยแพร่ไปในวงกว้างได้”

“อมรวิชช์” บอกว่า งานขับเคลื่อนของ child watch เป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2545 ในรูปโครงการนำร่องในพื้นที่ 12 จังหวัด โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เนื่องจากปัญหาเด็กเยาวชนที่เริ่มรุนแรงขึ้นในช่วงนั้น ทำให้ สกว.เห็นถึงความจำเป็นในการมีงานวิจัยติดตามเฝ้าระวัง สภาวการณ์เด็กเยาวชนเพื่อใช้ข้อมูลในการส่งสัญญาณเตือนแก่สังคมและขับ เคลื่อนนโยบายที่จำเป็นในการป้องกันและแก้ไข

ปัญหาที่เกิดขึ้นจากงานนำร่องในปี 2545 ที่ให้ข้อสรุปงานวิจัยเกี่ยวกับตัวชี้วัดที่ดีที่ครอบคลุมสภาวการณ์ ทั้งด้านสุขภาพ อนามัย การศึกษา และพฤติกรรมทางสังคม จึงได้กลายมาเป็นโครงการวิจัยติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัดเต็มรูปในปี 2547 ที่ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 76 จังหวัด

โดยการทำงานของทีมวิจัยจังหวัดและศูนย์ประสานงานภาค 6 ศูนย์รวมกว่า 300 คน โดยมีการเก็บข้อมูลทั้งตัวชี้วัด การใช้แบบสำรวจ และการทำกรณีศึกษาเฉพาะจังหวัด ภายใต้การสนับสนุนร่วมกันของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

สถาบันรามจิตติ

สถาบันรามจิตติ ในกำกับมูลนิธิภูมิปัญญา ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยและขับเคลื่อนงานด้านเด็ก เยาวชนและการศึกษา เป็นผู้รับผิดชอบเป็นทีม ประสานงานระดับประเทศตลอดที่ผ่านมา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้เป็นภาคีสำคัญที่สุดในการเข้ามาร่วมกลั่นกรองและใช้ประโยชน์ข้อมูลของ child watch

“อมรวิชช์” บอกว่า นอกจากนี้ยังได้ขับเคลื่อนงานผลิตสื่อสารคดีเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการเรียนรู้ เป็นต้น ในปี 2552 สถาบันได้เข้ามาอยู่ในกำกับของมูลนิธิภูมิปัญญาที่มีปรัชญาภารกิจสอดคล้องกันในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเรียนรู้ของสังคม

โรงเรียนทำหนัง

ยังได้ดำเนินการโรงเรียนทำหนัง เป็นกิจกรรมการเรียนรู้บนฐานกระบวนการวิจัยควบคู่ไปกับกระบวนการผลิตหนังสารคดี โดยเน้นประเด็นในมุมมองประวัติศาสตร์ ท้องถิ่นและวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่น่าสนใจ ภายใต้ปรัชญาการเรียนรู้รูปแบบใหม่ “เรียนรู้คู่คมเลนส์” อีกด้วย

โครงการวัยใสวัยรัก

วัยใส-วัยรัก ตัวอย่างบางปัญหา ช่วงวาเลนไทน์ที่ผ่านมา ปัญหาความรักของเด็กวัยใส เป็นเรื่องที่ทุกส่วนของสังคมวิตกกังวลกันไปหมด อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงกรณีตัวอย่างที่ สสส.เข้าไปสนับสนุนให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นแก้ปัญหา เช่น กรณีของโรงเรียนชำฆ้อพิทยาคม อ.เขาชะเมา จ.จันทบุรี ที่พบว่าตั้งแต่ปี 2550-2553 มีนักเรียนต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน เฉลี่ยปีละประมาณ 1-2 คน จากปัญหาการตั้งครรภ์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เยาวชนยังขาดความรู้ในการป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ถึงแม้มีตัวเลขเฉลี่ยไม่ถึงร้อยละ 1 แต่หากนิ่งเฉยปัญหาอาจเพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคต

“โครงการวัยใสวัยรัก” จึงเกิดขึ้นมาเพื่อปลูกฝังให้เยาวชนได้มีความรู้และความเข้าใจในการบริโภคสื่อที่เหมาะสมกับวัย ไม่ยั่วยุต่อการมีเพศสัมพันธ์ มีทักษะการปฏิเสธเพศตรงข้าม ลดอัตราความเสี่ยงในการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร รู้วิธีหลีกเลี่ยงและป้องกันตนเองไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์และโรคติดต่อทางเพศ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นางสาวฮุสนา เงินเจริญ หัวหน้าโครงการวัยใสวัยรักนางสาวฮุสนา เงินเจริญ หัวหน้าโครงการวัยใสวัยรัก เปิดเผยว่า จากการศึกษาพบว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มีปัญหาในเรื่องของเด็กนักเรียนที่ต้องออกจากระบบการศึกษามีแนวโน้มมากขึ้น จากปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม ทำให้ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งพบว่าสาเหตุสำคัญเกิดขึ้นจากเด็กนักเรียนขาดภูมิคุ้มกันและไม่ได้รับความรู้ที่เกี่ยวกับเพศศึกษาที่แท้จริงอย่างลึกซึ้ง

โครงการวัยใสวัยรัก ได้มีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ มากมาย เริ่มจากการอบรมนักเรียนแกนนำในเรื่องของความรู้ด้านเพศศึกษา โรคติดต่อ ยาเสพติด ทักษะในการปฏิเสธเพศตรงข้าม มีกิจกรรมดาวกระจาย นำความรู้ที่ได้รับไปบอกต่อให้กับเพื่อนน้องพี่ในโรงเรียน รวมไปถึงเพื่อนๆ พี่น้อง พ่อ แม่ คนอื่นๆ ในชุมชน มีการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษา ยาเสพติด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หน้าเสาธงอย่างสม่ำเสมอ

มีการสำรวจพื้นที่เสี่ยงในชุมชนที่มักจะถูกใช้ในการทำสิ่งที่ไม่ดีเพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่เหล่านี้ มีการอภิปรายให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาในโลกยุคไร้พรมแดน แลกเปลี่ยนทัศนะกันระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้ปกครอง ครู และเด็กนักเรียน เพื่อให้เยาวชนทุกคนรู้เท่าทันการใช้ชีวิตในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ในยุคปัจจุบัน

โดยหนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากนักเรียนเกือบทุกระดับชั้นในโรงเรียนชำฆ้อพิทยาคม นั่นก็คือ ละครเวทีเรื่อง “เสี้ยววินาที” ที่นำเสนอแง่มุมของชีวิตในวัยรุ่นที่แม้จะผิดพลาดพลั้งเผลอไปเพียงแค่ครั้งเดียวในเรื่องของยาเสพติดและการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่การหมดโอกาสที่ดีในชีวิต เพราะเรียนไม่จบ ซ้ำยังติดโรคร้ายและเสียชีวิตในที่สุด

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code